นายกฯถกรับมืออภิปรายไม่ไว้วางใจ

23 พ.ย. 56
14:19
22
Logo Thai PBS
นายกฯถกรับมืออภิปรายไม่ไว้วางใจ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุม ครม.นัดพิเศษ วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งนอกจากจะต้องร่วมประเมินสถานการณ์การชุมนุมแล้ว ครม.ยังต้องเตรียมพร้อมข้อมูลชี้แจง ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล คือนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะที่กระทรวงมหาดไทยเตรียมพร้อมตั้งศูนย์ศึกษาชี้แจงข้อมูล 2 ส่วน คือ ฝ่ายข้าราชการประจำ และฝ่ายการเมือง โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรวางกรอบการอภิปราย 2 วัน ตั้งแต่เช้าวันอังคารที่ 26 ถึงเวลา 24.00 น. ของวันที่ 27 และกำหนดให้เปิดลงมติ ในเช้าวันที่ 28 พฤศจิกายน

การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 2 ปี โดยครั้งนี้วางกรอบเวลาไว้ 2 วัน 2 คืนเท่านั้น คือวันที่ 26 และ 27 ก่อนลงมติในเช้าวันที่ 28 พฤศจิกายน และต้องปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไป ตามที่มีพระราชกฤษฏีกาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ครั้งนี้ ฝ่ายค้านตั้งข้อกล่าวหาการบริหารราชการแผ่นดินบกพร่อง ล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ ทั้งภูมิปัญญาและจิตสำนึกที่จะมีต่อสภาและประชาชน ฝ่ายค้านยังตั้งข้อกล่าวหานายกรัฐมนตรีลอยตัวหนีปัญหา เลือกปฏิบัติ ก้าวก่ายสถาบันหลักในระบอบประชาธิปไตยทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และองค์กรอิสระ

ฝ่ายค้านยังกล่าวอ้างในญัตติว่า นายกรัฐมนตรีมุ่งเน้นปัญหาของบุคคลในครอบครัว มากกว่าปัญหาของประชาชน และมีพฤติกรรมทุจริต ปล่อยปละละเลย ปกปิดข้อมูลและส่งเสริมให้เกิดการแสวงหาประโยชน์มิชอบ จนนำพายุคสมัยไปสู่ยุคคอร์รัปชั่น โดยมิได้จัดการตามอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด

อีกทั้งฝ่ายค้านยังระบุในญัตติว่า นายกรัฐมนตรีวางแผนใช้อำนาจออกกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์มิชอบ ทำลายความเห็นต่างทางการเมือง ปล่อยให้บุคคลในครอบครัวสั่งการจนกลายเป็นปัญหาทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ประกอบกับการใช้เสียงข้างมากเป็นข้ออ้างใช้อำนาจตามใจฝ่ายเดียว จนเกิดความแตกแยกร้าวฉานขึ้น

ด้วยข้อกล่าวหาตามญัตติ และเทียบเคียงกับผลการดำเนินงานใน 2 ปีที่ผ่านมา ผนวกกับสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เป็นข้อสังเกตได้ว่า ฝ่ายค้านเตรียมอภิปราย 3 เรื่องหลัก คือ การอภิปรายผลการดำเนินนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะโครงการที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด คือ โครงการรับจำนำข้าว

และอาจเป็นไปได้สูง หากจะพาดพิงกล่าวหาถึงการทุจริต ก็น่าจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับโครงการบริหารจัดการน้ำท่วมน้ำแล้ง 350,000 ล้านบาท ซึ่งวางแนวทางดำเนินการผ่านกระทรวงมหาดไทย คือรัฐมนตรีจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ภายใต้การกำกับดูแลของรองนายกรัฐมนตรี หรือนายปลอดประสพ สุรัสวดี ซึ่งชื่อ 1 ใน 3 บุคคลทางการเมืองที่ฝ่ายค้านยื่นคำร้องถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ส่วนประเด็นที่ 3 แน่นอนว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การอภิปรายจะเชื่อมโยงไปถึงสถานการณ์การชุมนุมของมวลชนกลุ่มต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม และพาดพิงไปถึงบุคคลในตระกูล "ชินวัตร" ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอาจหยิบยกคดีต่างๆ จากเหตุยึดอำนาจรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มาอ้างอิงเจตจำนงของการตรากฎหมายนิรโทษกรรม

กระทรวงมหาดไทยเตรียมความพร้อมจัดตั้งศูนย์ศึกษาชี้แจงข้อมูล หรือ วอร์รูมแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ฝ่ายข้าราชการประจำ ที่จะเตรียมข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานประจำ และโครงการต่างๆ ส่วนที่ 2 คือ ฝ่ายการเมือง จะมีคณะทำงานการเมืองที่จัดตั้งขึ้นเป็นกรณีเฉพาะ

ขณะที่รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี เรียกประชุม ครม.นัดพิเศษในวันจันทร์นี้ เพื่อประเมินสถานการณ์ชุมนุม และเตรียมข้อมูลไว้อภิปรายชี้แจงด้วย โดยมีรายงานว่าจะมอบหมายให้รัฐมนตรีใกล้ชิดและที่เกี่ยวข้องตามญัตติ จัดตั้งวอร์รูมที่สภาแล้ว ยังมีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมประเมิน และกำหนดแนวทางการอภิปรายที่จะมีขึ้นด้วย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง