เวทีรับฟังโครงการบริหารจัดการน้ำครั้งที่ 3 ที่ จ.อ่างทอง

ภูมิภาค
28 ต.ค. 56
07:47
57
Logo Thai PBS
เวทีรับฟังโครงการบริหารจัดการน้ำครั้งที่ 3 ที่ จ.อ่างทอง

เวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท วันนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ซึ่งจัดที่ จ.อ่างทอง ประชาชน เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก บางส่วนเห็นด้วยกับการสร้างคันปิดล้อม และส่วนหนึ่งเสนอให้รัฐบาล ขุดลอกคูคลองธรรมชาติในจังหวัด เพราะจะช่วยลดงบประมาณในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

เวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการบริหารจัดการน้ำใน จ.อ่างทอง ในช่วงเช้ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเล็กน้อย เนื่องจากว่าต้องทำให้กระบวนการแล้วเสร็จภายใน 11.00 น.ขณะที่ชาวบ้านภายในงานระบุว่าวันนี้มีปัญหาในเรื่องของการได้ยินทำให้ไม่ได้ยินวิทยากรพูดเรื่องการสร้างคันปิดล้อมเป็นอย่างไร ทำให้ชาวบ้านสับสนกับข้อมูล

รูปแบบของเวทีการรับฟังความคิดเห็นโครงการบริหารจัดการน้ำในของประชาชนใน จ.อ่างทอง ในวันนี้มีการปรับรูปแบบจากที่ประชาชนมีโอกาสซักถาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในช่วงเช้าอย่างเต็มที่ ก็เปลี่ยนเป็นการเปิดวีดีทัศน์ และให้วิทยากรให้ข้อมูลกับประชาชน หลังจากนั้นประชาชนจึงจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แต่ก็มีเวลาอย่างจำกัด เนื่องจากขั้นตอนเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงเช้าต้องเสร็จสิ้นก่อนเวลา 11.00 น.

ขณะที่ผู้จัดงานบอกว่ารูปแบบขั้นตอนที่รวบรัดมากขึ้นเพื่อให้ในช่วงบ่าย ชาวบ้านจะได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในห้องประชุมย่อยได้อย่างเต็มที่ ขณะที่จากการสังเกตุพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่นั่งอยู่บริเวณด้านหลังของห้องประชุม ไม่ได้ยินว่าวิทยากรให้ข้อมูลอะไร เพราะว่าลำโพงทางด้านหลังมีน้อย รวมทั้งสถานที่จัดงานไม่เอื้ออำนวยเนื่องจากเป็นห้องประชุมที่เปิดโล่ง ทำให้เสียงก้องทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจข้อมูลการสร้างคันปิดล้อมในสัญญา A2 ว่าถ้าสร้างขึ้นแล้วจะเกิดผลดี หรือผลเสียกับ จ.อ่างทองอย่างไรบ้าง

ขณะที่ผู้สังเกตุการณ์จาก จ.ปทุมธานี บอกว่ารูปแบบการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ไม่แตกต่างจาก 2 จังหวัดที่ผ่านมา คือยังไม่ได้ทำตามคำสั่งของศาลปกครอง ที่ให้นำแผนแม่บทของการบริหารจัดการน้ำมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันความเห็นของชาว จ.อ่างทองในวันนี้เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ยังเป็นไปอย่างจำกัด

ขณะที่ชาว จ.อ่างทอง ที่มารับฟังความคิดเห็นกว่า 1,000 คนในหลายตำบลในวันนี้ต่างส่งตัวแทนมาแสดงความคิดเห็นที่มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยซึ่งส่วนใหญ่มองว่าพื้นที่ปิดล้อมในพื้นที่ A2 รัฐบาลควรลงพื้นที่สำรวจก่อนการก่อสร้าง ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนก็มองว่า การใช้งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เป็นการใช้งบประมาณที่มากเกินไปในการจัดการน้ำ ซึ่งหากมีการก่อสร้างตามแผนงานจริงควรมีการคำนึงถึงการเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์กับชาวบ้านในฤดูแล้ง ขณะเดียวกันก็มีการเสนอให้มีการขุดลอกคูคลองเพิ่มมากขึ้นเพื่อลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง