นายกฯย้ำเดินหน้า 9 ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้

การเมือง
2 ก.ย. 59
21:05
484
Logo Thai PBS
นายกฯย้ำเดินหน้า 9 ยุทธศาสตร์แก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้
นายกฯ ระบุ ใช้ 9 ยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ขอเวลาแก้ไขเนื่องจากมีปัญหาหลายด้านทับซ้อนกันอยู่ และขอความร่วมมือทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหา

วันนี้ ( 2 ก.ย.2559) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้ประชาชนว่า
วันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ผมก็มีความยินดีนะครับที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ขบวนใหม่ จำนวน 39 คัน จาก 115 คัน ซึ่งเราจะได้รับครบทั้งหมด ภายใน ต.ค.นี้ ซึ่งทางรถไฟไทยได้รายงานว่าเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์นะครับ 100 กว่าปี ของการรถไฟไทยนั้น 60 ปีที่ผ่านมาไม่มีการสร้างเส้นทางเพิ่มเติม และ 40 ปีที่ผ่านมาไม่มีการลงทุนใหม่ๆ ไม่มีการซื้อขบวนรถใหม่ ก็ทำให้รถไฟนั้นเป็นการคมนาคมที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ตั้งแต่ รัชกาลที่ 5 ทรงริเริ่มไว้ อยู่ในปัญหา “ซบเซา” นะครับไม่ได้รับบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพตลอดมา

โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้บริการ เพียง 5% ของการเดินทางภายในประเทศทั้งหมด และปริมาณการขนส่งสินค้า เพียง 2% ของการขนส่งสินค้าภายในประเทศทั้งหมด ทั้งๆ ที่ทั่วโลกนั้น ปัจจุบันให้ความสำคัญกับการขนส่งทางรถไฟมากที่สุดนะครับ แล้วก็มีการวิวัฒนาการไปไกลกว่าเรามาก เราคงรอเขาอยู่นะ ที่เขาเน้นในเรื่องนี้เพราะว่าประหยัด เชื่อมโยงกันได้ทั้งในประเทศ ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้นะครับ แล้วมีการขนส่งสินค้าราคาถูก แล้วก็ขนส่งปริมาณมากๆ นะครับ ทั้งคน ทั้งสินค้าด้วย


เพราะฉะนั้นจากการที่รถไฟของเรานั้น พัฒนามาล่าช้ามานาน นับสิบๆ ปีนั้น เรามีปัญหาเรื่องการให้บริการ การพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทาง ซึ่งทำไม่ได้ตามกฎหมายเดิมนะครับ ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และไม่มีการการปฏิรูปองค์กร ให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีของโลก วันนี้ผมก็ได้ขอความร่วมมือกับบุคคลากรทุกคนในองค์กรนะครับ ขอความร่วมมือในการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง

โครงการนี้แม้ได้รับความเห็นชอบในวงเงิน 4,900 กว่าล้านบาท เมื่อปี 2554 การจัดซื้อจัดจ้างทำไม่สำเร็จ รัฐบาลนี้ได้เข้ามาเร่งรัดให้สามารถดำเนินการได้ โดยแก้ปัญหาข้อขัดข้องทั้งปวง ในทันทีให้สามารถลงนามในสัญญาซื้อ ในวงเงิน 4,600 กว่าล้านบาท ในปลายปี 2557 ถูกลงราว 300 ล้านบาทนะครับจากวงเงินที่ตั้งไว้เดิม แล้วเราก็จะได้รับรถขบวนใหม่ ทั้งหมด ภายใน ต.ค.นี้ ก็มีทั้งตู้โดยสาร มีทั้งหัวรถจักรด้วยนะครับ หลายๆอย่างที่มีการจัดซื้อจัดหาใหม่นะครับ


ทั้งนี้เมื่อเปิดให้บริการแล้วคาดว่า รถไฟไทย นั้นน่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น เฉลี่ย 1,250 ล้านบาท ต่อปี ก็จะเป็นการยกระดับภาพลักษณ์การบริการ ด้านความปลอดภัย ทันสมัย สะอาด และขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น สามารถอำนวยความสะดวกให้ทุกกลุ่มผู้โดยสาร ทั้งทั่วไป นักท่องเที่ยว คนพิการ ผู้สูงอายุนะครับ ก็จะกลับมาเป็นความหวังของประชาชนอีกครั้ง


หลายอย่างก็กลับมาสู่การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐนะครับจะได้ไม่ต้องใช้เงินไปอุดหนุนมากนัก แล้วก็มีผลดีต่อสวัสดิการต่างๆ ของบุคลากรที่ทำงานอย่างหนักมาด้วยนะครับ ในอนาคต ทั้งนี้ รถไฟใหม่ 115 คันนั้นจะใช้เป็นขบวนรถด่วน 4 เส้นทาง คือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ ตามสถิติปริมาณผู้โดยสาร และตามความนิยมจะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดประมาณ 120 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง เมื่อการก่อสร้างทางคู่เสร็จสมบูรณ์นะครับ ทำให้สามารถถึงที่หมายปลายทาง อาจจะเร็วขึ้นได้เฉลี่ย 3 ชั่วโมงนะครับ

ทั้งนี้ แผนการปฏิรูปรถไฟ ที่รัฐบาลนี้กำลังดำเนินการอยู่ครบวงจรก็ได้แก่


(1) โครงการพัฒนา ทางคู่ ในระยะ 5 ปี ของรัฐบาลนี้ ก็คือ การสร้างทางคู่ ระยะแรก ระยะเร่งด่วนนะครับ จำนวน 6 เส้นทาง และ ระยะที่ 2 อีก 8 เส้นทาง รวมระยะทาง 2,500 กว่ากิโลเมตร ก็คือให้รถสวนได้นั่นแหละนะ ปัจจุบันนั้นสัดส่วน ทางเดี่ยว มี 93% ทางคู่ มี เพียง 4% คิดดูนะครับว่ารถไฟจะไม่วิ่งช้าได้ยังไง ถึงแม้จะวิ่งเร็วกว่านี้ ต้องไปรอที่สถานีหน้า เพราะต้องวิ่งสวนทางบนรางเดียวกันนะครับ อันนี้ต้องแก้ปัญหาเรื่องรถไฟทางคู่ ความกว้าง 1 เมตร ของเดิมด้วยนะครับ

ในส่วนของการจราจรทางรถไฟนั้นอดีต จนถึงปัจจุบันยังไม่เต็มศักยภาพนะครับ ทำให้ไม่ได้รับความนิยม ถึงที่หมายล่าช้า เพราะฉะนั้นเมื่อโครงการรถไฟทางคู่เสร็จสมบูรณ์นะครับ จะมีสัดส่วนทางคู่เพิ่มเป็น 60% ซึ่งคงจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ มากพอสมควร

(2) ประการที่ 2 คือการแก้ปัญหาจุดตัดรถไฟซึ่งมี 1,000 กว่าแห่ง ทั่วประเทศ มีทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย คือไปข้ามเพิ่มเติมเอาเองนะครับ วันนี้ก็ปิดไม่ได้สักอัน เราต้องทำสะพานข้าม อุโมงค์ทางลอด และการติดตั้งสัญญาณไฟ และ

(3) เรื่องที่ 3 คือ โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง เพื่อจะเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วยนะครับ เหนือ-ใต้-ออก-ตก จะเชื่อมโยงกรุงเทพฯ กับเมืองเศรษฐกิจหลัก 4 ภาค ระยะแรกได้แก่ กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ - ระยอง, กรุงเทพฯ - หัวหิน และกรุงเทพฯ – พิษณุโลก - เชียงใหม่ และสามารถจะ ต่อประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคต่างๆ ของโลกได้นะครับ

อัน นี้ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ก็ต้องวางแผนเป็นระยะ ๆ นะครับ ระยะแรกจะทำได้เท่าไร ก็เป็นในประเทศก่อนนะครับ บางเส้นก็เชื่อมต่อต่างประเทศ ที่เหลือก็ทำต่อไป จัดทำแผนแม่บทไว้ให้เรียบร้อยนะครับ เราก็จะผลักดันที่เราทำไม่ได้ไปในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนะครับ แล้วก็แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี 2560-2564 ว่าจะต้องทำอะไรกันต่อไปนะครับ ที่เราเริ่มไว้

ทั้งนี้ ก็มีอีกหลายโครงการขนาดใหญ่นะครับ ที่เราคงจะต้องดำเนินการในลักษณะการจัดซื้อ-จัดจ้างใหม่ หรือทดแทนของเดิมนะครับให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. งบประมาณ ที่จะต้องจัดทำใหม่เรื่องของการใช้จ่ายนะครับ ผมได้สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติม ให้ไปศึกษาวิธีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยให้มีคณะกรรมการ 3 ระดับ เหมือนกับที่ฝ่ายความมั่นคงเขาทำกันอยู่ในปัจจุบันนะครับ ได้แก่

(1) คณะแรกคือ คณะกรรมการกำหนดความต้องการ จะมีหน้าที่จัดทำประมาณการ และแผนการจัดหาล่วงหน้า มีแผนแม่บทนะครับ ทั้งนี้ก็เพื่อจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามห้วงระยะเวลา ซึ่งคาดการณ์ได้ ไม่ใช่สะสมความต้องการหลายปี เช่นรถไฟนี่เหมือนกัน หลายโครงการ แล้วมาเสนอขอในคราวเดียวกัน ก็ทำไม่ได้หรอกครับ ก็ต้องเริ่มต้น ประชาชนก็ใจร้อนนะครับ

(2) เรื่องที่ 2 คือ เป็นคณะกรรมการสรรหา ซึ่งต้องสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ประเทศ และหน่วยที่ใช้งาน ทั้งทางเทคนิคและความเป็นไปได้ ซึ่งจะต้องนำมาจากทางด้านที่ 1 นั้นแหละนะครับ แล้วก็สอดคล้องกับแผน สภาพัฒน์ฯ นั่นแหละ หรือแผนการปฏิรูปรถไฟ หรือหน่วยงานอื่น ก็แล้วแต่นะครับ

(3) ก็คือคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ เพื่อจะลดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจให้ได้นะครับ เพราะฉะนั้นจะต้องมีคณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติ ต้อง พิจารณาทั้งราคาของ การปรนนิบัติบำรุง และอะไหล่นะครับ การซ่อมแซมอะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ การถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้นะครับ

ข้อมูลจากคณะกรรมการ ทั้ง 3 ระดับนั้นจะมานำใช้ประกอบในการจัดทำ TOR เพื่อ ดำเนินการจัดซื้อ-จัดจ้าง ต่อไปนะครับ เพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส แล้วก็งบประมาณไม่ซ้ำซ้อน ต่อเองเชื่อมโยง ตรงความต้องการ และมีการบริหารงบประมาณประเทศได้อย่างเป็นระบบนะครับ มีแบบแผน มียุทธศาสตร์

สำหรับ ปัญหาการจราจรในกรุงเทพ ตามที่เป็นข่าวนั้นจริงๆ แล้วรัฐบาลนี้คิดมาอย่างต่อเนื่องนะครับ พยายามแก้ไป แต่แก้ทั้งระบบทำได้ยาก ยากมากนะครับ เพราะว่าหลายอย่างทับซ้อนกันอยู่นะครับ ก็ต้องเข้าใจนะครับ ไม่ได้ปัดความรับผิดชอบ เป็นปัญหาเรื้อรังไม่ได้เกิดวันนี้ ไม่ได้เกิดมาจากปริมาณรถ หรือเส้นทางที่มีอยู่ปัจจุบันไม่สมดุลเท่านั้นนะครับ


เราต้องมองปัญหาทั้งระบบและแก้ปัญหาอย่างมียุทธศาสตร์ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ก็ขอเพียงความเข้าใจนะครับและร่วมมือจากทุกฝ่าย ต้องมีการบูรณาการร่วมกันในหลายมาตรการ รัฐบาลทุกรัฐบาลก็พยายามจะแก้ แต่ก็แก้ไม่ได้ตอนหลังก็คงเลิกแก้ไปแล้วล่ะ รัฐบาลนี้ก็พยายามจะแกะออกใหม่ แล้วแก้ให้ได้อย่างที่ประชาชนต้องการนะครับแต่ทุกคนต้องร่วมมือ ไม่อย่างนั้น เราก็ไม่สามารจะแก้ในทุกมิติได้อย่างบูรณาการนะครับ ประชาชน อาจจะไม่ยินยอมพร้อมใจ การจัดซื้อจัดจ้างก็ทำไม่ได้นะครับ สร้างถนน สร้างทางด่วน สร้างรถไฟ อะไรก็แล้วแต่นะครับ เพราะว่าปัญหาสำคัญก็คือปัญหาด้านงบประมาณด้วยนะครับ

มาตรการบางอย่างก็อาจจะกระตุ้นด้านเศรษฐกิจ แต่ส่งผลกระทบด้านสังคมจิตวิทยาบ้าง อาทิเช่นไม่เข้าใจกันก็อยากได้ แต่ก็ต้องมีหนี้ ต้องกู้เงิน มีภาระหนี้สินสูงนะครับ เราก็ต้องไปหาให้ได้นะครับ รัฐบาลนี้ทำทุกอย่าง เอาปัญหามา แล้วก็คิดโครงการออกมา แล้วก็ทำยังไงประชาชนจะเข้าใจ และยินยอมพร้อมใจในการที่จะดำเนินการให้ได้ ถ้าอยากได้ แต่ไม่ลงทุนอะไรกันเลย ก็ไม่ได้หมดนะ ทุกเรื่อง

วันนี้เราก็คิดในโครงสร้างใหญ่ด้วยนะครับ เช่น


(1) การเชื่อมโยงกรุงเทพฯ – ชานเมือง และหัวเมืองใหญ่ ทั้งนี้เราต้องการจะกระจายความเจริญ ความแออัดออกนอกเขตเมืองกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่นะครับโดยได้มีการเร่งรัดโครงการก่อสร้าง ด้านคมนาคม ทั้งทางด่วน ทางพิเศษ วงแหวน และรถไฟ แล้วก็ให้มีที่อยู่อาศัย ของประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย รายได้ปานกลาง รายได้น้อย รายได้มาก อะไรก็แล้วแต่กระจายไปอยู่ชานเมือง ทั้งภาคธุรกิจด้วยนะครับ ประชาชนสามารถเดินทางไปทำงานเช้า – กลับเย็นได้

อาทิ เช่นโครงการรถไฟความเร็วสูงใน 4 เส้นทาง รัฐบาลนี้ก็ได้เร่งรัดดำเนินการในระยะแรกให้ได้นะครับ โดยพิจารณาเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ 2 ข้างทางในเชิงธุรกิจด้วย เราก็ต้องไปดูเรื่องกฎหมาย ต้องมีการปรับปรุง ทั้งนี้ก็เพื่อจะยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนที่ถูกเวนคืนที่ดิน หรือในพื้นที่ที่รถไฟผ่าน เราแก้ปัญหาหนึ่ง จะต้องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน จะทำยังไง กฎหมายว่ายังไง รัฐศาสตร์จะแก้ยังไงนะครับ เราตะต้องให้มีที่อยู่อาศัย มีตลาด มีชุมชนใหม่เกิดขึ้น หรือแม้กระทั่งเป็นศูนย์ซ่อม สร้างงาน สร้างรายได้ในท้องถิ่น เหล่านี้เป็นต้น


ในเรื่องของการจัดระเบียบรถตู้โดยสารประจำทางมาตรฐาน ก็พยายามเต็มที่นะครับ วันนี้เส้นทางกรุงเทพฯ – จังหวัดต่างๆ ในระยะทาง ไม่เกิน 300 กม. ก็จะต้องไปใช้พื้นที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ทั้ง 3 สถานี นะครับ จตุจักร, สายใต้, เอกมัย ภายใน ต.ค. ปีนี้ ขออย่าต่อต้านเลยนะครับ ต้องช่วยกัน ไม่งั้นก็ติดอยู่เหมือนเดิม การจราจรก็ต้องเริ่มทุกอัน ถ้าทุกคนยังต้องการประโยชน์อย่างเดิม กฎหมายไม่สนใจ เหล่านี้ก็ พัลวันกันอยู่แบบนี้นะครับ ก็อาจจะช่วยลดปริมาณการจราจรรถตู้ฯ กว่า 4,000 คัน ในใจกลางเมือง ขอให้เคารพกติกาก็แล้วกัน ไม่ใช่เริ่มแล้ว ก็กลับมาใหม่ เรียกร้องโน่นนี่ ผลักดันให้ประชาชนมาเรียกร้องหรืออะไรทำนองนี้นะ ผมจะต้องเข้าไปสอบสวนในทุกเรื่องนะครับในการประกอบการต่างๆ ทั้งหมดด้วย


เราจะต้องเชื่อมโยงกับทางด่วนให้ได้ แล้วก็ระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ที่เราจะสามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น ทั้งมิติปริมาณการจราจร มาตรฐานการให้บริการ ก็เห็นใจผู้มีรายได้น้อยนะครับ จะทำยังไง ล่าสุดก็เพิ่งเปิดตัวทางพิเศษ สายศรีรัช – วงแหวนรอบนอก เพื่อเพิ่มข่ายเส้นทางเชื่อมโยงถนนกาญจนาภิเษก ที่ด่านบรมราชชนนี บริเวณตลิ่งชัน เชื่อมโยงทางด่วนศรีรัช ที่ด่านกำแพงเพชร 2 บริเวณชุมทางรถไฟบางซื่อ ใกล้สถานีขนส่งหมอชิต เป็นต้นนะครับ

ในเดือน ต.ค.2559 นี้ ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ ETCS ระหว่างการทางพิเศษฯ (Easy Pass) กับกรมทางหลวง (M-Pass) ก็จะสามารถเชื่อมโยงกัน ใช้ร่วมกันได้ อาจจะมีปัญหาอยู่บ้างในระยะแรกเพราะเป็นการทดสอบด้วย อะไรด้วยนะครับ แต่ประเด็นสำคัญก็คือถ้าทำได้สมบูรณ์นั้น ก็จะลดการติดขัดบนทางด่วนได้อีกส่วนหนึ่ง ข้างล่างเขาก็ไม่ติดต่อกันไปนะครับ ต้องมองทั้งระบบ อันนี้ก็เป็นก้าวแรกนะครับ ของแนวคิด “บัตรร่วม” หรือ e-Ticket ของ รัฐบาล ที่เราเคยกล่าวไปแล้วนะครับ กำลังดำเนินการอยู่ทั้งหมด ใช้เวลานะครับทุกเรื่อง ไม่ใช่สั่งวันนี้ พรุ่งนี้ได้ ในอนาคตต้องเชื่อมโยงการเดินทางทุกระบบในบัตรเดียวกันนะครับ เพื่อความสะดวกสบายของพี่น้องประชาชน

(2) เรื่องที่ 2 คือการเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนภายในกรุงเทพและปริมณฑล นอกจากเรื่องบัตรร่วมแล้วนะครับ เราต้องเชื่อมโยงทั้งเส้นทางและสถานี ระหว่างเรือโดยสาร– รถไฟฟ้า – รถประจำทาง ทั้งนี้เรือด่วนเจ้าพระยา 19 สถานีนะครับ เราได้ดำเนินการให้ยกระดับ “ท่าเรือ” เป็น “สถานีเรือ” ให้บริการคล้ายๆ สถานีรถไฟฟ้า ที่มีความปลอดภัย สะดวก ทันสมัย มีระบบแจ้งข้อมูลเส้นทางและการสัญจรทางเรือให้ผู้โดยสารทราบ จัดระเบียบพื้นที่ให้บริการในสถานีเรือ และเชื่อมโยงกับระบบรถไฟฟ้า 4 สาย ม่วง-แดง-น้ำเงิน-เขียว ใน 5 สถานี เป็นต้นนะครับ จุดเชื่อมต่อ 1 กิโลเมตร กำลังทำอยู่นะครับ หาทางทำให้ได้โดยเร็ว

ส่วน เรือในคลองแสนแสบและคลองผดุงฯ นั้น ก็จะมีการปรับปรุงสถานีเรือ ตามแนวทางเรือด่วนเจ้าพระยา พร้อมทั้งปรับภูมิทัศน์ 2 ฝั่งคลอง ทางเดินเลียบคลอง และมีเรือโดยสาร ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่รบกวนผู้อาศัยริมคลองนะครับ แต่ผู้ที่อยู่อาศัยแบบผิดกฎหมายก็ต้องร่วมมือกันนะครับ จะหาทางออกกันยังไงนะครับ หลายอย่างก็มีแรงต่อต้านหมด แต่ลืมไปว่าตัวเองก็อยู่ผิดกฎหมาย ต้องนึกถึงคนอื่นเขาด้วยนะครับ ที่เขาไม่ผิดกฎหมายจะทำยังไง เราต้องการให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงคูคลอง แม่น้ำได้นะครับ ผมได้ให้แนวคิดไปศึกษาดูนะครับ ว่าเราจะทำเรือแท็กซี่ เหมือนที่ต่างประเทศเขาทำได้ไหม ผมเห็นในโทรทัศน์นะครับ ก็จะทำบ้างหรือเปล่า ระยะสั้นๆ ในทุกคลองทั้งใน กทม. และปริมณฑล ที่สามารถทำได้นะ มีระดับน้ำ มีความปลอดภัย เพื่อจะลดปริมาณ การใช้รถลงไปบ้างนะครับ

สำหรับ รถไฟฟ้า ล่าสุดเราเพิ่งเปิดตัวรถไฟฟ้าสายสีม่วงนะครับ ก็มีปัญหาอีกนะครับ การเชื่อมต่อที่ผมกล่าวไปแล้ว กำลังแก้อยู่นะครับ ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ก็ทยอยดำเนินการผลักดันให้มีความชัดเจน หากสร้างเสร็จสมบูรณ์ ครบทุกสาย ก็จะเกิดเครือข่ายเส้นทางที่ครอบคลุมกรุงเทพฯ และปริมณฑล แล้วก็อาจจะจูงใจให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลนะครับ ที่ผ่านมาระบบไม่เชื่อมต่อ แล้วจะทำยังไง เวลาก็แค่นี้ 2 ปีเข้ามา ก็พยายามทำอย่างเต็มที่นะครับ ก็ต้องทำต่อไป ในระยะต่อไปด้วย เราจะได้หันมาพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะ ก็มีปัญหาอีก ราคาสูง ทำยังไงอีกนะครับ ที่สะดวกกว่า ประหยัดกว่า

ผมได้สั่งการเพิ่มเติมในที่ประชุม ครม.ไปแล้วนะครับให้พิจารณาหาโครงการรถไฟฟ้า “โครงสร้างเบา” เพื่อจะราคาถูก ลงทุนน้อยเป็นพวก แทรม (Tram) รถ ราง ใช้เหมือนต่างประเทศเขามีนะครับ เช่นหลายประเทศเขาทำ ในการสัญจรไปมาในตัวเมืองใหญ่นะครับ ไม่ว่าจะไปสถานประกอบการธุรกิจ การค้า ที่อยู่อาศัย ต่างๆ เป็นระยะสั้น เป็นรถไฟฟ้า ทั้งเหนือคลอง แล้วก็เส้นทางด้วยนะครับ ในเมืองใหญ่ เข้าถึงชุมชน สถานประกอบการ แล้วก็สถานที่สำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ นะครับ ต่างจังหวัดก็คิดมาอยู่แล้ว ตอนนี้ก็เริ่มคิดกันมาหลายๆ จังหวัดแล้วนะครับ ต้องช่วยกัน

สำหรับระบบขนส่งมวลชนทางถนนนั้น เราจำเป็นต้องมีการจัดระเบียบคิวรถตู้ วินมอเตอร์ไซต์ ทั้งมาตรฐาน การให้บริการความปลอดภัยและเส้นทางเดินรถ ที่จะสามารถเสริมระบบขนส่งหลักอื่นๆ ทั้งขสมก. และระบบรถไฟฟ้า

ปัญหาที่ผ่านมานะครับ การบริหารโครงการอาจจะไม่เป็นระบบ ไม่บูรณาการ ต่างคนต่างทำ เพราะคนละโครงการ เชื่อมโยงกันไม่ได้ คนละระบบอีก การเดินรถก็มีปัญหา นะครับ ที่สำคัญก็คือล่าช้า ทำโครงการไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้ จัดซื้อจัดจ้างไม่ได้ ไม่โปร่งใส

เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะทุจริตทั้งหมดนะครับ มันอาจจะมีวาระอื่นๆซ่อนเร้นอยู่ นโยบายก็เปลี่ยนไปตามรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา มันก็เลยทำให้เราคิดว่า มันไม่มียุทธศาสตร์ไง ทุกเรื่องมันไม่มียุทธศาสตร์ แก้ไขไม่ต่อเนื่อง ไม่เชื่อมโยง ไม่เป็นระบบ

รัฐบาล นี้ต้องทำทุกอย่างเพื่อจะเชื่อมโยงทุกระบบให้ได้ ในระยะเวลาที่เราอยู่นี้นะครับ แบบไร้รอยต่อ แต่ก็ต้องทำกันต่อไปในวันหน้าด้วยนะครับ มันทำไม่เสร็จหรอก ต้องแก้ของเก่าที่เป็นปัญหาเร่งด่วนก่อนวางระบบใหม่ให้ครบวงจร และก็รีบดำเนินการให้ได้เพื่อพวกเราทุกคนและลูกหลาน ในอนาคตนะครับ

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ จิตสำนึก ในเรื่องของวินัยจราจร การมีน้ำใจ การใช้รถใช้ถนน ไม่ฝ่าฝืนกฏจราจร ไม่จอดรถในพื้นที่ห้ามจอด มีการให้ทางเป็นต้นนะครับ ก็ได้ปรับปรุงหลายอย่างทั้งเจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ ก็ต้องดูว่าจะทำยังไงกันทั้งคู่ จะได้ไม่ต้องมีความขัดแย้งมีผลประโยชน์ตอบแทน ทุจริตทำนองนี้มันจะต้องไม่เกิดขึ้น ความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนเนี่ยมันมากไง ปัจจุบันเพราะการบังคับใช้กฎหมาย ผมเห็นเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญทั้งหมดนะครับ อาจจะช่วยลดอุบัติเหตุได้บ้าง ลดปัญหาการจราจรได้อีกด้วย

ประการสำคัญ คือเรามีงบประมาณจำกัด เราต้องค่อยๆ แก้ไป แก้ทั้งหมด วางแผนแม่บทไว้ เพราะเราแก้ไม่ได้ไงวางแผนแม่บทใหญ่เอาไว้ วันหน้าก็ส่งต่อไป รัฐบาลทุกรัฐบาลก็ทำต่อไปจะได้ใช้งบประมาณประเทศที่เป็นไปตามระเบียบ การใช้จ่ายของรัฐบาล ระบบการเงิน การคลัง ของประเทศก็ไม่เสียหาย

หลายอย่างนะครับ ถ้าเราเริ่มมานานแล้วเนี่ยไม่เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้น มันก็คงไม่หนักหนาสาหัสขนาดนี้นะครับ ถ้าเรามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทุกเรื่องไปแก้ที่ปลายเหตุมันจะได้ยังไงล่ะ ต้องไปดูที่ต้นเหตุก่อนนะครับ

ล่าสุดการสูบบุหรี่ในรถแท็กซี่สาธารณะ ทั้งคนขับและผู้โดยสาร ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายนะครับ ก็ขอความร่วมมือด้วย จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน เป็นต้นไป สำหรับการประชุมในคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ก็ได้มีการเห็นชอบใน 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่

(1) ได้อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในกลุ่มต่างๆ จำนวน 34 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน เกือบ2.7 แสนล้านบาท ใน 6 กลุ่ม ซึ่งโครงการเหล่านี้คาดว่าจะส่งเสริมให้มีการใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิต กว่า 1.6 แสนล้านบาท นอกจากนั้น ยังกระตุ้นในกิจกรรมต่อเนื่องที่เรียกว่า ห่วงโซ่อุปทาน ในสินค้าและบริการต่างๆ ในท้องถิ่น และในภาพรวมของประเทศ อีกด้วย


(2) การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) นะครับที่เราเตรียมการสู่การเป็น Hub ในเรื่องนี้ เราเป็น 1 ใน 10 ของอุตสาหกรรมเป้าหมายนะครับที่กำหนดไว้ เรื่องทางการแพทย์เนี่ย เพราะ ฉะนั้นตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล เราจะต้องให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่กิจการผลิตยา อาจจะต้องมีการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้ง กิจการผลิตเครื่องมือแพทย์ นะครับ

นอกจากจะเป็นการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร” แล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพของคนในประเทศ ช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงยา เครื่องมือแพทย์ ลดการขาดดุลการค้าจากการนำเข้ายาและเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศ อีกด้วยนะครับ หลายอย่างเราผลิตได้แล้ว ผมก็ได้ให้แก้ไขเรื่องงบประมาณไปแล้วนะครับ ทุกหน่วยงานก็ต้องสนับสนุนผลงานวิจัย การผลิตภายในประเทศไปใช้งานนะครับรับรองมาตรฐานให้ได้แล้วกันนะครับ

(3) มาตรการส่งเสริมเมืองต้นแบบที่จะเป็นการแก้ปัญหาในภาคใต้ด้วยนะครับ เรียกว่า “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เราจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมพื้นที่จ.ชายแดนภาคใต้ ได้แก่ อ.หนองจิก จว.ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบ นะครับ ในเรื่องของ “การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน” อ.เบตง จว.ยะลา เป็นเมืองต้นแบบ “การพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน”และ อ.สุไหง โก-ลก จว.นราธิวาส เป็นเมืองต้นแบบ “การค้าชายแดนระหว่างประเทศ”

ทั้งนี้ มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับโครงการลงทุนใหม่ใน 3 พื้นที่ดังกล่าว ได้แก่ ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ค่าลดหย่อนอากรขาเข้า 90% สำหรับวัตถุดิบนำเข้ามาผลิต เพื่อจำหน่ายในประเทศเป็นเวลา 10 ปี ถ้าไม่ทำแบบนี้ไม่มีใครมาลงทุน การใช้วัสดุภายในประเทศมันก็ไม่เกิดอีกนะครับบางอย่าง เราจะยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก เป็นระยะเวลา 10 ปี เป็นต้น เพื่อสร้างแรงจูงใจนะครับ

ผมก็ได้เน้นย้ำและให้แนวทางกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือต้องพิจารณาทั้งการ ลงทุนจากต่างประเทศ การลงทุนของภาคธุรกิจและเอกชนในประเทศไทย รวมถึงการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชนที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ ไม่ให้ 3 อย่างมาขัดแย้งกันอีกนะครับ มันเกิดไม่ได้หรอกถ้าขัดแย้งกันอยู่ ต้องประสานทั้ง 3 ส่วนนะครับเพื่อจะเชื่อมโยงกันให้ได้โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


รัฐบาลจำเป็นต้องส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ให้มีการลงทุน เพิ่มขึ้น จากทั้งในพื้นที่ นอกพื้นที่ในต่างประเทศนะครับไม่ให้ส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน ประชาชนจะเดือดร้อนน้อยที่สุด มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่เหมาะสมนะครับ ก็เป็นกรณีๆ ไปนะครับ ไม่ใช่ทำทั้งหมดทีเดียวทั้งพื้นที่ เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว มันต้องเป็นจุดๆไป ตรงไหนเดือดร้อนก็เยียวยา แล้วหาประโยชน์ให้เขาได้ประโยชน์จากการทำดังกล่าวด้วยนะครับ การ ส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศนั้น มันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าบ้านเมือง เราไม่มีเสถียรภาพ ไม่มีความมั่นคง ทางด้านการเมือง ทางด้านความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตามนะครับ การที่จะทำให้เศรษฐกิจระดับฐานราก คือคนที่มีรายได้น้อยนั้น ที่เรียกว่า ระดับรากแก้วด้วยนะครับ มีเงินเพิ่มขึ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจทางด้านการค้า การลงทุน การส่งออก-นำเข้า และภาคอุตสาหกรรม อื่นๆ นะครับ จะต้องดำเนินการให้เกิดความเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ไม่ใช่ปล่อย ต่างคนต่างทำกันไปมันก็เชื่อมโยงกันไม่ได้นะครับ ถ้าเราทำกันได้ในประเทศมันก็เข้มแข็งขึ้น มีรายได้มากขึ้น คนรายได้น้อยก็ได้มากขึ้น หากไม่ทำอะไรเลย มันก็เท่าเดิม นะครับ

ก็เหมือนเดิมที่ผ่านมาหลายสิบปีมาแล้ว เราจะได้ขยายความเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มประเทศ CLMV และต่างประเทศอื่นๆ ที่เงียบไปก็มีก็รถไฟความเร็วสูงบางเส้น หรือรถไฟทางคู่ ก็จำเป็นต้องปรับปรุงทั้งรถไฟทางคู่ที่มีมาตรฐานราง 1 เมตรเดิมนะครับ แล้วก็มาตรฐานใหม่คือ 1.425 เมตร นะครับ มันต้องทำทั้งคู่นะ มันจะได้รองรับน้ำหนักได้มากขึ้น วิ่งเร็วมากขึ้น ต้องดูทางเลี้ยวทางโค้ง วิ่งสวนกันได้ มันต้องทำทุกอย่างอ้ะนะ ไม่ใช่ 1 เมตรอย่างเดียว 1.5 อย่างเดียว หรือความเร็วสูงอย่างเดียว มันไม่ใช่นะครับ อย่าไปบิดเบือนกัน

เราจะต้องทำทุกอย่างให้มันเกิดขึ้นได้นะครับ หากไม่มีแรงจูงใจใครเลย มันก็ไม่มีใครมาเพราะฉะนั้นก็ไม่มีเหตุผลที่จะต่อต้านกันต่อไปโดย อาจจะมีนักสิทธิมนุษยชน ที่มองด้านเดียวนะครับ ไม่รับผิดชอบว่าประเทศไทย คนไทยจะอยู่กันอย่างไร อันนี้ผมไม่ได้ตำหนิท่านนะครับ เพียงแต่ท่านอาจจะยังไม่เข้าใจ บทบาทและฐานะท่าน ใน 2 อย่างนะครับ ทั้งตัวเอง ทั้งกิจกรรมของท่านและในเรื่องที่ต้องเกี่ยวพันกับต่างประเทศ แต่ในประเทศล่ะครับ เพราะเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่านเองทั้งหมดอ้ะนะ

เพราะฉะนั้น ไม่งั้น การพัฒนาอาชีพมันเกิดขึ้นไม่ได้นะครับ ถ้าไม่มีการพัฒนา คิดแบบเดิม กติกาต่างประเทศเขาก็มีอยู่ เราจะอยู่ตรงไหน กำหนดบทบาทตัวเองตรงไหน เราต้องมีศักยภาพก่อนนะครับ วันนี้เราเสียเวลากับความขัดแย้งมานานพอสมควร ศักยภาพเราลดลงไปเรื่อยๆ ก็ต้องดึงความเชื่อมั่นกลับมานะครับ

สำหรับการแก้ไขปัญหาความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ทุกคนเป็นห่วง รัฐบาลนี่ห่วงมากที่สุดอยู่แล้ว เพราะมันเป็นความเป็นความตายของประชาชน ผมอยากจะเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่งนะครับ เพื่อทำความเข้าใจกันนะ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ มันอยู่ที่ ประชาชน ประชาสังคม NGO เจ้าหน้าที่รัฐ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา ทั้งหมดนะครับ ในพื้นที่นอกพื้นที่ด้วย สื่อ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งหมด ต้องเข้าใจปัญหา ร่วมมือกันแก้ไข และ แสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ผมฟังหมดนะ มาพิจารณาทั้งหมดนะครับ อะไรทำได้ทำไม่ได้

วิธีการแก้ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อน เช่นนี้นะครับ ไม่ใช่ว่าจะกำหนดเวลาว่าจะต้องยุติเมื่อไหร่ ช้าหรือเร็ว เพราะมันเกิดมานานแล้ว มันก็ยิ่งพันกันไปเรื่อยถ้าเราไม่แกะออกมา การแกะเรื่องปัญหาออกมานี่มันยากนะครับ สิ่งสำคัญวันนี้ที่เราต้องเร่งอยู่ก็คือ ทำอย่างไรประชาชนจะปลอดภัย มีการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องที่เราต้องพิจารณาร่วมกันก็มีดังนี้นะครับ

ประเด็นแรกความยากง่ายในการทำงาน วันนี้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น ประชาชนต้องการมีการสัญจรไปมาในชีวิตประจำวัน มีการใช้ชีวิตตามปรกติ ตลอด 24 ชม. เป็นภาระและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในการที่จะต้องคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น ทุกเส้นทาง ทุกกลุ่ม ทุกเวลา กรีดยางบ้าง ค้าขายบ้าง ครู ไปเรียนหนังสือบ้าง อะไรเหล่านี้ เป็น เป้าหมายที่อ่อนแอทั้งสิ้น

เราต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมากมีการเพิ่มกำลังจากนอกพื้นที่เข้าไป ทั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน แต่จำเป็นต้องมีการฝึกเตรียมการก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่นะครับ ไม่ใช่เอากำลังไปรบกับใครไปดูแลความปลอดภัย แล้วก็มีภารกิจในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเราก็กระทำได้อย่างจำกัดอีกนะครับเพราะประชาชนต้องการเสรีในการใช้ชีวิต ไม่เหมือนต่างประเทศเขาหรอก ถ้ามีเหตุการณ์อย่างนี้ เขาปิดทั้งหมด บังคับทั้งหมด แล้วก็กวาดล้าง ใช้กำลังเข้าไป เขาทำได้แต่ประเทศไทย ทำไม่ได้หรอกครับ เพราะว่ามันหลายอย่าง มันมีความขัดแย้งอยู่นะครับ เจ้าหน้าที่ก็ถูกจับตามองในการปฏิบัติงาน ทุกประเด็นไป เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการบังคับใช้กฎหมาย นะครับ มองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากทั้งในองค์กรในประเทศเราเองและองค์กรในต่างประเทศด้วย ต้องระวังที่สุดนะครับ

อีกประการหนึ่งก็คือบ้านเรือนประชาชนนั้น มันเป็นอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ อยู่ในพื้นที่สวนยางบ้าง ป่าเขาบ้าง เป็นเส้นทางมากมาย เราก็ต้องแบ่งกำลังไปในหลายพื้นที่ หลายเส้นทาง ทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง ซึ่งประชาชนยังต้องใช้อยู่ตลอดเวลาอย่างเป็นอิสระ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญ นะครับ

เรื่องต่อไปก็คือเรื่อง ความเข้าใจในภาษาไทย อย่างที่เข้าใจกันจริงๆ อ้ะนะยังมีจำกัด ในหลายพื้นที่ด้วยกันเนื่องจากส่วนใหญ่ใช้ภาษาในท้องถิ่นนะครับ เช่น ภาษายาวี ในการติดต่อสื่อสาร


เพราะฉะนั้น การศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น เราคงต้องพัฒนาอีกมาก นะครับ โรงเรียนตาดีกา ปอเนาะ จำนวนมากนะครับ ที่ร่วมในโครงการของรัฐ ของกระทรวงศึกษาในขณะนี้ก็มีบางแห่ง ก็ยังไปไม่ได้นะครับ ซึ่งยังมีการสอนเน้นเฉพาะในด้านศาสนาอย่างเดียว แล้วเสร็จแล้วจบมาก็อาจจะไม่มีงานทำนะครับ เพราะฉะนั้นก็อยากให้ปรับแก้ปรับเปลี่ยนให้หมดนะครับ ปรับให้เป็น 2 หลักสูตร ซะสายสามัญด้วยและก็ศาสนาไปด้วยนะครับ จะได้มีงานทำ รับรองวุฒิการศึกษาได้นะครับ ไม่ว่าจะเรียนจากต่างประเทศหรือที่ไหนก็ตาม ผมกำลังให้กระทรวงศึกษาพิจารณาเรื่องนี้อยู่นะครับ

เรื่องปัญหาความยากจนประชาชนในพื้นที่ บางคนก็รวยเป็นเจ้าของสวนยาง บางคนก็กรีดยางอย่างเดียว บางคนรับจ้าง เหล่านี้ ทำให้ลูกหลานที่เกิดมาก็เข้าถึงการศึกษาไม่ได้เท่าที่ควรนะครับ ก็นิยมส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาที่อาจจะไม่ได้สอนสายสามัญ นะครับ รัฐบาลกำลังปรับแก้อยู่นะครับ ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความยินยอมพร้อมใจด้วย เราให้เงินงบประมาณสนับสนุนอยู่แล้วนะครับ ขอให้ปรับมาหารัฐบาลบ้างนะครับ ไม่งั้นมันก็เป็นปัญหาความขัดแย้งอยู่แบบนี้ มันเป็นเงื่อนไข หากมีคนนำไปบิดเบือน แล้วก็จะเป็นปัญหาที่แก้ยากไปอีกเรื่อยๆ

ประเด็นที่ 2 นะครับก็อยากจะกราบเรียนว่า ปัจจุบันนั้นเรามียุทธศาสตร์ การแก้ไขปัญหาอยู่ 9 ยุทธศาสตร์ ด้วยกันนะครับ ที่เราต้องแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ วันนี้ รัฐบาลนี้เข้ามาแล้วผมเป็นนายรัฐมนตรี ผมเป็นหัวหน้า คสช. ผมเป็น ผอ.รมน. ผมก็เอาทั้งหมดมาแก้ด้วยกัน ที่ผ่านมามันอาจจะแก้โดยทหารบ้าง โดยพลเรือนบ้าง โดยการเมืองบ้าง วันนี้เราต้องแก้แบบนี้แหละครับเอาปัญหาทุกปัญหามาแก้แล้วก็ปรับยุทธศาสตร์ ทั้ง 9 ยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติให้ได้นะครับ

อันได้แก่ สังคมปลอดภัยอย่างมีความสุข ขจัดเงื่อนไข สร้างความเข้าใจ ไว้วางใจ พัฒนาต่อเนื่อง โดยรักษา อัตลักษณ์และวิถีชีวิต และอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สังคมร่วมกันรับรู้และแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างประเทศให้การสนับสนุน สร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการ พูดคุยสันติสุข และ บริหาร พัฒนาพื้นที่อย่างมีเอกภาพ รวมทั้งยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความมั่นคง ของ กอ.รมน.การพัฒนาของ ศอ.บต.

นอกจากนั้น เรายังมีอีกหลายมาตรการนะครับ ทั้งแผนงานโครงการ โครงการพระราชดำริ เพชรในตม พาคนกลับบ้าน มาตรา 21 ใน พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งก็เปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดกลับสู่สังคม และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปัญหาคือ เขาหวาดกลัวไง ก็ออกมาก็ต้องดูแลความปลอดภัย นี่เป็นภาระสำคัญอีกอันที่เราต้องดูแลทั้งหมดนะครับ ใครกลับมาก็ต้องดูแลอีก จะปลอดภัยหรือเปล่า ว่ามีการข่มขู่กันบ้างอะไรกันบ้าง ก็ต้องติดตามแก้ไขปัญหากันต่อไปนะครับ

ประเด็นที่ 3 ก็คือสิ่งที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามใช้กดดันรัฐ ก็คือ การใช้ความรุนแรงในลักษณะที่เรียกว่า อาชญากรที่ทำผิดอย่างร้ายแรง สร้างอาชญากรรมที่รุนแรงนะครับ ฆ่าคนตาย ทำให้คนบาดเจ็บ สูญเสียทรัพย์สินและชีวิต ทำความเสียหายต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ อย่างที่เราเห็นที่ผ่านมา นะครับ เจ้า หน้าที่รัฐจำเป็นจะต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย โดยที่อีกฝ่ายก็มักจะอ้างว่าถูกเจ้าหน้าที่รังแก ซึ่งหลายอย่างนั้น อย่าไปพูดกันแบบนี้ อย่าไปรบกันเลย นะครับ ใช้กำลังมาสู้กัน ไม่จบหรอก

จะต้องเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมนะครับ เราก็จะดูแลให้ทั้งหมด อย่างที่ผมกล่าวมาแล้ว ในหลายๆ มาตรการ ช่องทางต่าง ๆ ที่เปิดให้ของรัฐก็มีหมดอ้ะ ต้องร่วมมือกัน แล้วก็อย่าขัดแย้งกันมากนักนะครับ ปัญหาสำคัญก็คือคนนอกพื้นที่ วิจารณ์ในพื้นที่จนเค้าก็เสียหายเหมือนกัน บางเรื่องเขาก็บอกว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น เรามาฟังคนภาคใต้เขาด้วยแล้วกันนะ ผมเข้าใจดีคนนอกพื้นที่ก็เป็นห่วงอ้ะนะ ทั้งคู่ก็มีเจตนาดีทั้งคู่ แต่ต้องเห็นใจคนในพื้นที่ด้วย เขามีผลกระทบมากนะครับ วิจารณ์กันไปกันมา มันก็มีผลต่อการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แล้วเขาก็เดือดร้อน ไอ้คนวิจารณ์ไม่เดือดร้อนหรอก ไม่ต้องเจ็บต้องตายกับเขานี่นะ

เพราะฉะนั้น นอกจากสถานการณ์ความรุนแรงเหล่านั้น มันก็ยังมีปัญหาอาชญากรรมอื่น ๆ อีกด้วยนะครับ เหมือนกับทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ในประเทศไทยนี่แหละ ทุกพื้นที่ในโลกมีหมดนะ ภัยแทรกซ้อนอื่น ๆ อีกด้วย การกระทำผิดกฎหมาย เช่น การขายของหนีภาษี , ลักลอบสินค้าข้ามแดน ,ผู้มีอิทธิพลในท้องที่ , ความขัดแย้งทางการเมือง , การสร้างมวลชนทางการเมือง


เหล่านี้มันเป็นปัญหาเดิมมีอยู่แล้วก็มีความขัดแย้งกันเองของประชาชน บางครอบครัว บางสกุล ก็มีปัญหากันมาตั้งแต่ในอดีต ก็เลยทำให้เจ้าหน้าที่รัฐนั้นถูก ชักจูงบิดเบือนไป เหมือนกับใช้รัฐเป็นเครื่องมือในการที่กำจัดศัตรูของตนเองด้วยโดยการบิดเบือนให้ข่าวที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ก็ลำบากนะครับ อีกอันหนึ่งก็คือ ไปใช้บริการของผู้ก่อเหตุรุนแรงในการขจัดปัญหาส่วนตัว อันนี้เป็นความสลับซับซ้อนของปัญหานะครับ

ประเด็นที่ 4 ที่ผมอยากจะขอร้องนะครับ เรื่องการเสนอความคิดเห็นของนักวิชาการบางคน บางกลุ่ม ทั้ง ในพื้นที่ และนอกพื้นที่ มักกล่าวอ้างเสมอว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมถามว่า แล้วกฎหมายอยู่ตรงไหนล่ะ ไปดูสิครับ ว่ากฎหมายเขาเขียนว่าอย่างไร อย่าเอาประเด็นเหล่านี้มาขัดแย้งกันไปเสียทั้งหมดนะ แล้ว ประเทศชาติก็เสียหาย เราต้องคำนึงถึงชีวิตผู้บาดเจ็บ สูญเสียบ้างสิครับ ทั้งประชาชนผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่รัฐ ตายกันไปเท่าไหร่แล้ว ขณะนี้ คนวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้เดือดร้อนกับเขานี่ครับ

รวมถึงการกระทำผิดกฎหมายต่างๆอีกด้วย เช่น กฎหมายปกติ กฎหมายพิเศษ เหล่านี้มันจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติ การบังคับใช้ ด้วยความร่วมมือความยินยอมพร้อมใจซึ่งกันและกัน อย่าไปอาศัยกลุ่ม NGO กลุ่ม องค์กรอิสระ ทั้งในและต่างประเทศ ผมว่าดีๆเขาก็มี ก็ขอร่วมมือกับที่ดีๆก็แล้วกันที่ไม่ดีก็ช่วยกันขจัดออกไป ทั้งนี้เขาก็พยายามใช้ทางด้านนี้ ความกดดันเหล่านี้มาบังคับให้รัฐไม่ใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ อ้างสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เราก็บังคับใช้กฎหมายปกติ บ้านเมืองปกติเหมือนที่เคยใช้บังคับทั่วประเทศไทย กฎหมายอาญาเหล่านี้มีหมดอยู่แล้ว


มีการบิดเบือนเรื่องราวต่าง ๆ พยายามทำให้เป็นความขัดแย้งทางศาสนา พุทธ – มุสลิม ซึ่งมีการอยู่กันมาช้านาน อย่างเป็นปกติสุขนะครับ คราวที่แล้วก็ตรวจพบเอกสาร ไปตัดทอนออกเอาแต่พุทธเข้าไป ทุกศาสนาตัดทิ้งออกไปเลยก็ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เขาก็ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญ ก็มีส่วนหนึ่งนะครับ อันนี้ไม่ได้กล่าวอ้างเพราะเจ้าหน้าที่รายงานเข้ามาแบบนี้จริงในทางลึก เพราะฉะนั้นเราจะต้องไม่ถูกบิดเบือนด้วยประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์คือประวัติศาสตร์ จำจะได้ไม่ต้องมาต่อสู้กันอีก วันนี้ต้องอยู่อย่างสันตินะครับ ประเทศทุกประเทศในโลกมีประวัติศาสตร์ทั้งนั้น สมัยก่อนก็ไม่ได้เป็นประเทศ รบกันไปรบกันมาใครแข็งแรงกว่าก็ตั้งประเทศขึ้นมาก็เท่านั้นเอง วันนี้เราก็เป็นญาติพี่น้องกันทั้งสิ้น

อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือการด้อยค่าการทำงานของรัฐ หาว่ารัฐแก้ปัญหาไม่ได้แก้ปัญหาไม่เป็น เพราะทุกคนมองด้านเดียวหมด สื่อและสังคม บางคนบางกลุ่มอาจจะไม่เข้าใจที่ผมพูดวันนี้ อยากให้ทุกคนเข้าใจพร้อมกันผมไม่ว่าใคร บางคนก็หวังดีแต่ไปขยายความ ทำให้สถานการณ์ดูเหมือนรุนแรงขึ้น ผมไม่ได้ปกปิดอะไรเลยนะครับ ทั้งนี้อาจจะหวังดี เจตนาดีหรือเจตนาไม่ดีก็ตาม ขอร้องเถอะกลับมาใหม่จะได้แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น

ประเด็น ที่ 5 เส้นเขตแดนรอบบ้านเราบางเส้นบางพื้นที่ยังมีปัญหาอยู่นะครับ ไม่ชัดเจน โดยเฉพาภาคใต้มีการลักลอบเข้าเมืองกระทำได้ง่ายในพื้นที่ป่าเขา เจ้าหน้าที่เราต้องทุ่มกำลังไปดูแล ทั้งสถานที่ราชการ โรงเรียน ครู สถานประกอบการ แหล่งธุรกิจ ถนนเส้นทาง และก็ต้องมาดูชายแดน ป่าเขาอีก อะไรอีก จะต้องใช้กำลังเท่าไรล่ะครับ ก็ต้องใช้แบบนี้ไปจนถึงเมื่อไร ฉะนั้นประชาชนจะต้องช่วยกันเฝ้าระมัดระวังแล้วก็อย่าไปขัดขวางการทำงานของ เจ้าหน้าที่นะครับ หลายอย่างก็ต้องมาปรับปรุงเพิ่มเรื่องเทคโนโลยี การใช้เครื่องมือในการเฝ้าตรวจเหล่านี้มันต้องพัฒนาทั้งหมด กล้อง CCTV ที่มีประสิทธิภาพ ระบบการตรวจจับใบหน้าก็กำลังเร่งดำเนินการอยู่ทั้งสิ้นนะครับ

ในเรื่องของการแก้ปัญหาความมั่นคงไปแล้วต้องแก้ปัญหาในเรื่องของการพัฒนาด้วย เจ้าหน้าที่ก็ต้องไปช่วยอีก ทหารที่ลงไปก็ต้องทำงานด้านพัฒนาอีกด้วย ช่วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลเรือน ตำรวจที่เขามีน้อยอยู่แล้ว ก็ไปรวมกลุ่มแล้วก็ลงไปทำในพื้นที่ ไม่มีใครรู้มากกว่าคนในพื้นที่หรอกครับ วันนี้ก็ต้องไปสร้างความร่วมมือในด้านกฎหมายให้มากขึ้น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. อบท. อะไรทำนองนี้นะครับ ต้องไปร่วมมือกับทหารทั้งหมดไปช่วยกันแก้ปัญหา กอรม. และ ศอ.บต. รัฐก็ต้องเป็นผู้สนับสนุน ที่ผ่านมานั้น อาจจะมีปัญญาอยู่บ้าง วันนี้รัฐบาลผมเองก็กำชับเรื่องนี้ ผมถึงมาอยู่ตรงนี้และมาแก้ปัญหาทั้งหมด โดยการมอบนโยบายอันเดียวกันลงไปในทุกส่วนงานลงไปทำในระดับบูรณาการ ทุกอย่างมันสำคัญที่วิธีการและการสนับสนุนจากรัฐบาล อย่างจริงใจ แท้จริง ไม่หวังผลอย่างอื่น

สำหรับการพูดคุยสันติภาพก็เป็นสิ่งที่ทุกคนเร่งรัดพยายามจะให้เร็วขึ้นให้จบมันเป็นไปไม่ได้เพราะทุกอย่างมันมีขั้นมีตอนของมันอยู่ ถ้าเราเร่งรัดจนเกินไปก็ทำให้อีกฝ่ายนำเอามาใช้เป็นจุดอ่อนของเรา ในการที่จะเพิ่ม ทำให้รัฐเสียเปรียบได้โดยการสร้างความรุนแรงมากขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งหลายคนก็ถามว่าการใช้กำลังทหารขนาดใหญ่ที่ลงไปเยอะแยะไปกวาดล้าง เป็นพื้นที่ทำไมไม่ทำ มันทำได้ไหมครับ เราเอาลงไปเพื่อรักษาความปลอดภัย ดูแลเป้าหมายอ่อนแอ ดูแลชายแดน ดูแลการทำผิดกฎหมาย ถ้าไปกวาดล้างมันก็แตกกระจายกันทั่วไปหมด เราก็ใช้ด้านการข่าวในการตรวจค้นดำเนินคดี ใช้กฎหมายปกติเป็นหลัก อันไหนที่มันไม่เป็นธรรมต้องร้องเรียน ร้องทุกข์ก็ร้องขึ้นมา รัฐบาลก็สอบสวนให้หมด ก็ใครก็ทำผิดไม่ได้อยู่แล้วทั้งประชาชนและก็เจ้าหน้าที่

ไม่งั้นถ้าเราใช้กำลังมากๆอย่างนั้นมันเป็นการเหมือนกับสงคราม ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นมันก็ลุกลามบานปลาย ขัดแย้งมากขึ้น รุนแรงขึ้น เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ในวันนี้ระวังมากนะครับ ในการบังคับใช้กฎหมาย ระวังอย่างเต็มที่และอันเดียวกันตัวเองก็ต้องระวังตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าต่างคนต่างมีอาวุธกันอยู่แบบนี้ มันก็ไม่ได้หรอกครับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร พลเรือนเขาก็ตายเป็นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าใครถืออาวุธมา ต่อสู้กับเจ้าหน้าที่มันก็ต้องมีการใช้อาวุธตอบโต้กัน

ในเรื่องของการขอให้มีการยกเลิกกฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎอัยการศึก ในทุกๆพื้นที่มันเป็นอันตรายที่สุดเลยนะครับ ที่เราทำงานได้ทุกวันนี้เพราะมันมีกฎหมายพิเศษ เพราะกฎหมายปกติทำไม่ได้เลย หรือทำไม่ได้มากนัก เพราะอะไร เพราะประชาชนมีปัญหา กฎหมายพวกนี้ไม่ได้ออกมาควบคุมท่านถ้าท่านทำความดีอยู่แล้ว ไม่ได้ทำความผิดท่านจะไปกลัวอะไรเล่า ทุกเรื่อง มาตรา 44 ก็เหมือนกัน ถ้าท่านทำความดีอยู่แล้วจะกลัวอะไรนักหนา เพราะฉะนั้นถ้าเราไปยกเว้นบางพื้นที่มันอาจจะทำให้ผู้ที่ก่อเหตุความรุนแรง เหล่านั้น ได้ไปปรับวิธีการสามารถใช้พื้นที่ดังกล่าวนั้นที่ยกเว้นไปนั้นเป็นแหล่งส่อง สุ่ม เป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่ฝึกการต่อสู้ เป็นพื้นที่ส่งกำลัง และแยกออกจากพื้นที่ส่วนปฏิบัติการที่มีการใช้อาวุธต่อสู้กัน

บางพื้นที่ที่เหมือนไม่ค่อยมีเหตุรุนแรง ก็จะให้รัฐยกเลิกโดยเร็ว มันไม่ได้หรอกครับ เดี๋ยวก็มีการใช้การสับเปลี่ยนวิธีการเขาก็คิดเป็นเหมือนกัน เราก็ต้องครอบคลุมตรงนี้ไว้ให้ได้ก่อน ด้วยการพัฒนาด้วยการทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้เขามีรายได้อย่างแท้จริง เอาคนดีนะครับ ไปทำให้คนไม่ดีกลับมาสู่กลไกของรัฐ สู่กฎหมายนะครับจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เราอย่าไปทำให้พื้นที่ต่างๆ เป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขาเลย อย่าไปกดดันรัฐ อ้างสิทธิมนุษยชน ก็ขอให้ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม NGO องค์กร สิทธิมนุษยชนในประเทศนอกประเทศเข้าใจตามนี้ด้วยนะครับ กฎหมายไทยนะก็ต้องเคารพซึ่งกันและกัน เหมือนกับที่เราเคารพกฎหมายต่างประเทศทุกฉบับ

สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ก็คือการใช้พื้นที่นอกประเทศ เป็นแหล่งซ่องสุม ข้ามไปมา ก็ได้มีการประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านมาตลอดนะครับ ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีโดยต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดคุยสันติสุข นี่ก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอยู่ ค่อยๆเดินไป

สิ่งที่เราจะต้องระมัดระวังอย่างที่สุดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายสุดโต่ง ซึ่งวันนี้เจ้าหน้าที่การสืบสวนสอบสวน ทั้งด้านข่าวกรอง ข่าวกรองยุทธศาสตร์ ข่าวกรองเศรษฐกิจ ก็ยังไม่พบ แต่มีหลายคนไปพูดนี้พูดโน้น ทำไมจะต้องไปลากเขาเข้ามา ปัญหาเราก็แก้ปัญหาเรา ให้ประชาชนหลุดพ้นความยากจน ให้ประชาชนได้รับการแก้ปัญหาทางกฎหมาย มันก็มีการกล่าวอ้างกัน ถ้ากล่าวอ้างสิทธิมนุษยชนไปเรื่อยๆมันก็พันกันจนได้

ฝากสื่อสังคมทุกภาคส่วนนะครับช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้เกิดความเข้าใจไม่ว่า ไม่ใช่เป็นการรังแกผู้นับถือศาสนาอื่นๆหรือเป็นการละเมิดสิทธิไม่เป็นธรรม มันก็เป็นจุดอ่อนให้ทุกอย่างมันบานปลายไปเรื่อยๆ จากในประเทศจากต่างประเทศพันกันที่นู้นที่นี้แล้วจะให้ทำอย่างไร ปัญหาประเทศมันเยอะอยู่แล้ว เหล่านี้ผมอยากจะกราบเรียนให้ทุกท่านได้รับฟัง แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องรับผิดชอบในการจะแก้ปัญหาให้ได้ เราต้องเริ่มต้นด้วยการมองเห็นปัญหาเดียวกัน ข้อระมัดระวังเดียวกันแล้วก็แก้ไขบูรณาการในทิศทางเดียวกันด้วยความร่วมมือ

อย่ามาโต้แย้งกันอย่ามาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่มันอันตรายโดยไม่ มีข้อเท็จจริง ไม่รู้ว่าหลักการปฏิบัติทางทหารเป็นอย่างไร พลเรือน ตำรวจเป็นอย่างไร หลายอย่างมันต้องให้เจ้าหน้าที่เขาทำงาน เราก็ร่วมมือเท่านั้นเองไม่ใช่เป็นการรังแกผู้นับถือศาสนาอื่นๆ อย่าไปมองกิจกรรมตัวเองเป็นหลัก สิทธิมนุษยชนอย่างเดียว เหล่านี้มันไม่ได้หรอกครับ มันจะถูกดึงไปมาปัญหามันก็จะมากขึ้น ผู้เห็นขัดแย้งมันก็จะมากขึ้น ใช้โอกาสเหล่านั้นที่เราขัดแย้งกันอยู่อย่างนี้และเป็นการเพิ่มภาระให้เจ้า หน้าที่แล้วจะทำงานไหวหรอ วันนี้เขาก็เหน็ดเหนื่อยสาหัสอยู่แล้วทำงานไม่ได้หยุด 24 ชั่วโมง แต่ผมบอกแล้วว่าเป้าหมายมันเยอะ ไม่ได้ไปรบกับเขา ไปดูแลประชาชน กี่ล้านคนล่ะ ทั้งพุทธ ทั้งมุสลิม พื้นที่เท่าไร สวนยางเท่าไร พื้นที่ป่าเขาเท่าไร การกระทำผิดกฎหมายเท่าไร

ก็คนเหล่านี้ทั้งนั้นที่ไปทุ่มเทให้กับท่าน เสียสละความสุขส่วนตัว ชีวิตทุกอย่าง ครอบครัวก็ไม่อบอุ่น คิดถึงเขาแบบนี้บ้าง อย่าไปมองว่าข้างล่างลำบากข้างบนมีผลประโยชน์ ผมไม่เคยคิดจะมีผลประโยชน์ ผมว่าเจ้าหน้าที่เขาคิดอย่างนั้นไม่ได้ รัฐบาลนี้ก็คิดไม่ได้เพราะมันเป็นชีวิตเขาผมคิดแบบนี้และผมก็เคยเป็นทหารมา ก่อน เคยทำงานแบบนี้มาก่อน ต้องคิดกับเขาแบบนี้


อย่ามาคิดว่าผลประโยชน์ตรงนี้เพื่อความชอบธรรม ความชอบของรัฐบาล คสช. ผมไม่เคยคิด เมื่อไรที่ทหารทำก็ต้องคิดแบบนี้ แล้ววันนี้ผมเป็นรัฐบาล ผมเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า คสช. ผมคิดทุกอัน ไม่ได้คิดเข้าข้างทหาร ไม่ได้คิดเข้าข้างพลเรือน ไม่คิดเข้าข้างตำรวจ ผมต้องคิดเข้าข้างทุกคนเพราะคิดถึงคนไทยที่จะต้องร่วมมือแก้ปัญหาภาคใต้

ในส่วนของงานด้านงบประมาณสำนักงบประมาณได้ประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วน ราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐในการดำเนินงานด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2559 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2559 มีผลสัมฤทธิ์ในการทำงานร้อยละ 78.02 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 4.93/ ผลสัมฤทธิ์นั้นวัดจากความสำเร็จของหลายโครงการที่รัฐบาลดำเนินการ ไอ้เรื่องทุจริตไปว่ากันมาแต่เรื่องความสำเร็จฟังกันบางซิครับ ไม่งั้นก็จะบอกว่าไม่รู้เรื่อง มัวแต่ไปยุ่งกับเรื่องทุจริต เรื่องทุจริตก็สอบสวนไป มีข้อมูลอะไรก็เพิ่มมา

รัฐบาลดำเนินการอาทิเช่น 1) มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน ก็เป็นการให้สินเชื่อกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เบิกจ่ายสินเชื่อไปแล้วร้อยละ 98.76 ประชาชนได้ประโยชน์กว่า 3,000,000 ราย มันก็ต้องใช้ไปเรื่อยๆ เพราะคนมันมากขึ้นๆ

(2) มาตรการเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยให้เงินไร่ละ 1,000 บาท อันนี้เพื่อไปเตรียมในเรื่องของการเตรียมการผลผลิตหรือปัจจัยการผลิต ก็ดำเนินการไปแล้วร้อยละ 99.88 ของเป้าหมาย มีเกษตรกรได้ประโยชน์กว่า 3.6 ล้านราย ก็ขอให้มันสุจริตต่อกัน ก็ให้กำลังใจซึ่งกันและกันเกษตรกรด้วย เจ้าหน้าที่ด้วย อย่าให้มีปัญหาเรื่องทุจริตจะได้ไม่ต้องมาเสียเวลาการตรวจสอบ

เรื่องที่ (3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรเพื่อให้มีเงินคงเหลือในการดำรงชีพมากขึ้น ช่วยเหลือไปแล้วกว่า 600,000 ราย

(4) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 ช่วยชะลอข้าวเปลือกเข้าสู่ตลาดได้กว่า 500,000 ตัน มีเกษตรกรได้ประโยชน์แล้วกว่า 70,000 ราย

(5) พัฒนาพื้นที่ชลประทาน กว่า 1.7 แสนไร่ ทำให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น 153 ล้าน ลบ.ม. พร้อมสร้างแหล่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทานอีกมากกว่า 19,000 บ่อ เพื่อช่วยแก้ปัญหาน้ำในภาคการเกษตร

ขอขอบคุณพี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่และข้าราชการทุกฝ่าย ภาคเอกชน ที่เข้ามาร่วมดำเนินการขับเคลื่อนประเทศ ตามแนวทางประชารัฐนะครับ ผมทราบว่าทุกคนเหนื่อยแต่ผมเห็นรอยยิ้มประชาชนมีความสุข แล้วก็ทุกคนมีความสุข ทั้งข้าราชการ ทั้งในพื้นที่นอกพื้นที่ ผมเองก็ยิ้มเพราะผมเห็นรอยยิ้มของเขาผมก็สบายใจขึ้น

แต่ยังไม่จบหรอกครับ เป็นเพียงรอยยิ้มที่ยิ้มไม่เต็มที่ ต้องยิ้มกว้างๆ นั่นคือการแก้ปัญหาสำเร็จไปแล้ว วันนี้ผมเห็นรองนายก คณะรัฐมนตี ข้าราชการ เอกชนเขาทำกันอย่างเต็มที่ เพียงแต่การสร้างความรู้มันลำบากเหมือนกัน บางทีก็ไม่สนใจกัน เขาพูดก็ไม่สนใจ ต้องคอยมาฟังผมพูดคนเดียว มันก็ไม่ได้ ท่านก็ต้องฟังทุกคน หนังสือพิมพ์อ่านทุกหน้า อย่าอ่านหน้าแรกหน้าเดียว หน้าแรกขัดแย้งทั้งสิ้นไปดูข้างในนู้น หลายเล่มก็ดีอยู่แล้ว หลายเล่มก็ไม่เปลี่ยนแปลง

เพราะฉะนั้นผมอยากเห็นรอยยิ้มเจ้าหน้าที่ พี่น้องประชาชนที่มาคอยต้อนรับผม อย่าเรียกว่าต้อนรับเลย มาเจอกันทุกครั้งที่ลงพื้นที่ มันก็เป็นกำลังใจให้ผมทำงานนะครับ แล้วทุกคนก็มีความหวังความฝันร่วมกัน ช่วยกันเดินหน้าประเทศต่อไปนะครับ

สุดท้ายนี้ ตลาดคลองผดุงฯ เดือน ก.ย. นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จับมือกับกระทรวง ICT นะ ครับ นำเสนอ “ตลาดเกษตรดิจิทัล” ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีก้าวไกล การเกษตรไทยก้าวหน้า” ระหว่างวันที่ 5 – 25 ก.ย. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้าน ICT ใน การประยุกต์ใช้สนับสนุนภาคการเกษตรกรรมของประเทศ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงให้ความรู้ การใช้ระบบดิจิทัลในการขับเคลื่อน ซึ่งกำลังเป็นแนวทางของเราอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะได้ทันสมัยสักที รวดเร็วประชาชนเข้าถึง ค้าขายได้ทางอินเตอร์เน็ตเหล่านี้ ผมมุ่งเน้นไปถึงเกษตรกร ผู้ผลิตขายตรงเลยก็ได้ ไม่งั้นมันผ่านทางนู้นทางนี้ก็มีปัญหาหมด ราคามันก็ต่ำลง อันนี้เป็นแนวทางของ “ไทยแลนด์ 4.0” นี้คือ ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อประชาชนข้างล่าง

เราจะแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนหลัก คือ


(1) โซนดิจิทัล สำหรับสินค้า IT, Smart Phone, Computer

(2) โซนเกษตรดิจิทัล คือการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ รวมทั้งสินค้าที่ตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ ด้วยระบบ QR Code อันนี้จำเป็นนะครับ สินค้าGIเหล่านี้ วันหน้าถ้าไม่มี GI ขายไม่ได้

(3) โซนสินค้าเกษตร Organic เกษตรอินทรีย์นั่นแหละ เราก็จะเร่งรัดในเรื่องของการจดทะเบียน ขึ้นทะเบียนสินค้า GI เหล่า นี้ของไทยเพื่อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จาก 49 จังหวัด 67 รายการ ทำเสร็จไปแล้ว อีกหลายรายการยังรอการขึ้นทะเบียนอยู่ กำลังตรวจสอบอยู่นะครับ เพื่อรับรองมาตรฐานเหล่านี้ขึ้นทะเบียนได้ ผมก็กำชับไปแล้วให้ทุกจังหวัด ยกระดับสินค้าเหล่านั้นให้ขึ้นทะเบียนให้ได้โดยเร็ว รวมทั้งสินค้าแปรรูป เพิ่มมูลค่า และผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน หลายคณะทำงานต้องเร่งทำงานนะครับ

อันที่ (4) คือโซนกิจกรรมสาธิตและฝึกอบรม ด้านการเงิน การขาย การบัญชี และการตลาด การเสริมสร้างนวัตกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการให้คำปรึกษาทางธุรกิจและ SME เป็นต้น ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนคนไทยที่สนใจ เข้าร่วมในงาน เพื่อสนับสนุนสินค้าเกษตรของไทยนะครับ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร

เห็นใจเขาเถอะครับ มาซื้อสินค้าเกษตรกันมากๆ เขาก็มีเงินกลับไปบ้านเขา เลี้ยงดูครอบครัวเขานะครับ ปัจจุบันผมก็ดีใจนะครับ ที่ตลาดคลองผดุงนั้นได้รับความนิยมพอสมควร จัดมาแล้ว 22 ครั้งนะครับ มีร้านค้าผู้ประกอบการหมุนเวียนเข้ามาดำเนินการมากกว่า 3,000 ราย มีผู้เข้าร่วมในงานกว่า 2 ล้านคน มียอดการจำหน่ายสั่งซื้อสินค้ารวมกว่า 1,257 ล้านบาท แล้วก็น่ายินดีกับความสำเร็จทั้งเถ้าแก่เก่า เถ้าแก่ใหม่ เถ้าแก่ใหญ่เถ้าแก่เล็ก ทั้งหมด เถ้าแก่น้อย ขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมด้วยช่วยกันในการพัฒนาประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง