“พล.ท.มนัส”อยู่ในค่ายทัพภาค4 ยังไม่ติดต่อมอบตัว นายกฯยันไม่ป้อง-ถ้าผิดจริง

อาชญากรรม
2 มิ.ย. 58
13:15
305
Logo Thai PBS
“พล.ท.มนัส”อยู่ในค่ายทัพภาค4 ยังไม่ติดต่อมอบตัว นายกฯยันไม่ป้อง-ถ้าผิดจริง

นายกรัฐมนตรียันไม่ปกป้องพล.ท.มนัส คงแป้น หลังถูกออกหมายจับคดีค้ามนุษย์ ขณะที่ผบ.ทบ. ระบุจะสั่งพักราชการ หรือสำรองราชการไว้ก่อน ด้านเจ้าตัวขอความเป็นธรรมจากสังคมยืนยันจะเข้ามอบตัว ผบก.ภ.จว.นครศรีฯระบุ พล.ท.มนัสอยู่บ้านพักในค่ายวชิราวุธ แต่ยังไม่ได้รับการประสานจากทหารว่าจะเข้ามอบตัวที่ไหน

วันที่ 2 มิ.ย.2558 พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ซึ่งถูกออกหมายจับในคดีค้ามนุษย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นคำสั่งพักราชการ โดยยืนยันจะเดินทางไปมอบตัวที่ สภ.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บังคับบัญชา ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก

นอกจากนี้ พล.ท.มนัส ยังขอความเป็นธรรมจากสังคม อย่าเพิ่งตัดสินว่าตนมีความผิด แต่ขอให้รอดูข้อมูลจากทั้งสองฝ่าย และยินดีให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทุกอย่าง โดยจะขอสู้คดีในชั้นศาลและพร้อมยอมรับคำตัดสิน

พล.ท.ปราการ ชลยุทธ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุว่า ผู้บัญชาการทหารบกได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทางวินัยแล้ว และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีโอกาสได้พบ หรือได้รับการประสานจากพล.ท.มนัส แต่มีรายงานว่า พล.ท.มนัสยืนยันจะเข้ามอบตัวที่สภ.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา และพร้อมจะต่อสู้คดีในชั้นศาล

ด้านพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ระบุถึงกรณีพล.ท.มนัส ว่า ให้ดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพราะตำรวจมีพยานหลักฐานที่ชัดเจน ยืนยันกองทัพบกจะไม่ปกป้อง หากพล.ท.มนัส มีความผิดจริง ตามที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ขณะนี้กองทัพบกได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โดยให้กองทัพภาคที่ 4 ดำเนินการและจะให้โอกาสพลโทมนัสได้ชี้แจง เบื้องต้นกองทัพบกจะใหัพักราชการหรือสำรองราชการพล.ท.มนัสไว้ก่อน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะสอบสวน ซึ่งหากพบว่ากระทำความผิด ก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ ตนจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เบื้องต้นไม่ทราบว่าพล.ท.มนัสเป็นตัวการใหญ่หรือไม่ แต่หากเกี่ยวโยงถึงใครก็จะถูกดำเนินคดีด้วย

ด้าน พล.ต.ต.เกียรติพงศ์ ขาวสำอาง ผบก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช ระบุว่า พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพบก ที่ถูกออกหมายจับคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา พักในเรือนพักข้าราชการทหารหลังหนึ่ง ในกองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อรอขั้นตอนการประสานงานของนายทหารพระธรรมนูญ และขั้นตอนการขอตัวจากกองทัพบก แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานมาจากฝ่ายทหาร และไม่มั่นใจว่า พล.ท.มนัสจะมอบตัวที่บก.ภ.จว.นครศรีธรรมราช หรือ บช.ภาค 8

ขณะที่พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับการประสานงานในการเข้ามอบตัวกับตำรวจ ซึ่งตามขั้นตอน ต้องรายงานให้ต้นสังกัดรับทราบ และการมอบตัว ต้องมีนายทหารพระธรรมนูญเป็นผู้ดำเนินการ ในการส่งมอบตัว

ด้านพ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า ปปง. ร่วมมือกับตำรวจ เพื่อขยายผลยึดทรัพย์ พล.ท.มนัสเนื่องจากมีข้อมูลชัดเจนว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ ที่ผ่านมาปปง. สามารถยึดทรัพย์ผู้ต้องหาขบวนการค้ามนุษย์รวมทั้งสิ้น 223 รายการ เช่น ที่ดิน บ้านพัก รถยนต์ รวมมูลค่ากว่า 102 ล้านบาท

ส่วนความคืบหน้ากรณีชาวโรงฮิงญาก่อเหตุวุ่นวายในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อคืนวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น

ความคืบหน้าเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องเพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยมากขึ้น
ส่วนความเสียหายมีทั้งสิ่งของและกระจกภายในเรือนนอน เจ้าหน้าที่ต้องเร่งซ่อมแซมอาคาร ป้องกันการก่อเหตุซ้ำ พร้อมหาทางลดความเครียดให้กับผู้ถูกควบคุมตัว

โดยเจ้าหน้าที่นำลวดหนามมาวางรอบอาคารเรือนนอน ในสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพภาคใต้จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวชาวโรฮิงญา ซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็ก รวม 94 คน หลังชาวโรฮิงญากลุ่มดังกล่าว ก่อความวุ่นวายทำลายสิ่งของและกระจกเรือนนอน ได้รับความเสียหาย

นางสุดารัตน์ ปานสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพภาคใต้ สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ซ่อมแซมกระจกที่แตก โดยนำไม้แผ่นมาปิดหน้าต่าง เพื่อป้องกันการทำลายกระจกแล้วหลบหนี พร้อมมีมาตรการป้องกันการหลบหนี โดยเพิ่มกำลังตำรวจและฝ่ายปกครองจังหวัด เฝ้าเวรยาม ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับเหตุวุ่นวายที่เกิดขึ้นมาจากการสื่อสารที่ไม่เข้าใจกัน ซึ่งสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพภาคใต้ สุราษฎร์ธานี ได้ขอสนับสนุนล่าม มาประจำที่สุราษฎร์ธานี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะนี้ขึ้นอีก รวมทั้งยังมีแนวคิดจัดกิจกรรมให้ชาวโรฮิงญา เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น

สำหรับโรฮิงญาซึ่งเป็นผู้หญิงและเด็ก ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสถานที่แห่งนี้ มีทั้งหมด 94 คน หลังถูกควบคุมตัวจากพื้นที่จ.ระนอง พังงา นครศรีธรรมราช และ สตูล ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะที่บางคน ถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่ปี 2555 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง