แอมเนสตี้ฯ ออกแรงดัน"สนธิสัญญาค้าอาวุธ" ต่อต้านการใช้ทหารเด็ก

ต่างประเทศ
12 ก.พ. 56
12:05
316
Logo Thai PBS
แอมเนสตี้ฯ ออกแรงดัน"สนธิสัญญาค้าอาวุธ" ต่อต้านการใช้ทหารเด็ก

150 ชาติเห็นชอบลงนามห้ามเด็กต่ำกว่า 18 ปีใช้อาวุธ แม้ทุกวันนี้มีการซื้อขายอาวุธระดับโลก เหมือนส่งเสริมการใช้ทหารเด็ก

 การยุติการใช้ทหารเด็กในสงครามความขัดแย้ง เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญหลายประการที่รัฐต่าง ๆ จะต้องรับรองสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธ (Arms Trade Treaty - ATT) ที่มีเนื้อหาเข้มงวด แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในโอกาสวันยุติการใช้ทหารเด็ก (International Day against the Use of Child Soldiers) ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์

                
ที่ประเทศมาลีและอีกเกือบ 20 ประเทศ ระบบการควบคุมการเคลื่อนย้ายอาวุธระหว่างประเทศที่อ่อนแอ ส่งผลให้ในประเทศเหล่านี้ยังมีการเกณฑ์และการใช้เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงอายุน้อยกว่า 18 ปีเพื่อเป็นทหารทำการรบในสงคราม ทั้งในฝ่ายติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล และบางกรณีก็รวมถึงทหารของฝ่ายรัฐบาลเองด้วย
                
ระหว่างที่จะมีการเจรจารอบสุดท้ายเกี่ยวกับสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธที่องค์การสหประชาชาติในเดือนหน้า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงเรียกร้องให้ทุกรัฐให้ความเห็นชอบต่อร่างสนธิสัญญาที่มีเนื้อหาเข้มงวด เพื่อให้เกิดระเบียบที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ
                
“จากการทำวิจัยภาคสนามในประเทศมาลีเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบอีกครั้งถึงความสยดสยองจากการใช้ทหารเด็ก เด็กเหล่านี้ได้ถูกเกณฑ์ให้เข้าร่วมรบในสงครามในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ทำหน้าที่สนับสนุนทั้งฝ่ายทหารของรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธ บางครั้งก็ทำงานอยู่ในแนวหน้า” ไบรอัน วูด (Brian Wood) ผู้จัดการแผนกควบคุมอาวุธของแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว 
                
“สนธิสัญญาซื้อขายอาวุธต้องกำหนดให้รัฐบาลป้องกันการเคลื่อนย้ายอาวุธที่อาจมีการนำไปใช้ก่อความรุนแรงต่อเด็ก รวมทั้งให้มีหลักการเพื่อป้องกันไม่ให้อาวุธเหล่านี้เคลื่อนย้ายไปสู่การครอบครองทั้งกองกำลังของรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธ ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบต่ออาชญากรรมสงครามหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง แต่ร่างฉบับปัจจุบันของสนธิสัญญาฉบับนี้ยังไม่เข้มงวดมากพอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง”
                
รัฐส่วนใหญ่ในโลกต่อต้านการเกณฑ์และการใช้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ของทั้งกองทัพของรัฐบาลหรือกลุ่มติดอาวุธ เนื่องจากการที่ต้องเข้าไปสู้รบทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสใช้ชีวิตแบบวัยเด็ก ทำให้อาจได้รับอันตรายร้ายแรง และได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและใจ
                
นอกจากโศกนาฏกรรมของการที่เด็กเหล่านี้ต้องกลายเป็นผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเองแล้ว ทหารเด็กหลายคนยังถูกสังหาร ถูกทำร้ายจนพิการ หรือตกเป็นเหยื่อการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศอื่น ๆ
 
สถานการณ์การใช้ทหารเด็กในปัจจุบัน  นับแต่เดือนมกราคม 2554 มีรายงานข่าวว่ามีการใช้ทหารเด็กในอย่างน้อย 19 ประเทศ ทั้งนี้ตามรายงานของพันธมิตรองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อยุติการใช้ทหารเด็ก หรือ Child Soldiers International ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเป็นสมาชิกด้วย
               
ในบรรดาประเทศเหล่านี้ได้แก่ มาลี ซึ่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาตัวแทนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้สัมภาษณ์ประจักษ์พยาน รวมทั้งตัวเด็ก ๆ ที่ถูกเกณฑ์เป็นทหารให้กับกลุ่มติดอาวุธมุสลิม ที่อยู่ระหว่างการสู้รบกับกองกำลังรัฐบาลมาลีและรัฐบาลฝรั่งเศสทางตอนเหนือของประเทศ 
                
ที่เมืองเดียบาลี (Diabaly) ประมาณ 400 กม.ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบามาโก (Bamako) เมืองหลวงของมาลี มีผู้ให้ข้อมูลหลายคนรวมทั้งตัวรองนายกเทศมนตรีที่ระบุว่า พวกเขาเห็นเด็กอายุระหว่าง 10-17 ปีร่วมสู้รบให้กับกลุ่มติดอาวุธมุสลิม  
                
“เด็กเหล่านี้ต้องแบกปืนยาว มีอยู่คนหนึ่งตัวเล็กมาก และต้องแบกปืนลากไปกับพื้นในบางครั้ง” ประจักษ์พยานคนหนึ่งกล่าว 
                
ด้านใต้ลงมาที่เมืองซีกัว (Ségou) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้พบกับทหารเด็กสองคนที่ถูกจับตัวมา หนึ่งในสองคนแสดงอาการทางจิต
                
เพื่อนของเขาซึ่งมีอายุ 16 ปีบอกว่า พวกเขาถูกจับและส่งตัวให้กับทางการมาลี หลังจากทหารกองทัพฝรั่งเศสและมาลีเข้ายึดครองกรุงเดียบาลีได้อีกครั้งเมื่อปลายเดือนมกราคม
               
 เขาเล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟังเกี่ยวกับการเกณฑ์บังคับและการฝึกให้เป็นทหารสำหรับกลุ่มติดอาวุธมุสลิม
                
“ผมเคยเรียนหนังสือกับนักเรียนคนอื่นอีก 23 คน เรามีครูสอนคัมภีร์อัลกุรอ่าน เมื่อสองเดือนที่แล้ว หลานชายของคุณครูขายพวกเราให้กับกลุ่มติดอาวุธมุสลิม พวกเราพร้อมกับเด็กอายุน้อยคนอื่นอีก 14 คนต้องแบกอาวุธปืน ในตอนแรก พวกเขาขอให้ผมช่วยงานในครัว เราต้องทำกับข้าวในโบสถ์ของชาวคริสต์ที่ถูกกลุ่มมุสลิมยึดครอง ทหารฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทุบตีเรา (โดยใช้เข็มขัดยาง) ในระหว่างการเรียนคัมภีร์อัลกุรอ่าน เพราะว่า......พวกเขาต้องการให้เราอ่านออกเสียงภาษาอาหรับเหมือนพวกเขา
               
 “พวกเขาฝึกให้เรายิง โดยเล็งเป้าที่หัวใจหรือเท้า ก่อนการสู้รบจริง เราต้องกินข้าวผสมกับแป้งสีขาว และมีน้ำซอสที่มีแป้งสีแดง พวกเขายังฉีดยาเราด้วย ผมโดนฉีดสามเข็ม หลังจากฉีดยาและกินข้าวที่ผสมด้วยแป้งเหล่านี้ ผมรู้สึกตัวเองมีพละกำลังมาก ผมพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อรับใช้เจ้านายของผม ผมรู้สึกว่าศัตรูเป็นเหมือนกับสุนัข ในหัวผมมีแต่ความคิดที่จะยิงพวกเขาให้ตาย”
                
เด็กชายคนนี้เล่าให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลฟังว่า ทหารเด็กสี่คนถูกสังหารในระหว่างการสู้รบเพื่อยึดครองกรุงเดียบาลีจากการครอบครองของกลุ่มติดอาวุธมุสลิม โดยกองกำลังของรัฐบาลมาลีและฝรั่งเศสสามารถยึดครองกรุงเดียบาลีได้เมื่อประมาณวันที่ 20 และ 21 มกราคม
                
หน่วยงานเรามีพยานหลักฐานว่ากลุ่มทหารบ้านที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมาลีเอง ก็มีส่วนร่วมในการใช้ทหารเด็กก่อนหน้านี้ แต่ในปัจจุบันไม่มีข้อมูลว่ากลุ่มทหารบ้านเหล่านี้ใช้ทหารเด็กสู้รบในแนวหน้า 
                
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังสามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้หรือการกล่าวหาว่ามีการใช้ทหารเด็กในประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ อย่างเช่น สาธารณรัฐแอฟริกากลาง, ชาด, ไอเวอร์รีโค้สต์, สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก , ศรีลังกา, โซมาเลีย, และ เยเมน
 
สนธิสัญญาซื้อขายอาวุธจะช่วยแก้ปัญหาทหารเด็กอย่างไร 
                
ประเทศต่างๆ ประมาณ 150 ชาติ รวมทั้งมาลี เห็นชอบต่อข้อห้ามการใช้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีในการขัดกันด้วยอาวุธ ประเทศเหล่านี้ได้ลงนามในพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Optional Protocol to the Convention on the Rights of the Child) โดยการเกณฑ์และการใช้ทหารเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีในสงครามที่สู้รบอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม
                
เนื้อหาของสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธที่เข้มงวดมากขึ้น จะส่งผลให้ยุติการเกณฑ์และบังคับใช้ทหารเด็ก ทั้งนี้โดยการหยุดยั้งการเคลื่อนย้ายอาวุธที่ถูกใช้เพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนไปสู่การครอบครองทั้งของรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธ
               
ร่างฉบับปัจจุบันของสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธ มีเนื้อหาการควบคุมที่ค่อนข้างอ่อนแอ ในแง่การป้องกันการเคลื่อนย้ายอาวุธให้กับรัฐหรือกลุ่มที่มีการใช้ทหารเด็ก เนื้อหาฉบับร่างที่กำหนดให้ปฏิบัติตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอาจไม่เป็นผล ในสนธิสัญญากำหนดกรอบป้องกันความรุนแรงต่อเด็ก โดยเพียงแต่บังคับให้รัฐ “พิจารณาใช้มาตรการเท่าที่เป็นไปได้” และหลักการเพื่อป้องกันการส่งถ่ายอาวุธยังคงอ่อนแอ อย่างเช่นไม่ครอบคลุมถึงอาวุธปืนและเครื่องกระสุนอื่น ๆ
                
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกำลังกดดันให้มีการอุดช่องว่างเหล่านี้ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างเนื้อหาของสนธิสัญญาซื้อขายอาวุธกำหนดให้รัฐภาคีต้องป้องกันการเคลื่อนย้ายอาวุธในกรณีที่เชื่อว่าเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดอันตรายและความรุนแรงกับเด็ก โดยเฉพาะการห้ามการเกณฑ์และการใช้ทหารเด็ก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง