ภาคประชาชนภาคใต้ จี้เลิก “โรงไฟฟ้า-นิคมอุตฯ” ชี้ "เกษตร-ประมง-ท่องเที่ยว" เลี้ยงตัวเองได้

สังคม
1 ก.ค. 59
09:32
283
Logo Thai PBS
ภาคประชาชนภาคใต้ จี้เลิก “โรงไฟฟ้า-นิคมอุตฯ” ชี้ "เกษตร-ประมง-ท่องเที่ยว" เลี้ยงตัวเองได้
กป.อพช.ใต้ ประกาศปฏิญญา 30 ปีสู่สีเขียว จี้เลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน-แลนด์บริดจ์ หยุดใช้ ม.44 สร้างเงื่อนไข อัด รธน.ประชามติสุดพิกลพิการ

วันนี้ (1 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์รายงาน กิจกรรม “30 ปี กป.อพช.ใต้ : บทเรียนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนภาคใต้ (ชุมคน ชุมชน คนใต้)” ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) จัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนักพัฒนาเอกชน (กป.อพช.ใต้) แกนนำชุมชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักศึกษา ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศิลปินเพื่อสังคม สื่อมวลชนในภาคใต้ และสมาชิกจากต่างภาคเข้าร่วมงานประมาณ 300 กว่าคน

โดยในช่วงบ่ายวานนี้ (30 มิ.ย.) นายสมบูรณ์ คำแหง เลขาธิการ พร้อมด้วยคณะกรรมการ กป.อพช.ใต้ ได้ร่วมกันอ่าน “ปฏิญญา 30 ปี กอ.อพช.ใต้” เรื่อง “ภาคใต้..การพัฒนาสู่ภูมิภาคสีเขียว” มีเนื้อหา ระบุว่า 30 ปีแห่งการลุกขึ้นมาจัดการตนเองของชุมชนภาคใต้ ได้ก่อเกิดรูปธรรมการพึ่งตนเองในหลากหลายประเด็น เช่น การจัดการประมง และทรัพยากรทะเลชายฝั่ง การจัดการที่ดิน การจัดการพลังงาน การจัดการน้ำ การสร้างรูปธรรมระบบเกษตรทางเลือกที่ยั่งยืน เป็นต้น และ 30 ปี ที่ผ่านมาได้ก่อเกิดนวัตกรรมการจัดการมากมายจนสามารถสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ นิเวศวัฒนธรรม ท่ามกลางภัยคุกคามนานัปการที่รุกเร้าภาคใต้อย่างรุนแรงตลอดมา หาก 30 ปี ที่ผ่านมาไม่มีปฏิบัติการของชุมชนในการยับยั้งภัยคุกคามและสร้างรูปธรรมการจัดการตนเอง ภาพของภาคใต้วันนี้อาจจะไม่เป็นเช่นที่เราเห็นทุกวันนี้

 

ภาคใต้พร้อมจัดการตนเอง ที่ไม่ทำลายล้างและแย่งชิงทรัพยากร

ยืนยันว่า 30 ปีที่ผ่านมา เป็นการเดินทางบนความยากลำบาก ด้วยกระแสแห่งทุนและกลไกของรัฐเองที่ถาโถมเข้ามา เพื่อการแย่งชิงทรัพยากรสนองประโยชน์ บนฐานการไม่เคารพกันและกัน แต่เรายืนยันว่า เส้นทางสายนี้คือทางเดินที่ถูกต้อง มีแต่การลุกขึ้นมาจัดการตนเองบนความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่จะสามารถเข้าใจบริบทและก่อเกิดการจัดการที่ไม่ทำลายล้าง เราจึงยืนยันว่า

1.เราจะสร้างปฏิบัติการ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สายน้ำ ทะเล ที่ดินและระบบเกษตรทางเลือก รวมถึงการปกป้องสิทธิชุมชน ชาติพันธุ์ ผู้บริโภคและความสงบสุขสันติภาพของพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ต่อเนื่องจากเดิมเพื่อสร้างความสุขและความสมดุลแก่ชีวิตของคนภาคใต้แม้ว่าอำนาจรัฐและทุนจะคุกคามเรามากขึ้นทุกวัน
2.เราจะสร้างรูปธรรมการจัดการด้านพลังงานของภาคใต้ ให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยจะขับเคลื่อนต่อเนื่องกันไปนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และคาดว่า ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า โซล่าเซลล์จะเกิดขึ้นทั่วทั้งภาคใต้
3.เราจะสร้างความร่วมมือของประชาชน วิชาการ เอ็นจีโอ สื่อมวลชน ในการขับเคลื่อนภาคใต้ไปสู่การจัดการตนเองอย่างเข้มแข็งยั่งยืน บนฐานทรัพยากรที่เรามีอยู่จริง

รัฐ-กลุ่มทุนต้องเคารพการตัดสินใจของชุมชน

แถลงการณ์ระบุต่อว่า เราเชื่อว่าภาคใต้มีศักยภาพในการจัดการตนเองได้ เพราะพื้นฐานของสภาพทางภูมิศาสตร์ และทุนแห่งรูปธรรมการจัดการที่สรรสร้างมาอย่างยาวนาน จะสามารถนำเราไปสู่วันข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง ที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของภาคใต้ขึ้นอยู่กับการเกษตร ประมง ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งสามารถจ้างงานได้อย่างมหาศาล และยิ่งเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังเป็นภูมิภาคที่มีรายได้ลำดับต้นของประเทศและเป็นภูมิภาคที่มีความสุขและความพึงพอใจสูงสุดของประเทศ เราจึงขอยืนยันว่าเราสามารถดำรงชีวิตในวันนี้ และจะไปสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่ หากภาครัฐและกลุ่มทุนจะต้องเคารพการตัดสินใจ และออกแบบการดำเนินชีวิตของเราเอง ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติตามคำเรียกร้องเราดังนี้

 

แนะเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหิน-อุตสาหกรรมใหญ่

1.ต้องยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในทุกพื้นที่ของภาคใต้ เพราะทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่ามลพิษจากถ่านหินคือฆาตรกรเงียบที่ฆาตกรรมมนุษย์มาแล้วไม่น้อย ทั้งยังทำลายสิ่งแวดล้อมจนย่อยยับมาแล้วทั่วโลก การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงเท่ากับเป็นการทำลายศักยภาพของภาคใต้โดยตรงอย่างเลือดเย็น
2.ยกเลิกโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และการสร้างอุตสาหกรรมหนัก นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เส้นทางขนส่งแลนบริดส์ซึ่งจะส่งผลต่อการทำลายฐานทรัพยากรที่สำคัญตลอดชายฝั่งทะเลภาคใต้ อันเป็นความไม่สอดคล้องกับศักยภาพของภาคใต้ที่มีอยู่ และจะนำไปสู่การทำลายความมั่นคงยั่งยืนทางเศรษฐกิจของคนใต้ในระยะยาว
3.หยุดการใช้อำนาจพิเศษ โดยเฉพาะ ม.44 เพื่อออกคำสั่ง สร้างกฎหมายที่จะสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่การเกิดขึ้นของโครงการ หรือกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง ต่อฐานทรัพยากรโดยรวมของภาคใต้
4.รัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติ ประเด็นสิทธิชุมชนอ่อนด้อยลงกว่ารับธรรมนูญฉบับปี 2550 เนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งหายไปคือ “สิทธิที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปรกติและต่อเนื่องสิ่งแวดล้อมที่ไม่ก่อให้อันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของตนย่อมได้รับการคุ้มครอง...” รวมถึงการจำกัดเสรีภาพการชุมชน การได้รับข้อมูลข่าวสารสาธารณะซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน หลายมาตราด้วยการเพิ่มข้อความ “ตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติ” และ “อำนาจแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ...”
โครงสร้างอำนาจอธิปไตยในการบริหารประเทศทั้งบริหาร นิติบัญญัติและองค์การอิสระ ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยโดยประชาชน

 

“เกษตร-ประมง-ท่องเที่ยว” สร้างสมดุลชีวิตได้

เรากำหนดอนาคตการพัฒนาของเราได้ หากรัฐไม่คิดทำลายเราด้วยการสร้างรูปแบบการพัฒนาที่ไม่เหมาะสม และการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม เราจึงขอยืนยันในสิ่งที่ได้ทำมาแล้ว และจะดำเนินการเช่นนี้ต่อไป เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจภาคใต้ได้พิสูจน์มาแล้วว่าการทำเกษตร ประมง ท่องเที่ยว สามารถสร้างสมดุลชีวิตได้มากกว่าการพัฒนาให้เป็นแผ่นดินมลพิษจากการอุตสาหกรรมหนัก เราจึงขอประกาศว่าภาคใต้จะเป็นภูมิภาคที่จะพัฒนาไปสู่การพัฒนาสีเขียว

เราขอประกาศที่จะยืนยันในท่าทีดังกล่าวนี้อย่างมุ่งมั่นร่วมกัน ผ่านกระบวนการเชื่อมร้อยเครือข่ายคนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐที่เราไม่ต้องการ และจะประสานความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสร้างรูปธรรมการพัฒนาที่จะนำพาภาคใต้ไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนต่อไป ภายใต้แนวคิดการพัฒนาภาคใต้สู่สีเขียว และเราขอประกาศว่าเราจะร่วมมือกันที่จะต่อสู้กับทุกอำนาจที่ไม่ชอบธรรมทุกรูปแบบที่จะเข้ามาทำลายความเป็นภาคใต้ของเราอย่างถึงที่สุด

วันชัย พุทธทอง รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง