"ผู้คัดตัวนักแสดง"ผู้ปิดทองหลังพระวงการภาพยนตร์

Logo Thai PBS
"ผู้คัดตัวนักแสดง"ผู้ปิดทองหลังพระวงการภาพยนตร์

การได้นักแสดงที่เหมาะสมกับบท นอกจากกำหนดความสำเร็จของภาพยนตร์แล้ว ยังสร้างชื่อในวงการให้กับนักแสดงคนนั้นๆ ด้วย แต่ที่ผ่านมาความสำคัญของผู้คัดตัวนักแสดงแทบไม่เป็นที่รับรู้ ทั้งๆ งาน ของพวกเขาคือสิ่งกำหนดโฉมหน้าวงการภาพยนตร์ที่เรารู้จักกันในวันนี้

บทซูเปอร์แมนที่เดิมวางตัวให้ คลินท์ อิสต์วูด นักแสดงคนดังมาสวมบทตามความต้องการของค่ายหนัง แต่บทนี้กลับตกเป็นของนักแสดงที่ไม่มีใครรู้จักอย่าง คริสโตเฟอร์ รีฟ ที่กลายมาเป็นภาพจำของซูเปอร์ฮีโร่เจ้าของผ้าคลุมแดงในใจของแฟนหนังทุกวันนี้ หรือการเปลี่ยนผู้รับบท เบนจามิน แบรดด็อก เด็กหนุ่มผู้เพรียบพร้อมใน The Graduate จากขวัญใจสาวๆ อย่าง โรเบิร์ต เรดฟอร์ด มาเป็นนักแสดงร่างเล็ก หน้าตาธรรมดาเช่น ดัสติน ฮอฟแมน ก็ช่วยให้สื่อถึงการขาดความมั่นใจในตนเองอย่างลุ่มลึก คือตัวอย่างการตัดสินใจเปลี่ยนผู้รับบทครั้งสำคัญของฮอลลีวูด จากวิสัยทัศน์ของ ลินน์ สตาลมาสเตอร์ ผู้คัดตัวนักแสดงระดับตำนาน ซึ่งเรื่องราวของเขาและผู้คัดตัวนักแสดงคนอื่นๆ ซึ่งแทบไม่เป็นที่รู้จัก ได้รับการเชิดชูในสารคดี Casting By ที่พาผู้ชมย้อนรอยบทบาทของผู้คัดตัวนักแสดงที่ทำงานปิดทองหลังพระในวงการภาพยนตร์

ในยุคที่ฮอลลีวูดผูกติดกับระบบสตูดิโอ บทนำในภาพยนตร์ล้วนแสดงโดยดาราดังหน้าซ้ำๆ กระทั่งอาชีพ Casting director หรือ ผู้คัดตัวนักแสดง ช่วยให้โฉมหน้าดารานำในภาพยนตร์มีความหลากหลายยิ่งขึ้น 1 ในผู้ที่สร้างผลงานโดดเด่นที่สุดได้แก่ มาเรียน โดเฮอร์ตี้ ผู้แสวงหานักแสดงไฟแรงตามโรงเรียนการแสดงในนิวยอร์ก การผลักดันของเธอช่วยสร้างอาชีพให้นักแสดงชั้นยอด ทั้ง เจมส์ ดีน, วอร์เรน เบ็ตตี้, อัล ปาชิโน่, โรเบิร์ต เดอ นีโร่, จีน แฮกแมน, เกร็น โครส จนถึง ไดแอน เลน ผลงานของเธอยังรวมถึงการจับคู่นักแสดงให้ดูเข้าขากันบทจอ ทั้งคู่ของ จอน วอย และ ดัสติน ฮอฟแมน ใน Midnight Cowboy

หนังออสการ์ปี 1969 และคู่ของ เมล กิบสัน และ แดนนี โกลเวอร์ ใน Lethal Weapon หนังแอ็คชันสุดฮิตยุค 80 ซึ่งเธอยังเป็นผู้ผลักดันผู้คัดตัวนักแสดงรุ่นใหม่ทั้ง จูเลียท เทย์เลอร์ และ เอเลน ลูอิส ที่ต่อมา ได้เป็นผู้คัดตัวนักแสดงคู่บุญของผู้กำกับใหญ่อย่าง วูดี้ อัลเลน และ มอร์ติน สกอร์เซซี

แต่ที่ผ่านมาชื่อเสียงของผู้คัดตัวนักแสดงไม่เป็นที่รู้จักของคนดูหนังและยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควรโดยเพื่อนร่วมวงการ โดยเฉพาะสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์อเมริกา ไม่ยินยอมให้คำว่าผู้กำกับถูกนำไปใช้กับตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ผู้กำกับภาพยนตร์ เช่นเดียวกับออสการ์ที่ไม่มีรางวัลในสาขาการคัดตัวนักแสดงยอดเยี่ยม แม้แต่การเสนอชื่อ มาเรียน โดเฮอร์ตี้ เพื่อรับรางวัลออสการ์เกียรติยศเมื่อปี 1991 ก็ไม่ได้รับการอนุมัติ แต่ถึงแม้โดเฮอร์ตี้จะไร้ซึ่งรางวัลออสการ์จนกระทั่งเธอเสียชีวิตไปเมื่อปี 2011 แต่ผลงานของเธอและที่บรรดาผู้คัดตัวนักแสดงสร้างเอาไว้ในวงการ ก็ยังเป็นสิ่งที่บรรดานักแสดงน้อยใหญ่ระลึกเสมอว่า หากไม่ใช่เพราะสายตาอันเฉียบแหลมของอาชีพผู้คัดตัวนักแสดง พวกเขาคงไม่มีโอกาสในวงการเหมือนเช่นทุกวันนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง