เผยราคาน้ำมันตลาดโลกต่ำ ถ่วงราคายางพารา แนะผู้ปลูกยางพารากระจายความเสี่ยงเพื่อเสริมรายได้

สิ่งแวดล้อม
1 เม.ย. 56
10:48
389
Logo Thai PBS
เผยราคาน้ำมันตลาดโลกต่ำ ถ่วงราคายางพารา แนะผู้ปลูกยางพารากระจายความเสี่ยงเพื่อเสริมรายได้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) แนะเกษตรกร กระจายความเสี่ยงเสริมรายได้ ถ้าประเทศผู้ส่งออกยางไม่สามารถกำหนดทิศทางราคายางโลกได้ หลังพบว่า ในปีนี้ราคาน้ำมันจะเป็นปัจจัยหลักกดดันราคายาง และหากราคายางยังไม่กระเตื้องขึ้น คงต้องมีการต่ออายุมาตรการลดการส่งออกยางพาราหลังครบกำหนด 31 มี.ค.นี้ ต่อไปอีก

 ยางพาราไม่ใช่แค่สินค้าเศรษฐกิจเฉพาะของภาคใต้อีกต่อไป เพราะได้มีการเพาะปลูกกันมากขึ้นในภูมิภาคอื่น โดยสัดส่วนพื้นที่การเพาะปลูกยางพาราอยู่ในนอกภาคใต้รวมถึงร้อยละ 35 แบ่งโดยประมาณเป็นภาคตะวันออกเฉียงหนือร้อยละ 20 ภาคกลางและภาคตะวันออกร้อยละ 10 และภาคเหนือร้อยละ 5 ซึ่งจากรายงานล่าสุดปริมาณการส่งออกยางพาราเกือบครึ่งของโลกมาจากไทย โดยมีจีนเป็นตลาดส่งออกหลักของประเทศ มีสัดส่วนการส่งออกไปจีนถึงร้อยละ 38.8 ของการส่งออกยางพาราทั้งหมด

นอกจากนั้น ยางพาราเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรไม่กี่ชนิดที่ซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) และมีปริมาณซื้อขายมากสุดเมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรอื่นในตลาดฯ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของยางพาราในเศรษฐกิจไทยได้อย่างชัดเจน

ในปัจจุบันได้มีการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศผู้ผลิตหลัก ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยการเข้าควบคุมปัจจัยทางด้านอุปทาน เช่น ปริมาณผลผลิต สต๊อกยางพารา เป็นต้น
ทั้งนี้ มาตรการลดการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางพาราของ 3 ประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะลดการส่งออกยางของทั้ง 3 ประเทศลงให้ได้ 3 แสนตันต่อปี จะสิ้นสุดอายุลงในวันที่ 31 มีนาคม 2556 และหากราคายางพารายังไม่กระเตื้องขึ้นจะขยายเวลาไปอีก 6 เดือน  ถึงกันยายน 2556 ซึ่งหลายฝ่ายมองว่ามาตรการนี้คงต้องขยายออกไปอีก เพราะเห็นว่าแนวโน้มราคายางพาราน่าจะยังอยู่ระดับต่ำ
 
เป็นเรื่องยากที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตหลักจะเป็นผู้ชี้นำราคายางในตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังซบเซา เพราะมีปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคายางพาราทางด้านอุปสงค์ อาทิ การขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และผลิตภัณฑ์ยางของโลก รวมไปถึงราคายางสังเคราะห์ในฐานะสินค้าทดแทน  ตลอดจนปัจจัยด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ล้วนอยู่นอกเหนือการควบคุมของประเทศผู้ผลิตทั้งสิ้น
 
จากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี  พบว่า 3 ปัจจัยที่กล่าวถึงสามารถใช้เป็นตัวสังเกตทิศทางราคายางได้ในระดับที่แตกต่างกัน และสรุปได้ว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่สะท้อนด้านสินค้าทดแทน เนื่องจากความสามารถในการทดแทนกันของยางพาราและยางสังเคราะห์ สามารถอธิบายทิศทางของราคายางได้ดีที่สุดที่ร้อยละ 40 ใขณะที่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของจีน (PMI) อธิบายได้ร้อยละ 7 และความกังวลต่อความเสี่ยงของนักลงทุนที่สะท้อนผ่านดัชนีความผันผวน VIX ในตลาดชิคาโก อีกร้อยละ 3 ส่วนที่เหลือในอีกร้อยละ 50 ถูกกำหนดด้วยปัจจัยอื่นๆ ทำให้เห็นได้ว่า การที่ประเทศผู้ผลิตหลักจะเปลี่ยนแนวโน้มราคายางด้วยปัจจัยด้านอุปทานนั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะกว่าครึ่งหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในราคายางพารา มีสาเหตุมาจากปัจจัยนอกเหนือการควบคุมของประเทศผู้ผลิตอย่างเราทั้งนั้น
 
ดังนั้น ในภาวะปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะกลับมามีแรงขับเคลื่อนมากขึ้น ดังการปรับตัวดีขึ้นของ PMI และมุมมองต่อตลาดของนักลงทุนดีขึ้นจากปีที่แล้ว สะท้อนได้จากดัชนี VIX ที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ก็ไม่อาจช่วยผลักดันให้ราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้นได้ เพราะแรงผลักดันดังกล่าว ยังไม่มากพอที่จะทำให้แนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกเปลี่ยนทิศทาง

โดยปีนี้ ราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มแค่ทรงตัว และกว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณบวกจากราคาน้ำมันในตลาดโลก อาจต้องรออย่างน้อยถึงไตรมาส 4 ล้อไปกับคำกล่าวที่ว่า “น้ำมันตลาดโลกแพง ราคายางโลกแพง” ดังนั้น  น้ำมันตลาดโลกไม่แพง ราคายางโลกจึงไม่แพงไปด้วย 

 
เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราจึงจำเป็นต้องเสริมรายได้ด้วยการกระจายธุรกิจ อาทิ อาจโค่นต้นยางอายุมากเพื่อขายตัวไม้ให้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ในช่วงยางราคาตก และปลูกต้นไม้ยางใหม่ พร้อมทั้งปลูกพืชแซมยางและพืชร่วมยางตามอายุของยางพาราไว้บริโภคในครัวเรือน และเสริมรายได้ในช่วงราคายางตกต่ำ

อีกทั้ง ต่อยอดธุรกิจด้วยการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการร่วมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Value chain) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และเสริมความเข้มแข็งในกลุ่มผู้ประกอบการตลอดสายการผลิต เพื่อรับมือแรงกดดันจากปัจจัยแวดล้อมในสถานการณ์ปัจจุบัน และเตรียมตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงก่อนการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เพราะไม่ว่าอย่างไร ยางพาราก็คงยังครองแชมป์สินค้าเกษตรอันดับหนึ่งของไทยไปอีกหลายปี

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง