นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แถลงการณ์ชี้"ปลอดประสพ"ละเมิดศักดิ์ศรี-เสรีภาพมนุษย์

การเมือง
14 พ.ค. 56
10:34
1,993
Logo Thai PBS
นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน แถลงการณ์ชี้"ปลอดประสพ"ละเมิดศักดิ์ศรี-เสรีภาพมนุษย์

สนส. ระบุว่า คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และอาจนำไปสู่การละเมิดเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ออกแถลงการณ์ กรณีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพในการชุมนุม กรณีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของนายปลอดประสพ สุรัสวดี

กรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2556 ระหว่างการเดินทางมาตรวจดูความเรียบร้อยของสถานที่จัดการประชุมผู้นำด้านน้ำเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 2 ระหว่าง 14-20 พ.ค. 2556 นี้ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ เกี่ยวกับการที่อาจจะมีกลุ่มมวลชนที่ทำงานด้านทรัพยากรน้ำมาเคลื่อนไหวชุมนุมและแสดงความเห็นระหว่างการประชุมในครั้งนี้ว่า“มาก็จับ ทำผิดกฎหมายก็จับ มันไม่ใช่ที่ที่จะมาประท้วง ฝากบอกไปด้วย มาประชุม เพื่อสร้างชื่อเสียง สร้างหน้าสร้างตาให้ประชาชน ไม่มีที่ไหนใครเขาไปทำร้ายใคร บรูไนเขามาพูดเรื่องบรูไน อิหร่านเขาก็มาพูดเรื่องอิหร่าน เกาหลีเขาก็มาพูดเรื่องเกาหลี คุณจะมาประท้วงอะไร อย่ามานะ ทำผิดกฎหมาย สั่งจับเลย และคนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้พวกขยะเหล่านี้มาเกะกะ คุณเขียนอย่างผมพูดเลย กล้าเขียนหรือไม่”

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เห็นว่า การชุมนุมโดยสงบ เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 63 ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” และ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ. 1966 ข้อ 21 “สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการคุ้มครอง” โดยรัฐมีหน้าที่เคารพสิทธิ (respect) กล่าวคือ ไม่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนเสียเอง คุ้มครอง (protect) กล่าวคือ ป้องกันมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดกระทำการการละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือมีการละเมิดสิทธิระหว่างประชาชนด้วยกัน แต่รัฐสามารถจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวได้ หากเป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ทั้งนี้ รัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนทุกกลุ่มได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ โดยต้องไม่เป็นผู้กระตุ้นหรือริเริ่มให้มีการละเมิดเสรีภาพดังกล่าวเสียเอง เช่นที่นายปลอดประสพให้สัมภาษณ์

คำให้สัมภาษณ์ของรองนายกรัฐมนตรี ที่ว่า “มา(ชุมนุม)ก็จับ” และ “อย่ามานะ ทำผิดกฎหมาย สั่งจับเลย “ และการที่รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า “คนเชียงใหม่ก็ไม่ควรปล่อยให้พวกขยะเหล่านี้มาเกะกะ” นั้น ถ้อยคำดังกล่าว ถือเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะเป็นการลดคุณค่าของมนุษย์เป็นเพียงวัตถุ สิ่งของ และเป็นการหมิ่นเกียรติของความเป็นมนุษย์“เกียรติ” เป็นคุณค่าที่สำคัญของศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ มนุษย์ทุกคนต่างมีเกียรติเท่ากันโดยสมบูรณ์ตราบเท่าที่ยังไม่ถูกลบหลู่ การลบหลู่ทำให้คุณค่าของมนุษย์ลดน้อยถอยลง มนุษย์แต่ละคนแม้จะมีความแตกต่างกันในทางสังคม แต่มนุษย์ก็มีเกียรติเท่ากัน ความเป็นมนุษย์ของบุคคลย่อมเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการรับรองไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่แห่งใดก็ตาม ถ้อยคำดังกล่าวนอกจากเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว อาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาทผู้ชุมนุมด้วย และยังเป็นการแสดงทัศนคติที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม อันเป็นรากฐานของระบอบประชาธิปไตย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง