สสส. หนุน มศว ตั้งเป้ามหาวิทยาลัยต้นแบบกิจการเพื่อสังคมแห่งแรกในเอเชีย

สังคม
5 มี.ค. 56
07:13
117
Logo Thai PBS
สสส. หนุน มศว ตั้งเป้ามหาวิทยาลัยต้นแบบกิจการเพื่อสังคมแห่งแรกในเอเชีย

เปิดร.ร.ปลายปี 2556 รับทุกคนที่มีแรงบันดาลใจเข้าเรียน ไม่จำกัดอายุ

 ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ( มศว) เปิดเผยว่า  การจะทำให้สังคมไทยน่าอยู่ ปัญหาทางสังคมลดลงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องช่วยกันดำเนินงานกันตั้งแต่ต้นน้ำ นั่นก็คือ สถาบันการศึกษาทุกส่วน ทุกระดับต้องผลิตคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้บุคคลที่จะออกไปเป็นประกอบการทางสังคมหรือดำเนินธุรกิจทางสังคม (Social Entrepreneur) มีความรับผิดชอบ มีหัวใจของการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมอย่างแท้จริง โดยสถาบันการศึกษาต้องมีสาขาวิชาที่ศึกษากันอย่างจริงจังทางด้านธุรกิจที่ไม่ได้หวังแต่ผลกำไร หากแต่ต้องดูความเป้นสังคม การช่วยลดปัญหาของสังคม การเรียนจึงต้อง มีการฝึกปฏิบัติจริง  

 
ที่สำคัญคนที่จะเรียนเพื่อออกไปเป็นผู้ประกอบการทางสังคมนั้นต้องมีแรงบันดาลใจที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม และไม่ต้องการทำธุรกิจเพื่อหวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องทำเพื่อสังคมและเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วย มันยากมากที่จะทำให้ความเป็นทุนนิยมทางธุรกิจ สอดประสานไปกับความคิดที่ไม่เอาเปรียบสังคม อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและเป็นธุรกิจที่มีแต่ให้ ช่วยเหลือและสามารถแก้ไขปัญหาสังคมในระยะยาวได้ หากแต่คนที่จะประกอบธุรกิจด้านนี้จะต้องอยู่รอดและไม่ขาดทุนในการประกอบกิจการทางธุรกิจด้วย
 
  มศว จึงได้ลงนามความร่วมมือ(MOU) กับสสส. ช่วยกันการพัฒนางานนวัตกรรมทางสังคม กิจการเพื่อสังคม และการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อนำสู่การเกิดสถาบันอุดมศึกษารับใช้สังคมต้นแบบของประเทศไทย เดิมที มศว เป็นโรงเรียนฝึกหัดครู จึงมีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ให้ แม้ทุกวันนี้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการเปิดสอนหลากหลายสาขา แต่ปรัชญาของการเป็นผู้ให้ยังคงอยู่ จึงเดินหน้าประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยที่รับใช้สังคม ซึ่งสอดคล้องกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลก อาทิ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ท ที่สนใจและนำแนวคิดกิจการเพื่อสังคมมาปรับเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งไม่เพียงแต่เปิดสอนเป็นรายวิชาหรือหลักสูตรอบรมเท่านั้น แต่บูรณาการแนวความคิดเข้ากับทุกภาคส่วน หรือเรียกว่า Socially Enterprising University
 
ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีสถาบันการศึกษาที่ประสบความสำเร็จในการบูรณาการแนวความคิดกิจการเพื่อสังคมเช่นในต่างประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นก้าวสำคัญที่จะศึกษาแนวคิด และรูปแบบการดำเนินงานเพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งจะมีการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับผู้ประกอบการทางสังคม (School for Social Entrepreneur) และบูรณาการเข้ากับหลักสูตรการเรียนการสอนของ มศว อาทิ พัฒนารายวิชาพื้นฐาน (วิชาบังคับ) เกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม พัฒนาหลักสูตร / ภาควิชา / คณะ เพื่อเป็นต้นแบบในการเผยแพร่แนวคิดสู่เครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ในการพัฒนากิจการเพื่อสังคมร่วมกัน
 
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สสส.เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการแก้ปัญหาด้านสุขภาพและสังคมต่างๆ มีการดำเนินงานร่วมกับหลายฝ่าย รวมไปถึงจากต่างประเทศ ซึ่งเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีหลายประเทศที่ใช้ Socially Enterprising University ซึ่งทำให้การช่วยเหลือผู้อื่นในสังคมทำได้ดีขึ้น จึงคิดที่จะนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย จึงเป็นต้นกำเนิดแล้วการทำกิจการเพื่อสังคม แต่ก็มองว่าหาคนทำเท่าไรก็ไม่เพียงพอ เพราะขาดต้นน้ำหรือก็คือมหาวิทยาลัยในการบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ให้มีความคิดเรื่องจิตอาสา จิตสาธารณะ ทำประโยชน์เพื่อสังคม
 
ทพ.กฤษดา กล่าวอีกว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ นำไปสู่การดำเนินงาน 3 ด้านสำคัญ คือ 1.การพัฒนา และส่งเสริม ให้นักศึกษา มศว มีจิตสาธารณะตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานเพื่อสังคม ผ่านรูปแบบอาสาสมัคร การฝึกงาน หรือจัดการเรียนการสอนร่วมกับองค์กร เพื่อนำสู่การเกิดสถาบันอุดมศึกษารับใช้สังคมต้นแบบของประเทศไทย 
2.การพัฒนาองค์ความรู้ หลักสูตรการเรียนการสอนของ มศว ที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และการพัฒนางานด้านสังคม โดยสร้างความร่วมมือกับคณะ หรือภาควิชาที่มีความพร้อม 
3.ความร่วมมือในการพัฒนาแนวคิดและรูปแบบการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย เพื่อให้ มศว ก้าวไปสู่การเป็น มหาวิทยาลัยต้นแบบกิจการเพื่อสังคมแห่งแรกของเอเชีย และเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างต้นแบบกิจการเพื่อสังคมที่มีความยั่งยืนขึ้นในสถาบันอุดมศึกษา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง