ประชันนโยบายแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้

การเมือง
15 มิ.ย. 54
14:44
15
Logo Thai PBS
ประชันนโยบายแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้

พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันเดินหน้า ศอ.บต.แก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่พรรคเพื่อไทยชู “เขตปกครองพิเศษ” เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทีละอำเภอแก้ปัญหา ด้าน “หมอแว” ยก “โอมานโมเดล” นำทางสู่ความสำเร็จ ส่วน “อารีเพ็ญ” พร้อมคุยแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบ เพื่อลดปัญหาความุรนแรงในพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์มุสลิมศึกษาสถาบันเอเชียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Siam Intelligence Unit  ร่วมกับมูลนิธิสันติชน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และมูลนิธิฟรีดิช นอมัน จัดเสวนาในหัวข้อ “รัฐบาลใหม่กับแนวทางการแก้ปัญหาไฟใต้” โดยเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมตอบข้อสักถามถึงนโยบาย และ แนวทางจัดการกับปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานอย่างไรหากได้เป็นรัฐบาล

"ถาวร" ยันตั้ง ศอ.บต.แก้ปัญหาตรงจุด

นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และในฐานะผู้สมัคร ส.ส.เขต 6 จังหวัด สงขลา ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคฯ เสนอให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพราะปัญหาเกิดจากการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยากมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า กอ.รมน.ที่เกิดเอกภาพในด้านนโยบายต้องการเน้นใช้สันติวิธีเป็นหลัก 

นอกจากนี้นายถาวร ยังเสนออีกว่า ต้องถอนกำลังทหารตั้งแต่รองแม่ทัพลงมา โดยให้มีการจัดตั้งกองกำลังประจำถิ่น หรือ อาสาสมัครประจำถิ่น เพราะคนที่มาจากต่างถิ่น จะไม่รู้ประเพณีวัฒนธรรม ส่วนการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่จากการสำรวจพบว่า ประชาชนกว่า 55 % เสนอให้ยกเลิกบางพื้นที่เท่านั้น

ชทพ.ชี้คนไทยต้องยอมรับประวัติศาสตร์
นายมูฮำมัด ซูลฮัน ลามะทา ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า นโยบายของพรรคจะรวม 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ จังหวัดสงขลาบางพื้นที่ และ อยากเพิ่มอำนาจในการวางนโยบายและวางงบประมาณแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งบางโครงการที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และ จะผลักดันภารกิจกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้สมบูรณ์อย่างเร็ว และ มากที่สุด นายมูฮำมัดซูลฮัน กล่าวทิ้งท้ายว่า คนไทยทุกคนต้องยอมรับในเรื่องประวัติศาสตร์ให้ได้

"อารีเพ็ญ" เสนอตั้งทบวงดูแลความไม่สงบ
ด้านนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ผู้สมัคร ส.ส. และ รองหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ มองว่า ฝ่ายที่ก่อเหตุในปัจจุบันนี้ยังไม่หยุดก่อความไม่สงบถึงจะมีรัฐบาลใหม่แล้วจะยังมีเหตุรุนแรงเหมือนเดิม โดยพรรคเห็นว่าสถานการณ์แบบนี้ควรเป็นการปกครองพิเศษ จะประกาศให้มีการพูดคุยกันกับผู้ก่อความไม่สงบเพื่อไม่ให้เกิดความไม่สงบขึ้นอีก พร้อมตั้งองค์กรมีเอกภาพเพียง 1 องค์กรที่บริหารจัดการที่เดียวไม่ซ้ำซ้อน เช่น ตั้งทบวงเดียวครอบคลุมพื้นที่ดูเรื่องนโยบายสั่งการได้ และ รัฐมนตรีต้องเป็นคนในพื้นที่ซึ่งต้องไปหาประชาชนทุกวัน       

" ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ทำให้เด็กหนุ่มในพื้นที่ไปเข้าร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบ  และเรื่องกระบวนการยุติธรรม ต้องให้คดีความมั่นคงแยกออกจากศาลยุติธรรม"  รองหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ กล่าวยืนยัน

“เพื่อไทย” ชูเขตปกครองพิเศษ-เลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ขณะที่ พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ คณะทำงานด้านยุทธศาสตร์ และ นโยบายภาคใต้พรรคเพื่อไทย  กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาภาคใต้นั้นเพื่อไทยยึดแนวทางพระราชดำริ คือ 3 จังหวัด ไม่ต้องการแบ่งแยกดินแดน  ต้องการสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ต้องการเสรีภาพด้านอัตลักษณ์ โดยพรรคเพื่อไทยกำหนดแนวทางในการจัดเขตปกครองพิเศษ โดยให้ประชาชนใน 3 จังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งการกระจายอำนาจถ้ายังมีสถานการณ์เกิดขึ้นรายวันจะกระจายอย่างไร จะยังมีปัญหาอยู่ซึ่งจะต้องยุติปัญหาให้ได้ก่อน โดยเข้าร่วมพูดคุยหารือกับองค์กรต่างๆในพื้นที่ภาคใต้

ทั้งนี้มองว่า สถานการณ์จริงมีเพียง 30 % แต่ว่าสถานการณ์สร้างมีถึง 70% ซึ่งต้องสร้างความสันติทำให้เหตุร้ายรายวันยุติก่อน ซึ่งต้องเกิดจากการเจรจา โดยพรรคเพื่อไทยได้ทดลองทำมาแล้วในบางพื้นที่แต่ไม่เป็นข่าวเพราะเป็นพรรคฝ่ายค้าน ส่วนประเด็นการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะทำเป็นโมเดลในการยกเลิกพ.ร.ก.ทีละอำเภอ

"หมอแว" ยก "โอมานโมเดล" ดับไฟใต้
ขณะที่ นพ.แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคแทนคุณแผ่นดิน กล่าวว่า หากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นของขวัญให้คน 3 จังหวัด และทันทีที่บริหารประเทศจะยกเลิกนิคมอุตสาหกรรมแห่งความมั่นคงที่ทุกคนได้ประโยชน์ยกเว้นประโยชน์  ประชาชนต้องเป็นเจ้าของในการจัดการพื้นที่ต้องลบผู้ว่าราชการออก น้ำมันที่มีอยู่ในอ่าวไทยที่คนนราธิวาสไม่ได้ประโยชน์ต้องยกเลิก เพื่อทำไปสู่สันติสุขจะใช้ "โอมานโมเดล"

ประเทศใดที่ต้องการมีสันติสุขต้องมี 6 ข้อ 1.ต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2.ประเทศต้องมีรายได้ที่ดีพอค่าใช้จ่าย 3.ต้องมีความยุติธรรม 4.ต้องไม่มีสิ่งมึนเมาและสุรา 5.ต้องมีสวัสดิการที่ดีตั้งแต่เกิดจนตาย 6. ต้องมีการคุ้มครองในสิทธิขั้นพื้นฐาน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง