ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน (4): เขื่อนผลิตไฟฟ้า ความหวังพัฒนาคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจกัมพูชา

สิ่งแวดล้อม
2 เม.ย. 59
13:18
710
Logo Thai PBS
ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน (4): เขื่อนผลิตไฟฟ้า ความหวังพัฒนาคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจกัมพูชา
เหตุการณ์ไฟดับในกรุงพนมเปญและจังหวัดอื่นๆ อีก 24 จังหวัดเมื่อคืนวันที่ 26 พ.ย.2558 กลายเป็นข่าวใหญ่ของประเทศกัมพูชา

เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกของประชาชนที่กำลังอยู่ระหว่างฉลองเทศกาลลอยกระทง สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีรีบออกแถลงการณ์ชี้แจงทันทีว่าเหตุไฟดับครั้งนี้ไม่ใช่เหตุก่อการร้าย แต่เกิดจากความขัดข้องในการจ่ายกระแสไฟฟ้าจากเวียดนามที่กัมพูชามีสัญญาซื้อไฟฟ้าเข้ามาใช้ในประเทศ

เหตุไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างเวลา 22.00-23.00 น. แม้ช่วงที่ไฟฟ้าดับจะกินเวลาเพียง 1 ชั่วโมง แต่ก็บอกอะไรหลายอย่างถึงสถานการณ์ไฟฟ้าของกัมพูชา ทั้งในแง่ปริมาณการใช้และการจัดหาไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้ว พนมเปญยังเป็นเมืองที่เนื้อหอมในด้านการค้าการลงทุน

โครงการอสังหาริมทรัพย์ บ่อนคาสิโน ห้างสรรพสินค้าที่เพิ่งเปิดให้บริการ ล้วนสะท้อนถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเมือง และนั่นย่อมหมายถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มากกว่าพื้นที่อื่นของประเทศ

การไฟฟ้าแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา (Electricity Authority of Cambodia--EAC) ระบุว่า 1 ใน 10 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกรุงพนมเปญ บริโภคไฟฟ้าถึงร้อยละ 90 มีปริมาณการใช้ไฟเฉลี่ยวันละ 300 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไฟฟ้าที่นำเข้าจากเวียดนามถึง 120 เมกะวัตต์ เหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมาย เพราะในเมื่อปริมาณไฟฟ้าเกือบครึ่งหนึ่งที่ชาวกัมพูชาใช้ในแต่ละวันมาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ เวียดนาม เมื่อระบบการจ่ายไฟจากเวียดนามขัดข้อง เมืองหลวงแห่งนี้จึงตกอยู่ในความมืด

"ไฟฟ้าดับเป็นเรื่องปกติของที่นี่"

นายสมธีริท ดิน นายกสมาคมโรงแรมกัมพูชา กล่าวว่า เหตุการณ์ไฟดับเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในกัมพูชา เขามองในแง่ดีว่า อย่างน้อยๆ ปัจจุบันนี้กัมพูชาก็มีความมั่นคงทางไฟฟ้ามากกว่าในอดีต ซึ่งน่าจะเป็นเพราะกัมพูชาทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นทั้งจากไทย เวียดนาม และลาว คนเก่าคนแก่ที่นี่รู้ดีว่าในอดีต พนมเปญมีไฟฟ้าใช้เพียงวันละ 30 นาทีต่อวันและเพียง 1 วันต่อสัปดาห์ จากนั้นระยะเวลาที่ชาวพนมเปญมีไฟฟ้าใช้ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1 วันต่อสัปดาห์ แต่ยังคงจำกัดอยู่ที่วันละ 30 นาทีในตอนกลางคืน แล้วจึงเพิ่มมาเป็นทุกวันๆ ละ 1 ชั่วโมง

นายสมธีริทตั้งขอสังเกตว่า พื้นที่ที่ประสบปัญหาไฟฟ้าดับเป็นประจำในกรุงพนมเปญมีอยู่ไม่กี่พื้นที่ หนึ่งในนั้นคือ "ตลาดรัสเซีย" แหล่งช็อปปิ้งชื่อดังกลางกรุงพนมเปญ คล้ายตลาดจตุจักรของเมืองไทย บางครั้งไฟดับนานครึ่งวัน บางครั้ง 30 นาที แต่สถานที่สำคัญอย่างเช่นเขตพระราชวังหรือสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมมักจะไม่ค่อยเจอปัญหาไฟดับ สำหรับกิจการอื่นๆ อย่างโรงแรม ผู้ประกอบการจะเตรียมเครื่องปั่นไฟไว้ใช้ในกรณีไฟดับ

"โรงแรมเล็กๆ ใช้เครื่องปั่นไฟได้ แต่โรงแรมขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ต้องซื้อเครื่องปั่นไฟเครื่องใหญ่ซึ่งราคาสูงประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถ้าใช้แค่ไม่กี่ครั้งต่อปี ก็ไม่คุ้ม" เขาระบุพร้อมกับยอมรับไฟฟ้าดับเป็นปัญหาหนึ่งของภาคธุรกิจ "วันนี้โครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่งของเราก็เจอปัญหาไฟดับตั้งแต่ 09.30 น. จนถึงตอนนี้ 14.00 น. ก็ยังดับอยู่" สมธีริทให้สัมภาษณ์ทีมข่าวไทยพีบีเอสในกรุงพนมเปญเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559

 

 

รายงานข้อมูลพลังงานของกัมพูชาประจำปี 2014 ที่จัดทำโดยการไฟฟ้าแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาระบุว่า ปริมาณการผลิตไฟฟ้าของกัมพูชาในปัจจุบันยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งานพื้นฐานในประเทศ ซึ่งมีความต้องการใช้ตลอด 24 ชม. อีกทั้งคุณภาพของไฟฟ้ายังไม่เสถียร

ข้อมูลภาคการไฟฟ้าของกัมพูชาใน ปี 2013-2014 ยังชี้ให้เห็นว่า กัมพูชานำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านถึงร้อยละ 40-50 ขณะที่จำนวนครัวเรือนชาวกัมพูชาที่เข้าถึงไฟฟ้าอยู่ที่ร้อยละ 31 รัฐบาลกัมพูชาวางแผนขยายการผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตัวเองภายใต้ "แผนพัฒนาพลังงาน ปี 2008-2021" และตั้งเป้าว่าจะสามารถให้บริการกระแสไฟฟ้าทุกหมู่บ้านได้ภายในปี 2020 และครัวเรือนเข้าถึงไฟฟ้าได้ร้อยละ 70 ของทั้งประเทศในปี 2030

ขณะที่กรมพัฒนาพลังงาน กระทรวงการเหมืองแร่และพลังงานของกัมพูชาได้ประกาศแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้าระยะยาวถึงปี 2020 ซึ่งระบุว่า ภายในปี 2020 กัมพูชาจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 8 แห่ง และโรงไฟฟ้าถ่านหิน 3 แห่ง ซึ่งจะทำให้กัมพูชาผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 6,300 เมกะวัตต์

หนึ่งในโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำที่กัมพูชากำลังก่อสร้างและคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 50 คือ เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ซึ่งสร้างบนแม่น้ำเซซาน--แม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขงตอนล่าง แม่น้ำเซซานอยู่ในลุ่มแม่น้ำสามเซที่ประกอบด้วยแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง 3 สาย คือ เซกอง เซซานและเซปรก ลุ่มน้ำสามเซอยู่ทางภาคเหนือของกัมพูชาติดกับภคใต้ของลาว เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 มีกำลังผลิต 400 เมกะวัตต์กำหนดเปิดดำเนินการในปี 2560 เขื่อนแห่งนี้ก่อสร้างด้วยการร่วมทุนของกลุ่มโรยัลกรุ๊ปของกัมพูชา การไฟฟ้าจีน และเวียดนาม

จากการประเมินของหน่วยงานแผนพัฒนาเศรษฐกิจ กัมพูชามีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำได้ถึง 10,000 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการประเมินว่า ปัจจุบันแผนการก่อสร้างเขื่อนพลังน้ำเดินหน้าไปแล้วร้อยละ 10 ของศักยภาพที่ผลิตได้

แผนพัฒนาแหล่งพลังงานของกัมพูชาถึงปี 2020

ที่มา : กรมพัฒนาพลังงาน กระทรวงการเหมืองแร่และพลังงาน ราชอาณาจักรกัมพูชา

 

 

เขื่อน ไฟฟ้า และชะตากรรมของคนริมน้ำ

แม้ว่าไฟฟ้าจะเป็นสิ่งที่ภาคเอกชนและชาวกัมพูชาส่วนใหญ่รอคอย แต่ชาวกัมพูชาอีกส่วนหนึ่ง เช่น ชาวบ้านใน 6 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำเซซานตอนล่าง 2 การได้อยู่ในถิ่นฐานเดิมและมีสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเหมือนเดิมแทนที่จะต้องหลีกทางให้เขื่อนนั้นมีความสำคัญมากกว่าการได้ใช้ไฟฟ้าหลายเท่านัก

เขื่อนเซซานตอนล่าง 2 จะทำให้น้ำท่วมพื้นที่ป่าไม้ ชุมชนและที่ทำกินของชาวบ้านในลุ่มน้ำสามเซกว่า 336 ตารางกิโลเมตร ชาวบ้านเกือบ 5,000 คน ใน 6 หมู่บ้านกำลังถูกบังคับให้อพยพจากหมู่บ้านเดิมไปอยู่ในที่ดินที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ ระบบนิเวศและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากการสร้างเขื่อนแห่งนี้ยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อคนใน จ.สตึงเตรง และ จ.รัตนะคีรี อีกกว่า 50,000 คน

แม้รัฐบาลกัมพูชาจะการันตีว่าการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 นั้น "ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา" แต่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม มองว่ากระบวนการทำรายงานอีไอเอ ไม่เป็นอิสระ เพราะเป็นการจัดทำโดยบริษัทลูกของบริษัทก่อสร้างเขื่อนซึ่งเป็นบริษัทจากประเทศเวียดนาม และไม่มีการศึกษาข้อมูลท้องถิ่น เช่น ข้อมูลชนเผ่าและทรัพยากรในแม่น้ำ เป็นต้น

เมียช เมียน อดีตผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องลุ่มน้ำสามเซ (3SPN) ตั้งข้อสังเกตว่าอีไอเอของเขื่อนเซซานตอนล่าง 2 ไม่ได้ศึกษาจำนวนและชนิดพันธุ์ปลาอย่างละเอียด เขายกตัวอย่างข้อมูลเรื่องปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขงมาวางไข่ในแม่น้ำเซซานและเซปรกว่า

"อีไอเอบอกว่าแม่น้ำเซซานและเซปรกไม่ใช่ที่ที่ปลาจากแม่น้ำโขงอพยพมาวางไข่ และไม่ได้ศึกษาความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นชนเผ่า และไม่ได้ไปดูผลกระทบในพื้นที่ตอนบนและตอนล่างของสายแม่น้ำเซซาน" เขาระบุ

เขื่อนนำมาซึ่ง "อิสระด้านพลังงาน" ของกัมพูชา

ชิม พัลโวรัน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกัมพูชาและโฆษกพรรคประชาชนกัมพูชายอมรับว่า กัมพูชายังไม่มีอิสระด้านพลังงานที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้อย่างเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ ขณะนี้ความต้องการใช้มีมากกว่าปริมาณที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้ รัฐบาลกัมพูชาจึงมีแผนที่จะเพิ่มศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ นี่เป็นความท้าทายของกัมพูชาที่จะเป็นอิสระด้านพลังงานและการพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศด้วยทรัพยากรของตัวเองในการผลิตไฟฟ้า

"รัฐบาลจึงได้ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรของเราเองในการผลิตไฟฟ้า และนี่อาจทำให้กัมพูชาไม่ต้องนำเข้าไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านอีกต่อไป" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีกล่าว 

 

 

นายชิมกล่าวว่า กระแสไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเร่งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของกัมพูชา เนื่องจากเศรษฐกิจจะพัฒนาขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ นอกจากนี้กระแสไฟฟ้ายังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวกัมพูชาพื้นที่ห่างไกล "เมื่อมีไฟฟ้า ชาวบ้านก็จะได้ดูทีวีหรือมีเครื่องใช้ไฟฟ้าอะไรก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ"

 

ธันยพร บัวทอง ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

หมายเหตุ: รายงานนี้เป็นตอนที่ 4 ของรายงานชุด "ล่ามโซ่แม่น้ำเซซาน: เขื่อนในกัมพูชากับอนาคตลุ่มน้ำสามเซ" ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยพีบีเอส อินเตอร์นิวส์ และองค์การ PACT ประจำประเทศไทย ที่สนับสนุนทุนจำนวนหนึ่งในการผลิตสารคดีข่าวเพื่อสำรวจผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำโขงของประเทศกัมพูชา อ่านรายงานพิเศษและชมคลิปทั้งหมดได้ที่ www.thaipbs.or.th/sesandams

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง