กฟผ. คลี่แผนระบายน้ำเขื่อนภาคตะวันตก รับมือ"วิกฤตไฟฟ้า" ดับเดือนเม.ย.

สังคม
22 ก.พ. 56
12:16
77
Logo Thai PBS
กฟผ. คลี่แผนระบายน้ำเขื่อนภาคตะวันตก รับมือ"วิกฤตไฟฟ้า" ดับเดือนเม.ย.

เตรียมรับมือสถานการณ์หยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา 5-14 เม.ย. ให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนวชิราลงกรณในภาคตะวันตก เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

 นายกิตติ ตันเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศ เพื่อรับมือสถานการณ์หยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า วันที่ 5-14 เม.ย. 56 นั้น กฟผ. ได้หารือร่วมกับกรมชลประทาน และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ

มีข้อสรุปให้เพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณ เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบกำลังไฟฟ้า ช่วงวันที่ 5 – 14 เมษายน 2556  จากแผนการระบายน้ำเพื่อการเกษตรฤดูแล้งวันละ 29 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 35 ล้าน ลบ.ม. หรือเพิ่มขึ้นวันละ 6 ล้าน ลบ.ม. จำนวน 10 วัน  และเพื่อไม่ให้ส่งกระทบกับแผนการระบายน้ำในภาพรวม  จะมีการปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์ลงต่ำกว่าแผนในช่วงที่มีความต้องการใช้น้ำลดลง

 
“ปัจจุบัน เขื่อนวชิราลงกรณ ยังมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีหรือมีอยู่ร้อยละ 74ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำใช้งานได้ 3,512 ล้าน ลบ.ม. การปรับเพิ่มการระบายเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบกำลังไฟฟ้า ช่วงที่ขาดก๊าซธรรมชาติในเดือนเมษายน จะไม่กระทบต่อแผนการระบายน้ำและปริมาณน้ำในอ่างฯ มากนัก เนื่องจากมีการปรับลดการระบายน้ำในช่วงที่ไม่จำเป็นเพื่อเก็บน้ำไว้ระบายในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ กฟผ. ขอแจ้งและประชาสัมพันธ์ให้พื้นที่ที่อาจได้รับ ผลกระทบจากการระบายน้ำ เช่น รีสอร์ทและประชาชนที่ใช้ประโยชน์บริเวณที่ลุ่มต่ำท้ายน้ำ  เตรียมการขนย้ายสิ่งของที่อาจได้รับความเสียหาย  ในส่วนของการเพิ่มการระบายน้ำนั้น จะค่อยๆ ปรับเพิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้ตลิ่งเกิดการพังทลาย” ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กฟผ. กล่าว
 
ปัจจุบันประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสูงเกือบร้อยละ 70 ของการผลิตไฟฟ้า โดยแบ่งเป็น แหล่งก๊าซจากอ่าวไทยร้อยละ 60 และแหล่งก๊าซจากประเทศพม่าร้อยละ 40  จากกรณีที่จะมีการหยุดผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานาเพื่อบำรุงรักษาตามวาระ วันที่ 5–14 เมษายน 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงนั้น เนื่องจากเป็นหน้าร้อนและคาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 26,300 เมกะวัตต์  อาจส่งผลให้กำลังผลิตสำรองของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องในระบบลดกว่ามาตรฐานปกติ 
 
และหากมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เกิดขัดข้องในช่วงเวลาดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับได้  กฟผ. จึงได้เตรียมมาตรการรองรับเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังความร้อนและโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องด้วยน้ำมันดีเซล ไม่สามารถเดินเครื่องต่อเนื่องได้เป็นเวลานาน เพราะโรงไฟฟ้าถูกออกแบบมาเพื่อใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ประสานงานขอความร่วมมือไปยังโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก  และโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวให้เดินเครื่องเต็มความสามารถ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง