ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน (2) : เสียงจากซเรกอร์ อีกหนึ่งหมู่บ้านที่ต้องหลีกทางให้เขื่อน

30 มี.ค. 59
10:35
353
Logo Thai PBS
ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน (2) : เสียงจากซเรกอร์ อีกหนึ่งหมู่บ้านที่ต้องหลีกทางให้เขื่อน
เรื่องราวของผู้คนที่ต้องอพยพจากหมู่บ้านที่อยู่มาดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อเปิดทางให้การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำนั้นมีอยู่มากมายและเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่การอพยพไปอยู่ที่ใหม่ในอดีตอาจไม่โหดร้ายเท่าในปัจจุบันด้วยที่ดินและทรัพยากรยังอุดมสมบูรณ์

"หมู่บ้านซเรกอร์" จ.สตึงเตรง ประเทศกัมพูชา เป็นหมู่บ้านที่จะถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 (Lower Sesan 2 dam) ชาวบ้านถูกสั่งให้อพยพไปอยู่ที่ใหม่ที่รัฐจัดหาให้ ชาวบ้านซเรกอร์รู้ว่าชีวิตในที่ดินที่รัฐจัดให้ใหม่จะไม่ดีอย่างเดิม แต่ดูเหมือนพวกเขาจะไม่มีทางเลือก

แม่น้ำเซซานเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชาและเป็นส่วนหนึ่งของ "ลุ่มน้ำสามเซ" ที่ประกอบด้วยแม่น้ำเซกอง แม่น้ำเซปรก และแม่น้ำเซซาน

เขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำเซซานตอนล่าง 2 เป็นเขื่อนแห่งแรกที่กำลังมีการก่อสร้างบนแม่น้ำเซซานและเป็นเขื่อนแรกในลุ่มน้ำสามเซ จุดที่สร้างเขื่อนอยู่ใน จ.สตึงเตรง ห่างจากจุดที่แม่น้ำโขงบรรจบกับแม่น้ำเซซาน 25 กิโลเมตร มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 400 เมกะวัตต์ ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จไปแล้วกว่าร้อยละ 50 รัฐบาลกัมพูชาระบุว่าเขื่อนแห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในประเทศและเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ มีกำหนดเปิดใช้งานกลางปี 2560

 

พื้นที่ป่าไม้ ชุมชนและที่ทำกินของชาวบ้านในลุ่มน้ำสามเซกว่า 335 ตารางกิโลเมตรจะกลายเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแห่งนี้ และชาวบ้านเกือบ 5,000 คนจะต้องถูกอพยพไปอยู่ในที่ดินจัดสรรของทางการ 

ทีมข่าวไทยพีบีเอสเดินทางไปที่หมู่บ้านซเรกอร์หรือบ้านนากอร์ใน อ.เซซาน จ.สตึงเตรง หนึ่งใน 6 หมู่บ้าน ที่รัฐบาลกำหนดให้ต้องอพยพออกจากริมแม่น้ำเซซาน ก่อนหน้านี้ทีมข่าวเดินทางไปที่หมู่บ้านปลุก ซึ่งประชาชนบางส่วนต้องถูกอพยพเพราะบ้านของพวกเขาจะถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 เช่นกัน

ในการเดินทางไปซเรกอร์ เราออกจากตัวเมืองสตึงเตรงโดยใช้ทางหลวงระหว่างเมืองก่อนจะตัดเข้าสู่ถนนลูกรังรวมระยะทางกว่า 80 กิโลเมตร ที่ปากทางเข้าหมู่บ้านมีป้ายเล็กๆ เขียนไว้ว่า "ถ้ามีเขื่อนก็จะสู้ตาย" บอกให้รู้ว่าเรามาถึงจุดหมายแล้ว

 

หมู่บ้านซเรกอร์หรือเรียกตามเขตการปกครองแบบกัมพูชาว่า "ซเรกอร์คอมมูน" ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเซซาน มีประชากรอยู่ราว 500 ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านใหญ่ที่สุดที่ต้องถูกอพยพจากการสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ชาวบ้านที่นี่เป็นชนชาติเขมรเชื้อสายลาว ปลูกบ้านไม้ตามแบบพื้นถิ่นเรียงรายอยู่สองข้างทางลูกรังเล็กๆ ชาวบ้านร้อยละ 70 มีอาชีพทำนา

ยามเย็นริมแม่น้ำเซซาน ชาวบ้านจะพากันมาทำกิจวัตรส่วนตัว หญิงชาวซเรกอร์ ทั้งสาวรุ่น เด็ก และแม่บ้านต่างลงมาอาบน้ำ สระผม และซักผ้า บางคนล่องเรือมาจากที่นามาที่ท่าน้ำเพื่อขนถ่ายผลผลิตทางการเกษตรที่ใส่มาในกระสอบขึ้นรถอีแต๋นที่มารอรับ ขณะที่บางคนสาละวนกับการขนสัมภาระลงเรือไปค้างแรมที่ที่นาเพื่อเฝ้าวัว

ภาพวิถีชีวิตที่เช่นนี้กำลังกลายเป็นอดีตพร้อมกับการมาถึงของเขื่อน

ไฟฟ้ายังมาไม่ถึงหมู่บ้านซเรกอร์ บางบ้านจึงติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บางบ้านใช้เครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงทำให้มีไฟพอใช้สำหรับให้แสงสว่างยามค่ำคืนและสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ไม่กี่ชิ้นอย่างโทรทัศน์และเลื่อยไฟฟ้า

 

 

เซียก แม่โขง หัวหน้าซเรกอร์คอมมูน ให้ข้อมูลว่าขณะนี้มีครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนเพื่ออพยพออกจากหมู่บ้านแล้ว 246 ครัวเรือน ครอบครัวไหนที่เตรียมถูกอพยพจะมีสเปรย์สีแดงพ่นเป็นตัวอักษร "LSS2" ตามด้วยตัวเลขไว้บนฝาบ้าน

นางสรน สคม หญิงม่ายชาวซเรกอร์วัย 60 ปี เป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่ต้องการอพยพจากหมู่บ้านซเรกอร์และเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้หญิงของซเรกอร์ที่ประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2

สรนหาเลี้ยงชีพด้วยการปลูกข้าวบนที่นาขนาด 3 เฮกตาร์เพื่อขายและบริโภคในครัวเรือน ซึ่งเธอบอกว่าได้ผลผลิตปีละ 200 กระสอบ แม้จะไม่เกิดที่หมู่บ้านซเรกอร์ แต่สรนมีความผูกพันกับซเรกอร์มากเป็นพิเศษเพราะเชื่อว่าหมู่บ้านนี้ทำให้ครอบครัวของเธออยู่เย็นเป็นสุข การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในครอบครัวทำให้เธอตัดสินใจย้ายที่อยู่มาแล้ว 2 ครั้ง แต่นับตั้งแต่มาปักหลักที่ซเรกอร์ก็ไม่มีใครในครอบครัวเสียชีวิตอีก

"ไม่อยากย้าย บ้านนี้อยู่นานแล้ว เคยย้ายมาสามแห่ง ที่แรกอยู่ไม่ได้มีคนตายหลายคน บ้านที่สองก็มีคนเจ็บป่วย คนตาย จนย้ายมาที่นี่เป็นบ้านที่สาม คนอยู่สุขสบาย ไม่เจ็บไม่ไข้ ย้ายใหม่ไม่ดี" เธอกล่าวผ่านล่ามภาษาเขมร  

ที่ดินที่รัฐบาลเตรียมไว้ให้ผู้อพยพจากการสร้างเขื่อนตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเซซาน อยู่ห่างจากหมู่บ้านซเรกอร์ 7 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวเขื่อนเพียง 3 กิโลเมตร จากหมู่บ้านซเรกอร์ทีมข่าวนั่งเรือข้ามฝั่งแม่น้ำแล้วต่อรถอีแต๋นเพื่อไปสำรวจที่ดินจัดสรรนั้น รถอีแต๋นวิ่งไปบนทางดินที่ขรุขระและมีหลุมลึกเป็นช่วงๆ ผ่านป่าไผ่สองข้างทางจนไปถึงที่โล่งๆ มีซากต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นและเผาอยู่หลายต้น มีแคมป์คนงาน เครื่องจักรหนักและรถแทร็กเตอร์อยู่มุมหนึ่ง ชาวบ้านบอกว่าบริเวณนี้อยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 รัฐบาลจึงให้สัมปทานเอกชนเข้ามาตัดไม้ออกจากพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นป่า 

 

จากจุดที่เอกชนกำลังตัดไม้ออกจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เราเดินทางต่อมาถึงพื้นที่อพยพที่รัฐบาลเตรียมไว้ มีชาวซเรกอร์มาจับจองที่ดินสร้างบ้านแล้ว 1 หลัง เจ้าของบ้านหลังนี้เล่าให้ฟังว่าเขาย้ายบ้านมาโดยไม่รู้ว่าทางการจะต้องให้แต่ละครัวเรือนจับสลากแปลงที่ดินสำหรับสร้างบ้าน เขาบอกว่าที่นี่ไม่มีแหล่งน้ำ ทุกวันนี้ต้องรอน้ำจากบริษัทก่อสร้างเขื่อนที่จะบรรทุกใส่รถกระบะมาเติมให้

ความอุดมสมบูรณ์ของหมู่บ้านซเรกอร์เดิมริมน้ำเซซานที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับความแห้งแล้งอย่างแสนสาหัสของหมู่บ้านอพยพที่รัฐบาลเตรียมไว้ให้ เป็นคำตอบที่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดชาวบ้านซเรกอร์ถึงไม่อยากย้ายออกจากถิ่นฐานเดิม

ระหว่างที่ทีมข่าวเก็บข้อมูลและดูพื้นที่อพยพที่รัฐบาลเตรียมให้ชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ของบริษัทก่อสร้างเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ได้ขับรถกระบะและลงมาบันทึกภาพและถามกับผู้นำทางของทีมข่าวว่ามาทำอะไร เขาบอกว่าไม่ต้องการให้คนต่างถิ่นมาเห็นที่นี่ แต่ชาวบ้านซเรกอร์ที่เดินทางมาด้วยยืนยันว่า พวกเขามีสิทธิ์ที่จะมาดูที่ดินที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้

 

ชาวซเรกอร์ครึ่งหมู่บ้านปฏิเสธที่จะย้ายไปอยู่ที่ใหม่เพราะหมู่บ้านและที่ทำกินเดิมมีความอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าวทำการเกษตรได้ดี มีน้ำจากแม่น้ำเซซานหล่อเลี้ยงชีวิต สิ่งเหล่านี้ไม่อาจเทียบได้กับที่ดินที่เต็มไปด้วยหินและความแห้งแล้ง

หลังจากได้เห็นหมู่บ้านอพยพและที่ทำกินแห่งใหม่ที่รัฐเตรียมไว้ให้ นางสรนยื่นคำขาดว่า หากจะต้องอพยพออกจากหมู่บ้านซเรกอร์ ที่ดินแห่งใหม่ต้องมีน้ำและปลาเหมือนกับหมู่บ้านเดิมที่ริมแม่น้ำเซซาน

"บ้านใหม่ไม่มีน้ำ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเอาน้ำมาจากไหน รัฐบาลบอกว่าจะสร้างให้ ก็ไม่รู้ว่าจะสร้างอะไร" เธอกล่าว

 

 

จัน ทน ชาวบ้านซเรกอร์วัย 73 ปี ที่อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ต้องการย้ายออกจากหมู่บ้าน

รัฐบาลสัญญาว่าจะให้ที่ดินสร้างบ้านคนละ 100 ตารางวาและที่ดินทำกินอีกครัวเรือนละ 5 เฮกตาร์ สำหรับคนที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลสร้างบ้านให้จะได้เงินสำหรับสร้างบ้าน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 216,000 บาท แม้ว่าที่ดินทำกิน 5 เฮกตาร์จะมากกว่าที่ดิน 2 เฮกตาร์ที่พ่อเฒ่าจันมีอยู่ในตอนนี้ แต่เขาก็ยืนยันว่าจะไม่ย้ายไปอยู่ที่ใหม่ ด้วยเหตุผลว่าที่ดินที่รัฐจัดสรรให้นั้น ไม่ใช่ที่ดินที่เขามีสิทธิ์เลือกเอง ดินก็ไม่ดี ปลูกพืชไม่ได้

พ่อเฒ่าจันยังบอกอีกด้วยว่า เงินค่าสร้างบ้าน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ที่รัฐสัญญาว่าจะให้นั้นน้อยเกินไป เพราะปัจจุบันสร้างบ้านหลังหนึ่งต้องใช้เงินราว 20,000-30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือถ้าหากจะให้ชาวบ้านหาไม้ที่ปลูกเรือนเอง ก็แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกวันนี้ไม่มีไม้ให้ชาวบ้านไปตัดมาปลูกบ้านเหมือนในอดีตแล้ว

"จากใจผม ถึงจะให้เงินก็ไม่อยากย้าย เพราะบ้านนี้ไม่ใช่อยู่กันมาแค่ 4-5 ปี เราอยู่กันมาไม่ต่ำกว่า 60 ปี ประเพณีของพวกเราเคยอยู่อย่างมีความสุข การกิน บ้านเรือน ไม่มีการเจ็บไข้ ถ้าเราไปอยู่บ้านใหม่จะมีปัญหา ประชาชนจะเจ็บไข้และอดอยาก" เขากล่าว

ทน แปง ลูกสาวของนายจันสนับสนุนความเห็นของพ่อ เธอเชื่อว่าการย้ายไปอยู่ที่ใหม่เท่ากับต้องทิ้งกระดูกบรรพบุรุษที่ฝังไว้ที่แผ่นดินในหมู่บ้าน วิญญาณของปู่ย่าตายายจะไม่สามารถติดตามไปปกป้องคุ้มครองลูกหลานได้เหมือนที่ซเรกอร์

เธอเห็นด้วยว่าค่าชดเชยที่รัฐสัญญาว่าจะจ่ายให้เพื่อไปสร้างบ้านนั้นน้อยเกินไป จำนวนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะเงิน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นี้แทบจะไม่เพียงพอต่อการสร้างบ้าน และที่สำคัญค่าชดเชยที่รัฐคำนวณให้นี้ไม่รวมถึงการสูญเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรจากแม่น้ำเซซาน ที่เป็นแหล่งอาหารเพื่อการยังชีพและหารายได้จากการทำประมงและเลี้ยงปลา

เซียก แม่โขง หัวหน้าซเรกอร์คอมมูน บอกว่าเขากำลังเตรียมการเจรจากับนายกแขวงเขตสตึงเตรงอีกครั้งว่าขอให้เพิ่มค่าชดเชยให้ชาวบ้าน เพราะเงินจำนวน 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นไม่เพียงพอต่อการสร้างบ้านใหม่

นอกจากเรื่องค่าชดเชยที่เห็นว่าน้อยเกินไปแล้ว ชาวบ้านยังไม่เห็นด้วยกับวิธีการให้จับฉลากแปลงที่ดินปลูกบ้านและที่ดินทำกินซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้จับฉลากในเดือนเมษายน 2559 โดยชาวบ้านต้องการมีอิสระในการเลือกที่ปลูกบ้านและที่ดินทำกินเองได้ เมื่อเลือกได้แล้วจึงให้เจ้าหน้าที่มารับรอง แต่หากเป็นพื้นที่ที่ปลูกบ้านหรือทำการเกษตรไม่ได้ตามกฎหมาย ทางการก็จะต้องหาที่ดินให้ใหม่แทน

 

หัวหน้าคอมมูนยืนยันว่าจะนำข้อเสนอต่างๆ ของชาวบ้านไปรายงานต่อเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพื่อพิจารณา ทั้งเรื่องค่าชดเชย การเลือกที่ดินสร้างบ้านและที่ดินทำกิน รวมทั้งเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับกระดูกบรรพบุรุษที่จะต้องจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน

ไม่มีใครตอบได้ว่า ชะตากรรมของชาวซเรกอร์จะลงเอยอย่างไร ทางการจะรับฟังและทำตามข้อเรียกร้องของพวกเขาหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือเรื่องราวของหมู่บ้านซเรกอร์ริมแม่น้ำเซซานแห่งนี้จะกลายเป็นอีกหนึ่งตำนานของหมู่บ้านอันอุดมสมบูรณ์ที่กลายเป็นอดีตเพราะการก่อสร้างเขื่อน

ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นตอนที่ 2 ของรายงานชุด "ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน: เขื่อนในกัมพูชากับอนาคตลุ่มน้ำสามเซ" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส อินเตอร์นิวส์ และองค์การ PACT ประจำประเทศไทย ที่สนับสนุนทุนจำนวนหนึ่งในการผลิตสารคดีข่าวเพื่อสำรวจผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขงของประเทศกัมพูชา อ่านรายงานพิเศษและชมคลิปทั้งหมดได้ที่ www.thaipbs.or.th/sesandams

ข่าวที่เกี่ยวข้อง