เตือนทั่วโลกสำรองน้ำจืดร้อยละ 40 ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ-อาหาร ปี 2050

ภัยพิบัติ
12 พ.ค. 59
19:03
685
Logo Thai PBS
เตือนทั่วโลกสำรองน้ำจืดร้อยละ 40 ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ-อาหาร ปี 2050
องค์การอาหารและการเกษตร สหประชาชาติ เตือนประเทศเอเชียแฟซิฟิกสำรองน้ำจืดร้อยละ 40 เหตุปี 2050 เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ-อาหาร จากความต้องการเพิ่มขึ้นเท่าตัว แนะดำเนินการตาม "กรอบเชนได" เพื่อลดความเสี่ยงและบรรเทาภัยพิบัติ

วันนี้ ( 12 พ.ค.2559 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมสุดยอดสื่อสารมวลชนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติปี 2559 หรือ 2nd ABU Media Summit on Climate Change and Disaster Risk Reduction ที่ จ.กระบี่ ระหว่างวันที่ 12-14 พ.ค.2559 โดยมีเป้าหมายผนวกการทำงานของสื่อเข้ากับประเด็นโลกที่เคยถูกเน้นย้ำในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น โดยมี สื่อมวลชน นักวิจัย ผู้แทนชุมชน และตัวแทนจากสหประชาชาติเข้าร่วม

นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติจากสหประชาติ เปิดเผยข้อมูลว่า ปัจจุบันอัตราส่วนน้ำบนโลกร้อยละ 97 เป็นน้ำเค็ม และร้อยละ 3 เป็น น้ำจืดแต่ 2 ใน 3 เป็นน้ำแข็ง ดังนั้นทั่วโลกจะเหลือน้ำจืด สำหรับอุปโภคและบริโภค เพียงแค่ ร้อยละ 0.5 เท่านั้น

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ คาดว่าปี 2050 หรืออีก 34 ปี ข้างหน้า นอกจากประชากรทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคน ประชาชนจะเกิดความต้องการทางอาหารเพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัวจากปัจจุบันนี้ และจำเป็นต้องสำรองน้ำเพิ่มอีกร้อยละ 40 เพราะมีความเสี่ยงที่เกิดปัญหาขาดแคลนอาหารและน้ำดื่มมากขึ้น เพราะภัยพิบัติมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ดั้งนั้นทั่วโลกต้องบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ และเป็นสิ่งที่ท้ายทายสำหรับนานาชาติ ที่จะต้องหาวิธีเตรียมรับมือไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่กำลังได้รับผลกระทบความมั่นคงทางอาหาร

อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งที่รุนแรงในรอบ 20 ปี ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ผลไม้ พืช ผัก ข้าวสาร อาหารแห้ง มีราคาสูงขึ้นเพราะปีที่ผ่านมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาพื้นที่ปลูกข้าวของไทย เกือบร้อยละ 80 ต้องยุติการทำนาปี เพราะฝนไม่ตกและน้ำในเขื่อนหลักไม่มี ขณะที่ภัยพิบัติรุนแรงอย่างเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในภาคใต้ของไทยเมื่อเกือบ 12 ปีที่ผ่านมา ถูกนำมาพูดถึงในการประชุมครั้งนี้ด้วย เพราะวันนี้ชาวบ้านมีความพร้อมเตรียมกับภัยพิบัติมากขึ้นไม่รอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเพียงอย่างเดียว

สำหรับการประชุมครั้งนี้เป็นการดำเนินงานตามกรอบการทำงานเซนได ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานของโลกระยะเวลา 15 ปี ที่ มีเป้าหมายเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ผ่านภาคเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมประเทศสมาชิกรวมทั้งประเทศไทยมีพันธกิจที่จะต้องนำกรอบการดำเนินงาน มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับปฏิญญาเซนได

ดวงกมล เจนจบ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง