ปปง.เตรียมแถลงความคืบหน้าตรวจสอบชื่อคนไทยใน "ปานามา เปเปอร์"

ต่างประเทศ
5 เม.ย. 59
11:59
427
Logo Thai PBS
ปปง.เตรียมแถลงความคืบหน้าตรวจสอบชื่อคนไทยใน "ปานามา เปเปอร์"
วันที่ 8 เม.ย.2559 สำนักงานป้องและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะแถลงความคืบหน้าการตรวจสอบเอกสารลับ "ปานามา เปเปอร์" ที่มีรายชื่อคนไทย 21 คนเป็นลูกค้าของบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินที่มีชื่อเสียงด้านการฟอกเงินและเลี่ยงภาษี

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ ที่ปรึกษาประจำสำนักงาน ปปง. รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เปิดเผยระหว่างการประชุมร่วมกับหน่วยงาน ปปง. ประเทศเมียนมาว่า จากการที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการเปิดเผยเอกสารจากต่างประเทศที่อ้างว่ามีข้อมูลกว่า 11 ล้านฉบับ โยงถึงนักการเมืองและผู้นำทั่วโลกกว่า 72 คน เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและเลี่ยงภาษี โดยมีลูกค้า 21 คนในประเทศไทยและเชื่อมโยงกับบริษัท 963 แห่งที่อาจเข้าข่ายเลี่ยงภาษีนั้น สำนักงาน ปปง. กำลังเร่งประสานงานไปยังแหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมด และในวันที่ 8 เม.ย. เวลา 10.30 น. ปปง.จะนำผลการตรวจสอบเรื่องนี้ชี้แจงความคืบหน้าต่อสาธารณชน

สำหรับประเด็นด้านภาษีนั้น นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเปิดเผยว่า ประมวลรัษฏากรของไทยได้เปิดช่องให้ผู้ที่มีเงินได้ในต่างประเทศและนิติบุคคลที่ทำการค้าขายในต่างประเทศไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ หากไม่ได้นำเงินนั้นกลับมาในประเทศ เงินที่หามาได้สามารถพักไว้ต่างประเทศหรือนำไปลงทุน ซึ่งเป็นหลักการอำนวยความสะดวกกับการทำธุรกิจ

แต่หากบุคคลธรรมดาตัดสินใจนำเงินรายได้ต่างประเทศกลับเข้าไทยในปีนั้นๆ
จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนนิติบุคคล หากนำเงินได้ในรูปเงินปันผลกลับเข้ามาก็จะเสียภาษีอัตราร้อยละ 25 และแม้กฎหมายจะเปิดทางให้พักเงินในต่างประเทศได้ แต่เมื่อผู้มีเงินได้เสียชีวิต ทรัพย์สินทุกรูปแบบ เช่น เงินสด หรือ อสังหาริมทรัพย์ จะถูกจัดเก็บเป็นภาษีมรดกเท่ากับว่า กรมสรรพากรไม่ได้สูญเสียรายได้ในการจัดเก็บ อธิบดีกรมสรรพากรอธิบายเพิ่มเติม

สตง.มีแผนตรวจสอบภาษีย้อนหลังบุคคลที่มีรายชื่อในเอกสารลับ

สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เดินหน้าตจรวจสอบข้อเท็จจริงเอกสารลับ "ปานามา เปเปอร์" โดยนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง.ระบุแม้ยังไม่เชื่อข้อมูลทั้งหมด แต่พร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบให้เกิดความชัดเจน

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่ของ สตง. เพื่อเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงการประสานงานกับกรมสรรพากรว่ามีการจัดเก็บภาษีของบุคคลที่มีรายชื่อไปแล้วหรือไม่อย่างไร แต่เบื้องต้นอาจจะเรียกตรวจสอบภาษีย้อนหลัง 5 ปี ของบุคคลทั้ง 21 คนที่มีชื่ออยู่ในเอกสารดังกล่าว

ผู้ว่าการ สตง. ยืนยันว่า องค์กรภายในประเทศมีเครือข่ายที่จะตรวจสอบเส้นทางการเงินได้ แม้จะมีการถ่ายโอนผ่านธนาคารของไทยไปองค์กรที่อยู่ต่างประเทศก็ตาม แต่อาจจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกับหลายองค์กร
เช่น ปปง. หรือธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจากนี้จะหารือกับศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นประธาน ว่าจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้เพิ่มเติมหรือไม่

ที่มา-ที่ไป "ปานามา เปเปอร์"

"ปานามา เปเปอร์" เป็นเอกสารลับประมาณ 11.5 ล้านฉบับที่รั่วไหลออกมาจากบริษัทมอสแซก ฟอนเซกา (Mossack Fonseca) ซึ่งเป็นบริษัทกฎหมายในปานามา ทสื่อแรกที่ได้รับเอกสารลับจำนวนมหาศาลนี้คือ Sueddeutsche Zeitung หนังสือพิมพ์รายวันของเยอรมนีที่ระบุว่าได้รับเอกสารมาจากแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผย เมื่อได้รับมาแล้วสื่อสำนักนี้ได้ส่งต่อไปให้สมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (International Consortium of Investigative Journalists--ICIJ) ซึ่งได้ร่วมกันขุดคุ้ยข้อมูลและเปิดเผยต่อในวงกว้างเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2559

อย่างไรก็ตาม ICIJ มีคำชี้แจงในหน้าเว็บไซต์ที่เปิดให้ค้นหารายชื่อบุคคลในปานามา เปเปอร์ว่า "การทำธุรกรรมในบริษัทการค้านอกประเทศนั้นสามารถกระทำได้อย่างถูกกฎหมาย และการเปิดเผยข้อมูลนี้ไม่ได้มีเจตนาที่จะชี้นำว่าบุคคล บริษัทหรือองค์กรใดที่มีรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลนี้เป็นผู้ที่กระทำผิดกฎหมายหรือประพฤติมิชอบ"

(ค้นหาชื่อบุคคลและองค์กรที่อยู่ในเอกสารปานามา เปเปอร์ได้ ที่นี่)

เอกสารลับเหล่านี้พบว่าลูกค้าของบริษัทนี้ ซึ่งมีสำนักงานใน 35 ประเทศ มีทั้งผู้นำประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน และยังมีคนใกล้ชิดของคนดังในวงการแสดงและกีฬา รวมทั้งลีโอเนล เมซซี นักเตะชื่อดังของทีมบาร์เซโลนา และมิเชล พลาตินี ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป

การสืบสวนสอบสวนของ ICIJ พบว่าบุคคลผู้ใกล้ชิดของนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้ทำการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินมากถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 70,500 ล้านบาท) ผ่านธนาคารและบริษัทที่ตั้งขึ้นมาบังหน้าหลายแห่ง

นอกจากคนใกล้ชิดของนายปูตินแล้ว ICIJ ยังได้สืบสวนพฤติกรรมของผู้นำและอดีตผู้นำประเทศ 12 คน เช่น นายกฯ ปากีสถาน ประธานาธิบดียูเครน และกษัตริย์แห่งซาอุดิอาระเบีย

"ปานามา เปเปอร์" บอกอะไรบ้าง

● เอกสารลับชุดนี้ประกอบด้วยเอกสารทั้งหมดราวๆ 11.5 ล้านชิ้นที่มีข้อมูลย้อนหลังไปเกือบ 40 ปี เกี่ยวข้องกับบริษัทการค้านอกประเทศกว่า 214,000 แห่ง
● เปิดเผยข้อมูลการถือทรัพย์สินในบริษัทการค้านอกประเทศโดยนักการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ 140 คนทั่วโลก รวมทั้งผู้นำและอดีตผู้นำประเทศ 12 คน เช่น นายกฯ ไอซ์แลนด์ นายกฯ ปากีสถาน ประธานาธิบดียูเครนและกษัตริย์ซาอุฯ
● ในเอกสารมีชื่อบุคคล 33 คนที่ถูกขึ้นบัญชีดำโดยรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดเม็กซิกัน กลุ่มก่อการร้ายเฮซบอลเลาะห์ ทางการเกาหลีเหนือและอิหร่าน เป็นต้น
● แสดงให้เห็นว่ากิจการธนาคารในประเทศต่างๆ อยู่เบื้องหลังกิจการของบริษัทการค้านอกประเทศที่ยากต่อการตรวจสอบอย่างไร ธนาคารชื่อดังหลายแห่ง เช่น HSBC UBS และ Société Générale ได้เปิดบริษัทการค้านอกประเทศมากกว่า 15,000 แห่งเพื่อให้บริการลูกค้าธนาคารผ่าน บ.มอสแซกฯ

"มอสแซกฯ" เปิดเว็บเพจโต้ข่าว "ปานามา เปเปอร์"

หลังจากมีการเผยแพร่เอกสารลับที่รั่วไหลออกมา บริษัทมอสแซกได้ส่งคำชี้แจงถึง ICIJ ว่า บริษัทแค่ทำหน้าที่ให้บริการลูกค้า เช่น ทนายความ ธนาคาร และทรัสต์ ซึ่งเป็นตัวกลางอีกต่อหนึ่ง บริษัทยืนยันด้วยว่าก่อนจะตกลงให้บริการลูกค้ารายใดจะผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างเหมาะสม รวมทั้งดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด บางครั้งดำเนินการในระดับที่มีมาตรฐานสูงกว่าที่กฎหมายในแต่ละประเทศกำหนดให้ทำเสียอีก

นอกจากนี้ บ.มอสแซกยังได้เปิดหน้าเว็บเพจ www.mossfon.com/media เพื่อตอบโต้รายงานข่าวของ ICIJ ว่ารายงานข่าวสืบสวนสอบสวนนี้สร้างความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจของบริษัท ซึ่งไม่ได้ทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และไม่เคยถูกฟ้องร้องโดยหน่วยงานใดในประเทศใดๆ เลยนับตั้งแต่ทำธุรกิจมา 40 ปี

บริษัทได้ชี้แจงข้อกล่าวหาถึงพฤติกรรมของบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกบางคนที่ปรากฏในรายงาน เช่น มูอัมมาร์ กัดดาฟี และการทุจริตในฟีฟ่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง