นายกฯ เรียกหารือสถานการณ์เงินบาท ไร้เงาผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย

เศรษฐกิจ
9 พ.ค. 56
04:30
43
Logo Thai PBS
นายกฯ เรียกหารือสถานการณ์เงินบาท ไร้เงาผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่ประชุมคณะทำงานกำกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ รายงานสถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไตรมาสแรก พร้อมผลกระทบด้านการส่งออกจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวอย่างต่อเนื่อง ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า การหารือในครั้งนี้ ไม่มีผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าร่วม แม้จะมีหน้าที่สำคัญในการแก้ปัญหาค่าเงินบาท

การประชุมคณะทำงานกำกับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานนายกรัฐมนตรี และที่ประชุมให้รับทราบ เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจประจำเดือนมีนาคม และแนวโน้มปี 2556 โดยระบุว่า เศรษฐกิจส่วนใหญ่มีการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งด้านอุปสงค์และการผลิต ส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกมีแนวโน้มขยายตัวน่าพอใจ โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกเกินกว่าร้อยละ 60 ปรับตัวลดลงจากเป้าที่ตั้งไว้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับสถานการณ์ส่งออกช่วงปลายเดือนเมษายนได้อ่อนค่าลงเล็กน้อย ซึ่ง สศช. คาดการณ์ว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือนเมษายนจะอยู่ที่ 29.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากเดือนมีนาคมที่มีอัตราแลกเปลี่ยน 29.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเฉลี่ยการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท 4 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ 29.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดย สศช. ยังคงประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 4.5-5.5 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 2.5-3.5

ส่วนกรณีที่หลายหน่วยงานมีความเป็นห่วงค่าเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่อง จนกระทบผู้ส่งออกช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้มากขึ้น ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่ชัดเจนได้ โดยในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ สศช. จะแถลงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี อย่างเป็นทางการ

นอกจากนี้ ยังมีการรายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า และปัญหาเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าเก็งกำไร รวมถึงผลกระทบของผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท โดยการหารือครั้งนี้ไม่มี นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าร่วมประชุมด้วย แม้ว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะรายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงแนวทางการควบคุมเงินทุนไหลเข้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอมาแล้วก็ตาม

ภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรี และนายกิตติรัตน์ ได้ประชุมต่อถึงเรื่องความคืบหน้าการจัดทำ พ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วงเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวที่ปักหลักรอกันสัมภาษณ์กันเป็นจำนวนมาก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง