เด็กผู้พิการทางสายตากับภารกิจ "กองเชียร์นักวิ่ง"

สังคม
5 มิ.ย. 59
17:13
434
Logo Thai PBS
เด็กผู้พิการทางสายตากับภารกิจ "กองเชียร์นักวิ่ง"
ในกิจกรรมการวิ่ง กองเชียร์อาจเป็นกิจกรรมที่คุ้นตาและเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับหลายคน แต่สำหรับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา การได้เป็นกองเชียร์ที่คอยให้กำลังใจนักวิ่ง เป็นกิจกรรมที่มีความหมายมาก และนักวิ่งที่ได้รับกำลังใจจากพวกเขาก็รู้สึกมีความสุขไม่แพ้กัน

ขบวนวิ่งโบกี้ 99 รถไฟสายสุขภาพขบวนล่าสุดที่จัดขึ้นวันนี้ (5 มิ.ย.2559) โดยคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันเข้าร่วมกว่า 1,248 คน ส่วนหนึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อนำเงินไปบริจาคการกุศล

กิจกรรมวิ่งการกุศลโบกี้ 99 หรือ "Bogie99 5K Running Challenge" มีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์ให้คนไทยออกกำลังกายและเพื่อระดมทุนบริจาคเพื่อการกุศล กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2559 โดยนายทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ นักแสดงและนักวิ่งได้ชักชวนกลุ่มนักวิ่งมาต่อแถววิ่งเป็นขบวนรถไฟ หลังจากนั้นได้ส่งคำท้าต่อๆ กันไป ทำให้มีหลายกลุ่มและหลายองค์กรร่วมจัดกิจกรรมวิ่งขบวนรถไฟอย่างแพร่หลาย

แต่การวิ่งโบกี้ 99 ครั้งล่าสุดในวันนี้ (5 มิ.ย.2559) แตกต่างจากทุกครั้งเมื่อนักวิ่งกลุ่มหนึ่งได้พาน้องๆ จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพมาร่วมเป็นกองเชียร์และให้กำลังใจนักวิ่งในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย โดยกองเชียร์เด็กผู้พิการทางสายตายืนรวมตัวให้กำลังใจนักวิ่งบริเวณด้านหน้ามูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ถ.ราชวิถี เขตราชเทวี ซึ่งเป็นเส้นทางที่ขบวนนักวิ่งโบกี้ 99 วิ่งผ่าน

ด.ช.อำนาจ ศรีสังข์ หรือ อู๊ด อายุ 14 ปี นักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 หนึ่งในนักเรียน 21 คน ที่ร่วมกิจกรรมเชียร์วันนี้บอกว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เขาได้เป็นกองเชียร์นักวิ่ง และชอบมากเพราะต่างไปจากกิจกรรมอื่นๆ ที่เคยทำมาอย่างเช่นเต้นหรือร้องเพลง และถ้ามีโอกาส เขาก็อยากจะร่วมเป็นกองเชียร์อีก

"การให้กำลังใจกันเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะใครให้กับใคร เด็กให้กำลังใจผู้ใหญ่ สังคมนี้ควรให้กำลังใจกัน บางคนผมจับมือก็รู้ว่ามือเย็นมาก บางคนหอบหนักเพราะเหนื่อย ผมก็ให้กำลังใจเขาว่าสู้ๆ" อำนาจเล่าประสบการณ์

แม้ว่าอำนาจจะเพิ่งเคยเป็นกองเชียร์นักวิ่งแต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาร่วมกิจกรรมวิ่ง อำนาจเคยเป็นนักวิ่งเองมาแล้ว โดยร่วมวิ่งกับอาสาสมัครที่สวนลุมพินี นอกจากนี้เขายังเคยพิชิตภูกระดึง จ.เลย มาแล้วด้วย

ด.ญ.ชุติกาญจน์ แสงวัง อายุ 13 ปี นักเรียนชั้น ป.6 หนึ่งในกองเชียร์เด็กผู้พิการทางสายตาบอกว่าชอบกิจกรรมนี้เป็นอย่างมากโดยเฉพาะการได้ส่งเสียงให้กำลังใจ การได้สัมผัสมือและทักทายผู้คนที่หลากหลาย ทั้งผู้สูงอายุ พ่อแม่ที่พาลูกเล็กๆ มาวิ่งด้่วย หรือแม้แต่สุนัขที่นักวิ่งพามาวิ่งด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เธอมีความสุข

 

มารุต หรหมเชื้อ หรือ "เบิ้ม" นักวิ่งซึ่งเป็นที่รู้จักของคนในวงการวิ่งเพราะมักจะแต่งกายด้วยชุดแฟนซีถือโทรโข่งคู่ใจส่งเสียงเชียร์นักวิ่ง เป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมพาน้องๆ ผู้พิการทางสายตามาเชียร์นักวิ่ง

มารุตบอกว่ากิจกรรมนี้ทำให้เด็กผู้พิการทางสายตาเปลี่ยนจากผู้ที่เคยได้รับกำลังใจเป็น "ผู้ให้กำลังใจ" ด้วยการเป็นกองเชียร์ส่งเสียงและแตะมือให้กำลังใจนักวิ่งในขบวนวิ่งโบกี้ 99

"กิจกรรมการเชียร์มันง่ายที่สุด แต่ก็ส่งพลังงานได้มากที่สุด ช่วยให้ทุกคนมีรอยยิ้มก็มีความสุขแล้ว ตอนแรกที่คิดชวนเด็กมาเป็นกองเชียร์ก็คิดว่าเด็กอาจจะไม่ชอบเพราะร้อน เหนื่อย แต่ปรากฏว่าวันนี้เด็กๆ ชอบกันมากเพราะได้ปฏิสัมพันธ์กับคนและได้รับความชื่นชมจากหลายคน" มารุตกล่าว

เขาเชื่อว่าการที่เด็กๆ ผู้พิการทางสายตาตระหนักว่าเขาเป็น "ผู้ให้" เขาจะมีความมั่นใจและใช้ชีวิตอย่างเต็มที่มากขึ้น

"คนทั่วไปมักตีกรอบให้พวกเขาว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ ซึ่งจริงๆ พวกเขาทำได้มากกว่าที่เราคิด" มารุตกล่าว

การจัดกิจกรรมเชียร์ร่วมกันระหว่างนักวิ่งแฟนซีและน้องๆ ผู้พิการทางสายตาในวันนี้ถือว่าเป็นครั้งแรก ซึ่งมารุตสรุปว่าเด็กๆ พร้อมที่จะร่วมกิจกรรม แต่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการดูแลและสถานที่ให้เหมาะสม เพราะกิจกรรมการวิ่งมักจัดแต่เช้าตรู่ ทำให้เด็กๆ ต้องตื่นเช้าเพื่อเตรียมตัว และการกำหนดจุดที่ยืนเชียร์ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

มารุตบอกว่าอยากให้หน่วยงานต่างๆ ที่จัดงานวิ่งให้ความสำคัญกับเด็กด้อยโอกาสมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้พิการทางสายตา หรือเด็กกลุ่มอื่นๆ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม

 

กนกวรรณ์ จิตจักร นักวิ่งแฟนซีที่มาร่วมกิจกรรมเชียร์เห็นด้วยกับมารุตว่า การที่เด็กผู้พิการได้กลายมาเป็นผู้ให้กำลังใจผู้อื่นจะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าของตัวเอง

"เด็กกลุ่มนี้อาจไม่ต้องการมากอะไรเป็นพิเศษ เขาต้องการเพียงให้มีคนยอมรับ ให้พวกเขาอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ และแม้มองไม่เห็นเขาก็จะคอยถามตลอดว่า นักวิ่งหน้าตาอย่างไร มาถึงหรือยัง ดูเขามีความสุขและสนุกกับการคอยแตะมือให้กำลังใจนักวิ่ง" กนกวรรณ์ให้ความเห็น

ในส่วนของนักวิ่ง ทุกคนจะวิ่งช้าลงเมื่อมาถึงจุดที่กองเชียร์ของน้องๆ ผู้พิการทางสายตารวมตัวกันอยู่ ทุกคนจะเข้าแถวเพื่อจับมือและทักทายน้องๆ ทุกคน นักวิ่งบางคนเตรียมขนมเล็กๆ น้อยๆ มาให้น้องๆ ด้วย เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับทั้งนักวิ่งและกองเชียร์

น.ส.ธัญวรัตม์ โล่ห์สิทธิศักดิ์ นักศึกษาทันตแพทย์ ชั้นปีที่ 5 คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ทำกิจกรรมกับน้องๆ ผู้พิการทางสายตาเป็นครั้งแรกถ่ายทอดความรู้สึกว่า "เป็นครั้งแรกที่ได้ทำกิจกรรมกับน้องผู้พิการทางสายตา คำพูด การแสดงออกที่เขามีให้คนอื่นมันให้พลังแก่เรามากกวาที่เราให้ไปเสียอีก"

นางศิริเพ็ญ ศรีมงคล ครูประจำหอพักชาย โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่าเด็กที่เข้าร่วมเป็นกองเชียร์นักวิ่งครั้งนี้มีทั้งหมด 21 คน มีทั้งชายและหญิงตั้งแต่ชั้น ป.1-ป.6

ครูบอกว่านักเรียนมักชอบร่วมกิจกรรมประเภทนี้ เพราะเขาใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรียนเป็นส่วนใหญ่ มีน้อยครั้งที่จะได้ออกไปร่วมกิจกรรมภายนอก หน่วยงานหรือผู้ที่ต้องการจะจัดกิจกรรมให้นักเรียนเข้าร่วมสามารถประสานมาที่โรงเรียนได้ และอาจจะต้องมีการปรึกษาร่วมกันเนื่องจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ

เฉลิมพล แป้นจันทร์ ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง