นักวิชาการเชื่อนิรโทษกรรม เอกภาพ "เพื่อไทย-นปช."

การเมือง
20 เม.ย. 56
14:27
21
Logo Thai PBS
นักวิชาการเชื่อนิรโทษกรรม เอกภาพ "เพื่อไทย-นปช."

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน เห็นต่างกันในหลักการและเหตุผลของการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเฉพาะผลการบังคับใช้ที่จะนำมาซึ่งการสร้างความปรองดองในบ้านเมือง ขณะที่นักวิชาการอิสระ ประเมินบริบทของสมาชิกรัฐสภาอาจขาดทางเลือก รวมถึงส.ส.พรรคเพื่อไทยที่อยู่ภายใต้ระบบพรรคการเมือง ที่อิงกับระบบทุนและประโยชน์ของพวกพ้อง

ด้วยบริบทของสมาชิกรัฐสภาต่อกรณีการเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยรัฐสภาได้ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รายมาตรา ทั้ง 3 ฉบับแล้ว และการลงมติเลื่อนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นเรื่องเร่งด่วนในวาระของสภาผู้แทนราษฎรได้ ก่อนปิดสมัยประชุมนิติบัญญัติ วันที่ 20 เมษายน 2556 นี้ ทำให้ประเมินได้ถึงบทบาทของ ส.ส.และส.ว. บางคน ที่น่าจะรู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ที่ต้องมีเอกภาพในการพิจารณากฎหมาย และพรรคเพื่อไทย ที่ยึดระบบทุน ซึ่งถือเป็นผู้กำหนดแนวทาง 

นักวิชาการอิสระ เชื่อว่าพรรคแกนนำรัฐบาล คือผู้กำหนดทิศทางอย่างมีเป้าหมาย และวันนี้ พรรคเพื่อไทย อาจจำเป็นต้องทิ้งไพ่ใบสุดท้าย เพื่อรักษาฐานมวลชนอย่าง นปช.ไว้ จึงตอบรับข้อเสนอที่สมประโยชน์

แม้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นความความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. จะยอมรับว่า "นิรโทษกรรม"เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความปรองดอง แต่ก็เน้นย้ำมาโดยตลอด หากจะนำการนิรโทษกรรมาใช้ ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ทั้งในแง่เวลา สถานการณ์และกระบวนการ ซึ่งวันนี้ผู้นำฝ่ายค้านยังเชื่อว่า การนิรโทษกรรม ยังเป็นชนวนเหตุของการเผชิญหน้าและความขัดแย้ง แต่นายกรัฐมนตรี กลับชี้ว่า การนิรโทษกรรม ควรเป็นปัจจัยแรกของการเดินหน้าปรองดอง

มีการคาดการณ์กันว่า เปิดประชุมสมัยนิติบัญญัติ หรือราวเดือนสิงหาคมนี้ รัฐสภา จะเดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รายมาตรา รวม 3 ฉบับในวาระที่ 2 และ 3 และเมื่อการแก้ไขมาตรา 68 การยื่นคำร้องเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ อาจขับเคลื่อนได้ยากขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่า รัฐสภาจะผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ที่ค้างอยู่ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต่อไป

ขณะเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎร ก็จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามวาระที่บรรจุไว้เป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเป็นไปได้ว่า จะควบรวมร่างพ.ร.บ.ปรองดองมาพิจารณาในคราวเดียวกัน และลงมติเห็นชอบร่างกฎหมาย ที่เสียงส่วนใหญ่ยอมรับในเนื้อหาได้ ซึ่งก็น่าจะแล้วเสร็จไม่เกินสิ้นปี 2556 แต่จะเกินความคาดหมายหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง