อคติทางเพศกับบัลเลต์

Logo Thai PBS
อคติทางเพศกับบัลเลต์

ขณะที่อคติทางเพศได้สร้างอุปสรรคมากมายแก่ผู้ชายที่ต้องการก้าวเข้ามาสู่แวดวงของการแสดงบัลเลต์ แต่กับตำแหน่งที่สำคัญอย่างนักออกแบบท่าเต้น เป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงไม่ค่อยได้รับการยอมรับในการแสดงที่เก่าแก่กว่า 600 ปีนี้เช่นกัน

เด็กชายกับเรื่องราวการต่อสู้กับอคติของครอบครัว เพื่อไปสู่ความฝันการเป็นนักบัลเลย์อาชีพ ในภาพยนตร์เรื่องดังอย่าง Billy Elliot สะท้อนทัศนะคติเหมารวมที่สังคมมีต่อผู้ชายที่เป็นนักบัลเลย์ ที่เชื่อว่านักบัลเลต์ชายต้องเป็นคนอ่อนแอ หรือมีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน

การมองบัลเลต์เป็นอาชีพที่สงวนไว้ให้เพศหญิงมีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 แต่เดิมการแสดงบัลเลต์ให้ความสำคัญกับผู้แสดงทั้ง 2 เพศ แต่เปลี่ยนทรรศนะไปในยุคโรแมนติก เมื่อศิลปินหันไปหาแรงบันดาลใจในการสร้างบัลเลต์จากตำนานพื้นบ้านที่เหล่านางไม้เป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก นักบัลเลต์หญิงหรือ บัลเลรินา จึงได้รับความสำคัญ บดบังเหล่า ดานเซอ หรือนักบัลเลต์ชาย ที่ถูกลดทอนทั้งบทบาทและจำนวนนักแสดงลงเรื่อยๆ จนบัลเลต์ถูกจดจำในฐานะการแสดงสำหรับเพศหญิงนับแต่นั้น

ทัศนคติดังกล่าวกลายเป็นอุปสรรคต่อการเริ่มต้นอาชีพของเหล่านักบัลเลต์ชายมากขึ้น ทั้งที่ต้องต่อสู้กับอคติทางเพศ โดยเลือกที่จะแอบฝึกซ้อม และทนกับเสียงเยาะเย้ยในโรงเรียน เพื่อให้ได้มาซึ่งโอกาสในการแสดงความสามารถในอาชีพที่ตนรักอย่างแท้จริง

แม้บัลเลต์จะถูกมองว่าเป็นโลกที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ แต่ตำแหน่งที่สำคัญอย่างนักออกแบบท่าเต้นกลับเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงแทบไม่มีบทบาท นำมาซึ่งโครงการของคณะบัลเลต์ Australian National Ballet ในการจัดงานซึ่งเป็นการแสดงศักยภาพการออกแบบท่าเต้นของศิลปินหญิง กับการแสดงบัลเลต์ร่วมสมัยที่ผสมผสานการออกแบบเวทีที่ตื่นตา

เดวิด แม็คอัลลิสเตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของคณะเผยว่า ความแตกต่างทางเพศมีผลต่อการออกแบบท่าเต้น สำหรับเขาแล้วผลงานของฝ่ายชายเราจะยังเห็นความหยาบกระด้างในช่วงต้นก่อนจะขัดเกลาจนสมบูรณ์ในภายหลัง ต่างจากนักออกแบบท่าเต้นหญิง ที่ความอดทนและมุ่งมั่นของพวกเธอ ทำให้ผลงานมีพลังตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งเชื่อว่าโครงการครั้งนี้จะช่วยสร้างการยอมรับในฝีมือของนักออกแบบท่าเต้นหญิงมากขึ้นในอนาคต
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง