สมช.เผย "บีอาร์เอ็น" ส่งรายละเอียดลดรุนแรงช่วงรอมฎอนถึงทางการไทยแล้ว

การเมือง
27 มิ.ย. 56
04:20
8
Logo Thai PBS
สมช.เผย "บีอาร์เอ็น" ส่งรายละเอียดลดรุนแรงช่วงรอมฎอนถึงทางการไทยแล้ว

เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ระบุว่า ขณะนี้ บีอาร์เอ็นยื่นเอกสารรายละเอียดการปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรงในช่วงรอมฎอน ผ่านทางเจ้าหน้าที่มาเลเซียมายังประเทศไทยแล้ว แต่ปฏิเสธถึงกรณีที่มีข่าวว่า บีอาร์เอ็นส่งข้อเสนอ 7 ข้อ ให้สถานทูตประเทศต่างๆ ในประเทศไทย ขณะที่เหตุร้ายรายวันยังเกิดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวานนี้ (26มิ.ย.56) เกิดเหตุลอบวางระเบิด ทหารหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 44 อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ทำให้ทหารเสียชีวิต 1 นาย

จุดเกิดเหตุลอบวางระเบิดครั้งนี้ อยู่ที่บริเวณคอสะพานปากู ม.5 ต.ปากู อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี ซึ่งเหตุระเบิดเกิดขึ้น ในช่วงที่ทหารหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 44 โดยสารรถยนต์ออกจากหมู่บ้าน แรงระเบิดทำให้ทหารเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 3 นาย และมีชาวบ้านที่ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณดังกล่าวบาดเจ็บอีก 3 คน

 
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า ก่อนเกิดเหตุระเบิดดังกล่าว ในช่วงเช้าของวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ก่อเหตุยังได้ลอบวางระเบิด บริเวณริมถนนคลองชลประทาน บริเวณบ้านควน รอยต่อบ้านท่าวัง ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา ระหว่างที่ทหารชุดรักษาความปลอดภัยครูกำลังปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 2 นาย
 
ทั้งนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจมีความเชื่อมโยงกับการพูดคุยสันติภาพระหว่างกลุ่มบีอาร์เอ็น รวมถึงอาจเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น ภายหลังหลายฝ่าย ออกมาปฏิเสธข้อเสนอ 7 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่มีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ยูทูปเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา
 
เบื้องต้น พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กล่าวถึงความคืบหน้าหลังการพูดคุยสันติภาพว่า ทางบีอาร์เอ็นได้ยื่นเอกสารรายละเอียดการปฏิบัติเพื่อลดความรุนแรงในช่วงรอมฎอน ผ่านทางเจ้าหน้าที่มาเลเซีย ในฐานะที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก และส่งถึงตนเรียบร้อยแล้ว ในช่วงบ่ายเมื่อวานนี้(26 มิ.ย.)
 
โดยเอกสารลายลักษณ์อักษรที่ส่งมามี 3 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และมาเลเซีย ความยาว 2 หน้ากระดาษ ซึ่งเอกสารที่ส่งมามีข้อเสนอ 7 ข้อ ที่มีรายละเอียดและข้อเรียกร้องให้ถอนทหาร เป็นเนื้อหาเดียวกับที่ นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็นแถลงผ่านเว็บไซต์ยูทูบ
 
ส่วนข้อเรียกร้อง 5 ข้อเดิม ที่ได้เสนอมาก่อนหน้านี้ ยังแปลไม่แล้วเสร็จ ซึ่งหลังจากที่ได้รับเอกสารมาแล้ว จะต้องพิจารณาร่วมกับฝ่ายความมั่นคงอีกครั้ง เพื่อนำไปพิจารณาและหารือว่าจะดำเนินการกันอย่างไร โดยทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไทย
 
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า บีอาร์เอ็นได้ส่งข้อเสนอ 7 ข้อ ให้สถานทูตประเทศต่างๆ ในประเทศไทยแล้วนั้น จากการตรวจสอบ ยืนยันว่า ไม่พบข้อมูลตามที่มีการนำเสนอจากสื่อต่างๆ
 
ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) ระบุว่า ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม ซึ่งเชื่อว่า บีอาร์เอ็น ต้องการหาคะแนนเสียงจากมวลชน สมาชิกในภาคใต้ ส่วนการพูดคุยสันติภาพในรอบถัดไป รองนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ควรชะลอออกไปก่อน
 
ขณะที่พล.ท.สุรพล เผื่อนอัยกา อดีตเลขาธิการ สมช. แสดงความเห็น ถึงแนวทางการพูดคุยสันติภาพของรัฐบาลว่า การพูดคุยถือเป็นเรื่องที่เดินมาถูกทางแล้ว เพราะทำให้สังคมมีความกระจ่าง โดยเฉพาะแนวคิดแบ่งแยกดินแดน แต่เห็นว่า รัฐบาลไม่ควรเดินตามข้อเรียกร้องที่บีอาร์เอ็นเสนอ เพราะไม่ใช่การแก้ไขปัญหาแบบถาวร ดังนั้น รัฐบาลควรเปลี่ยนแปลงการเจรจา และดำเนินยุทธศาสตร์ในเชิงรุก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง