ภาคใต้ครองแชมป์ว่างงานสูงสุด จากสถิติอัตราไม่มีงานทำ เม.ย.ลดเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2553

สังคม
23 มิ.ย. 54
14:51
13
Logo Thai PBS
ภาคใต้ครองแชมป์ว่างงานสูงสุด จากสถิติอัตราไม่มีงานทำ เม.ย.ลดเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2553

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์  ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรประจำเดือนเมษายน 2554 พบว่า จำนวนผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปหรือผู้อยู่ในวัยทำงานทั้งสิ้น 53.89 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมทำงาน 37.93 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.37 ล้านคน ผู้ว่างงาน 2.85 แสนคน และผู้รอฤดูกาล  2.75 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานมี 15.96 ล้านคน จำนวนผู้มีงานทำ 37.37 ล้านคนนี้ ประกอบด้วย ผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม 12.66 ล้านคน
และนอกภาคเกษตรกรรม 24.71 ล้านคน

นายวิบูลย์ทัต กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2553 พบว่า ในภาคเกษตรกรรมมีจำนวน   ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 1.8 แสนคน (จาก 12.48 ล้านคน เป็น 12.66 ล้านคน) ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมโดยภาพรวมมีผู้ทำงานลดลงทั้งสิ้น  ประมาณ 7 หมื่นคน (จาก 24.78 ล้านคน เป็น 24.71 ล้านคน) โดยเป็นการลดลงในสาขาการขายส่ง  การขายปลีก การซ่อมยานยนต์ฯ 5.5 แสนคน สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 2.3 แสนคน สาขาการก่อสร้าง และสาขางานด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ลดลงเท่ากัน 9 หมื่นคน ส่วนสาขาที่เพิ่มขึ้นเป็นสาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศ และการประกันสังคมภาคบังคับ 2.5 แสนคน  สาขากิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ (เช่น กิจกรรมบริการเพื่อเสริมสร้างสุขภาพร่างกาย การบริการซักรีดและซักแห้ง  การซ่อมเครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น) 2.1 แสนคน  สาขาการศึกษา 8 หมื่นคน และที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ

สำหรับจำนวนของผู้ว่างงานในเดือนเมษายน 2554 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.85 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.8 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2553 มีจำนวนผู้ว่างงานลดลง 1.66 แสนคน
แต่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดือนที่ผ่านมา (มีนาคม 2554) มีผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 9 พันคน (จาก 2.76 แสนคน เป็น 2.85 แสนคน)

ส่วนระดับการศึกษาที่สำเร็จของผู้ว่างงานในเดือนเมษายน 2554 พบว่า ผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มีจำนวนมากที่สุด 7.9 หมื่นคน (ร้อยละ 1.2) รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 6.6 หมื่นคน    (ร้อยละ 1.0) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 5.2 หมื่นคน (ร้อยละ 1.0) ระดับประถมศึกษา 4.9 หมื่นคน (ร้อยละ 0.6) และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 3.9 หมื่นคน (ร้อยละ 0.3) 

เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2553 พบว่า จำนวนผู้ว่างงานลดลงในทุกระดับ  โดยระดับอุดมศึกษาลดลงมากที่สุด 6.3 หมื่นคน รองลงมาคือ ผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 3.8 หมื่นคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น2.8 หมื่นคน ระดับประถมศึกษา 2.1 หมื่นคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 1.7 หมื่นคน

โดยอัตราการว่างงาน เป็นรายภาค พบว่า ภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุดคือร้อยละ 1.1 รองลงมาเป็นภาคกลาง  ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 0.7 เท่ากัน กรุงเทพมหานครร้อยละ 0.6
ถ้าเปรียบเทียบอัตราการว่างงานในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2553 พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราการว่างงานลดลงมากที่สุดร้อยละ 0.9 ภาคใต้ร้อยละ 0.5 ภาคกลางร้อยละ 0.3 กรุงเทพมหานครร้อยละ 0.2 ส่วนภาคเหนือ  มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง