สำรวจทิศทางศก. ปัญหาราคาสินค้าแพง ทำคนใช้บัตรเครดิตกังวล ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรูดบัตร

เศรษฐกิจ
7 ก.ค. 54
08:46
6
Logo Thai PBS
สำรวจทิศทางศก. ปัญหาราคาสินค้าแพง ทำคนใช้บัตรเครดิตกังวล ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรูดบัตร

ตั้งแต่ต้นปี 2554 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคต่างต้องเผชิญกับปัญหาภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคบางกลุ่ม ที่ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคงจะมีผลต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเช่นกัน เนื่องจากบัตรเครดิต เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ทำให้ในช่วงที่ผ่านๆ มา ผู้ประกอบการบัตรเครดิตต่างทำแคมเปญการตลาดกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต โดยเฉพาะแคมเปญสิทธิประโยชน์บัตรเครดิตที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ใช้จ่ายที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์ท ตามวงเงินที่กำหนดจะได้รับเงินคืนเข้าบัญชี เป็นต้น และรวมถึงแคมเปญส่วนลด หรือคะแนนสะสมแลกแทนเงินสด ก็จัดว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรจะได้รับในภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจ พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย และพฤติกรรมการชำระบัตรเครดิตของผู้ถือบัตรเครดิต ในระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 17 มิถุนายน  2554 ที่ผ่านมา  โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

 การปรับขึ้นราคาสินค้ามีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ถือบัตรเครดิต

การปรับขึ้นราคาสินค้าจะมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรเครดิตของผู้ถือบัตรหรือไม่ โดยผู้ที่คิดว่าตนเองได้รับผลกระทบ คิดเป็นร้อยละ 68.8 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.2 ของผู้ตอบแบบสอบถาม

ผู้ถือบัตรเครดิตใช้บัตรในการชำระค่าสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์ทบ่อยที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อสอบถามถึงการใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าหรือบริการใดบ่อยครั้งที่สุด พบว่า ผู้ถือบัตรเครดิตกว่าร้อยละ 23.1 ใช้บัตรเครดิตในการชำระค่าสินค้าในซุปเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์ท สำหรับการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ใช้บ่อยครั้งรองลงมา คือ การใช้จ่ายในร้านอาหาร คิดเป็นร้อยละ 20.2 ขณะที่ค่าน้ำมันรถ คิดเป็นร้อยละ 19.4 ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเรื่องของเครื่องแต่งกาย เช่น เสื้อผ้า, รองเท้า, เครื่องประดับ และกระเป๋า เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 15.1 ค่าที่พักโรงแรมและท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ 12.6 และอื่นๆ เช่น ดูหนัง จ่ายค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น คิดเป็นร้อยละ 9.6 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

ผู้ใช้บัตรเครดิตร้อยละ 63.3 ผ่อนชำระบัตรเครดิตเต็มจำนวน และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงการผ่อนชำระเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

 เมื่อสำรวจถึงพฤติกรรมการชำระบัตรเครดิต พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ชำระบัตรเครดิตเต็มจำนวน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63.3 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด ขณะที่ผู้ที่ชำระบัตรเครดิตมีสัดส่วนร้อยละ 36.7 ของผู้ตอบแบบสอบถาม

ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการชำระสินเชื่อบัตรเครดิตของผู้บริโภคเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ผ่อนชำระเครดิตร้อยละ 68.7 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการการผ่อนชำระบัตร คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.3 ของผู้ตอบแบบสอบถาม

ทิศทางเศรษฐกิจ ปัญหาราคาสินค้าแพง ปัจจัยสร้างความกังวลต่อผู้บริโภค

เมื่อถามถึงปัจจัยที่จะสร้างความกังวลและมีผลต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในระยะข้างหน้า โดยปัจจัยดังกล่าวนี้ มีผลต่อการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ซึ่งยังคงขึ้นอยู่กับความจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิตของผู้ถือบัตรเป็นสำคัญ จากผลสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างได้ให้ความสำคัญแต่ละปัจจัยในระดับที่ใกล้เคียงกัน โดยอันดับแรกที่ผู้ใช้บัตรเครดิตได้ให้ความสำคัญ  คือ  ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า คิดเป็นร้อยละ 22.6 ของผู้ตอบแบบสอบถาม

สำหรับปัจจัยที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของกลุ่มตัวอย่างรองลงมา คือ ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ร้อยละ 21.6 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ในอันดับถัดๆไป ได้แก่ ปัจจัยการเมืองในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 19.1 ความกังวลในเรื่องของความมั่นคงทางรายได้ คิดเป็นร้อยละ 18.6 และความกังวลเรื่องราคาน้ำมัน คิดเป็นร้อยละ 18.1 ของผู้ตอบแบบสอบถาม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง