ไขปมสงสัย! ญี่ปุ่นจดสิทธิบัตร "ใบกระท่อม" จริงหรือ

สังคม
5 ก.ย. 59
21:46
8,124
Logo Thai PBS
ไขปมสงสัย! ญี่ปุ่นจดสิทธิบัตร "ใบกระท่อม" จริงหรือ
กระแสข่าวประเทศญี่ปุ่นขอสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (PCT) นำสารบางอย่างที่ได้จากใบกระท่อมไปใช้ ทั้งที่เป็นพืชมีถิ่นกำเนิดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำไปสู่คำถาม หากไทยจะปลดล็อคใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด มาใช้ทางการแพทย์ในอนาคตจะทำได้จริงหรือ

วันนี้ (5 ก.ย. 2559) นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า เชื่อมั่นไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช และเป็นสมาชิกข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากลายทางชีวภาพ (CBD) ถ้าใครจะนำพืชสมุนไพรไทยไปต่อยอด ต้องได้รับอนุญาตแล้วต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้ไทย

ขณะเดียวกัน บริษัทยาข้ามชาติไม่สามารถตั้งฐานการผลิตยาที่สกัดจากใบกระท่อมได้ เพราะตามกฎหมายไทยยังถือเป็นสารเสพติดให้โทษ ห้ามผลิตจำหน่ายในประเทศ และห้ามนำเข้าตั้งแต่ต้น

ส่วนสิทธิบัตร PCT ซึ่งเป็นระบบคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรใช้กันสากลทั่วโลก เนื้อแท้เน้นเรื่องของการวิจัยพัฒนา แต่ไม่ได้ละเลยการให้ประโยชน์กับประเทศที่เป็นสมาชิก ซึ่งการคุ้มครองผ่านสิทธิบัตร PCT ถูกระบุว่าเป็นประโยชน์มากที่สุด เพราะมีเวลาถึง 2 ปีครึ่ง

โดยหากเป็นเรื่องใบกระท่อม ถ้าจะดำเนินการตามระบบสิทธิบัตร PCT จะต้องปฏิบัติตามหลักการในการแบ่งปันผลประโยชน์ ตามข้อตกลงอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ CBD ซึ่งครอบคลุมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และให้แบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม

ทว่า ไทยซึ่งเป็นประเทศในภาคี ไม่มีกฏหมายระหว่างประเทศในลักษณะนี้ มีแต่กฎหมายในประเทศที่คล้ายคลึงกันในแง่ของการแบ่งปันผลประโยชน์ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ในมาตรา 52 กำหนดเรื่องการแบ่งประโยชน์ ใครจะนำพืชของไทยไปปรับปรุงพันธุ์ วิจัย หรือใช้ประโยชน์ทางการค้า ต้องขออนุญาต และตกลงแบ่งปันผลประโยชน์

สรุปว่า ทั้งการจดสิทธิบัตรด้วยระบบสากล PCT กับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ CBD ทั้ง 2 ส่วนนี้ เน้นการปันผลประโยชน์ ทั้งประเทศสมาชิกที่ขอจดและประเทศที่เป็นต้นทางหรือเจ้าของพันธุ์พืช หรือสิ่งมีชีวิตที่ถูกนำไปวิจัย และเกี่ยวข้องโดยตรงกรณีของไทยและญี่ปุ่นเรื่องใบกระท่อม

ทั้งนี้ สิ่งที่ญี่ปุ่นพยายามทำ คือการจดสิทธิบัตรอนุพันธ์ของใบกระท่อมผ่านสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรหรือ PCT

ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) เปิดเผยว่า หลายปีก่อนนักวิจัยจากญี่ปุ่นร่วมกับนักวิจัยไทย ค้นพบสารตัวหนึ่งจากใบกระท่อม ซึ่งมีคุณสมบัติบรรเทาอาการปวดได้ดีคล้ายการใช้ฝิ่น และดีกว่าการใช้มอร์ฟีน

อย่างไรก็ดี นักวิจัยญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรแล้วในญี่ปุ่น 2 ใบ ในสหรัฐฯ 1 ใบ สิทธิของนักวิจัยญี่ปุ่นก็คือ โครงสร้างทางเคมี สูตรยาที่มีองค์ประกอบของสาร นำไปแปรรูปเป็นยาที่มีสารร้อยละ 0.1-100 รักษาได้ทั้งคนและสัตว์

แต่หากญี่ปุ่นต้องการให้สิทธิบัตรมีผลได้ทั่วโลก ต้องผ่านการจดสิทธิบัตรระหว่างประเทศ PCT ซึ่งยังไม่สามารถทำได้ เพราะคาบเกี่ยวกับอนุสัญญา CBD ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก และขอบข่ายของอนุสัญญา CBD อนุญาตให้จดสิทธิบัตรเฉพาะกระบวนการหรือสารที่ได้จากการพัฒนาต่อยอดจากใบกระท่อมเท่านั้น ไม่สามารถจดในลักษณะใครเป็นเจ้าของใบกระท่อมได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง