พระต่างจังหวัดไม่เห็นด้วยเก็บภาษีวัด-พระสงฆ์ ระบุรายได้ไม่เท่ากัน-บางเดือนไม่พอค่าน้ำค่าไฟ

สังคม
26 พ.ค. 58
01:44
776
Logo Thai PBS
พระต่างจังหวัดไม่เห็นด้วยเก็บภาษีวัด-พระสงฆ์ ระบุรายได้ไม่เท่ากัน-บางเดือนไม่พอค่าน้ำค่าไฟ

พระต่างจังหวัดเชื่อว่าการเก็บภาษีวัดและพระสงฆ์ทำได้ยาก เพราะรายได้ของวัดแต่ละแห่งไม่เท่ากัน ขณะที่บางวัดมีเงินเหลือจากค่าใช้จ่ายแทบไม่เพียงพอ เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำบุญบริจาค

พระครูสุทธิวชิรศาสน์ เจ้าอาวาสวัดเสด็จ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เปิดเผยว่า วัดที่มีเงินมากจนสามารถนำเงินมาใช้ประโยชน์ได้นั้น มีเฉพาะในเมืองใหญ่ แตกต่างจากวัดต่างจังหวัดที่ไม่มีแม้แต่เงินจ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ จึงเห็นว่าไม่สมควรที่จะมีนโยบายจัดเก็บภาษีกับพระที่มีรายได้ตั้งแต่ 20,000 บาทต่อเดือน
 
ขณะที่รายได้หลักของวัดส่วนใหญ่มาจากการสร้างวัตถุมงคล ซึ่งนอกจากจะนำมาช่วยค่าใช้จ่ายในวัดที่มีพระถึง 36 รูป ก็เป็นกุศโลบายในการให้ญาติโยมมาทำบุญ แต่รายได้จากส่วนนี้ก็ไม่ได้มากพอ เพราะเมื่อหักต้นทุนก็จะต้องนำมาจ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงการบูรณะวัดต่างๆ ซึ่งแต่ละปี จะมีกฐิน ผ้าป่าสักครั้ง เงินที่ได้รับจากการบริจาคก็มีไม่มาก ไม่เหมือนกับวัดที่เจริญและมีชื่อเสียง จะมีญาติโยมเข้าไปทำบุญมาก
 
ส่วนการจัดเก็บภาษีพระสงฆ์ที่มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน พระครูสุทธิวชิรศาสน์เห็นว่า ในปัจจัยที่มาจากกิจนิมนต์ขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาของญาติโยม ทั้งนี้กิจนิมนต์ในแต่ละเดือนจะมี 4-5 ครั้ง ปัจจัยที่ได้รับจะอยู่ที่ 300- 400 บาท หากมีการเก็บภาษีจริง อาจส่งผลให้คนไม่ต้องการบวชเป็นพระ
 
ส่วนแนวคิดในการเวียนตำแหน่งเจ้าอาวาสทุก 5 ปี ยิ่งทำได้ยาก ซึ่งแต่ละวัดพระที่ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส ต้องเป็นที่ยึดเหนี่ยวของชาวบ้านในชุมชน จึงดำรงตำแหน่งไปจนถึงมรณภาพ ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน เรื่องเวียนตำแหน่งเจ้าอาวาสทุก 5 ปี

อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวคิดของคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เสนอให้จัดเก็บภาษีพระภิกษุที่มีรายได้ตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป และวัดที่จัดกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่งครม.ได้รับทราบข้อเสนอดังกล่าว และให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ศึกษาความเป็นไปได้ ภายใน 30 วัน หรือวันที่ 12 มิถุนายน 2558 ซึ่งนอกจากจะพูดถึงการจัดเก็บภาษีแล้ว ยังได้พูดถึงการปรับวาระเจ้าอาวาส เป็นคราวละ 5ปีด้วย

 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สื่อสังคมออนไลน์เคยมีการตั้งคำถามถึงการเก็บภาษีพระ จากกรณีที่อดีตพระภิกษุรูปหนึ่งครอบครองทรัพย์สินมีค่าหลายรายการ และมีการเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า พระภิกษุถือเป็นบุคคลธรรมดา หรือวัดจะเป็นนิติบุคคลที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งในบล็อกภาษีข้างถนน มีการพูดถึงในประเด็นนี้เช่นกัน โดยได้ตีความว่า พระสงฆ์ต้องห้ามเรื่องการเลือกตั้ง แต่ถือเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้ห้ามเรื่องการเสียภาษี
 
ทั้งนี้หากพิจารณารายได้ของพระสงฆ์ที่ได้รับการถวาย ถือเป็นรายได้ได้เปล่า เข้าเกณฑ์มาตรา 42 วรรค 10 เป็นเงินที่ได้จากการอุปการะ ธรรมจรรยา ขณะที่สิ่งของปัจจัย ที่ได้มาโดยไม่ได้ร้องขอ จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าหากเป็นเงินเดือน เช่น การสอนหนังสือตามมหาวิทยาลัย จะต้องเสียภาษี ขณะที่เงินที่ได้รับการถวาย หากนำเข้าบัญชีวัดที่ตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จะถือเป็นเงินบริจาค ไม่ต้องเสียภาษี และหากนำเข้าบัญชีส่วนตัว ก็จะเข้าหลักเกณฑ์เงินอุปการะที่ไม่ต้องเสียภาษี
 
และวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ถือเป็นนิติบุคคล แต่ไม่เข้าข่ายเป็นบริษัท ห้างหุ้นส่วน ตามกฎหมายประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องถูกตรวจสอบสถานะทางบัญชี งบบัญชี หรือการเสียภาษีแต่อย่างใด โดยมีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มหาเถรสมาคม เป็นผู้ตรวจสอบเท่านั้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง