ปชป.เตรียมหารือจุดยืนแก้รธน. ชี้มาตราที่แก้ไขลดทอนอำนาจปชช.

การเมือง
21 มี.ค. 56
06:30
40
Logo Thai PBS
ปชป.เตรียมหารือจุดยืนแก้รธน. ชี้มาตราที่แก้ไขลดทอนอำนาจปชช.

พรรคประชาธิปัตย์เตรียมประชุม ส.ส.กำหนดจุดยืนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่แม้จะเสนอแก้เป็นรายมาตรา แต่ก็พบว่ามาตราที่แก้ไขเป็นการลดทอนอำนาจของประชาชน และศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ประธานวุฒิสภา ย้ำว่า การขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญของ ส.ว. ไม่มีผลประโยชน์เชื่อมโยงกับ ส.ส. และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่อยู่บนพื้นฐานที่เห็นว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการทำงานทางการเมือง

หลังการขับเคลื่อนของส.ส.และส.ว. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา โดยย้ำถึงการเดินหน้าแก้ไขว่าจะทำเฉพาะมาตราที่จำเป็น และเพื่อประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานการบริหารบ้านเมือง และลดอุปสรรคทางการเมือง โดยนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่สร้างความขัดแย้งซ้ำเติมสังคม และการเดินหน้าในช่วงนี้ก็ถือว่าเหมาะสม ซึ่งเหตุผลหลักของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของ ส.ส.และ ส.ว.ได้เป็นไปตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญ และข้อกำหนดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ระหว่างกันของ ส.ส.และ ส.ว.และไม่ได้เป็นการสั่งการจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เป็นเพราะมีความเห็นตรงกันว่ามาตราดังกล่าวอาจทำให้เกิดปัญหาทางการเมือง อาทิ มาตรา 237 การตัดสิทธิ์ทางการเมือง และมาตรา 190 การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

ส่วนการแก้ไขมาตรา 68 ที่ว่าด้วยเรื่องขั้นตอนการยื่นตีคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นไปเพื่อต้องการให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยหากเป็นความผิดฐานล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยต้องร้องผ่านอัยการสูงสุดเท่านั้น ยืนยันว่าการแก้ไขมาตราดังกล่าวคู่กับมาตรา 237 ไม่ใช่การเปิดช่องให้มีการช่วยเหลือผู้ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะการแก้ไขมาตรา 68 ไม่มีผลต่อการวินิจฉัยคดี

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นร่างที่เสนอแก้ไข แต่ก็พร้อมให้การสนับสนุนในบางประเด็นที่เป็นประโยชน์ ซึ่งพรรคจะประชุม ส.ส.เพื่อหาจุดยืนร่วมกันในแต่ละร่าง เนื่องจากการพิจารณาเบื้องต้นเห็นว่า ทั้ง 3 ร่างมีการลดทอนอำนาจและสิทธิของประชาชน รวมถึงลดทอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจนำไปสู่แนวทางการเพิ่มอำนาจให้ตนเอง เพราะไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมืองในระบอประชาธิปไตย

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตต่อสถานการณ์การเมืองช่วงเดือนเมษายนที่อาจมีแนวโน้มความรุนแรงจากปัจจัยการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า สถานการณ์ทางการเมืองจะรุนแรงขึ้นอยู่ที่แต่ละบุคคลจะพิจารณา แต่จะต้องไม่ประมาทและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิเสธการอ้างอิงประเด็นการล้มรัฐบาลว่าเป็นเพียงข่าวลือ และไม่ควรเป็นประเด็นที่ถูกนำเสนอมากนัก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง