ในหลวงทรงปกครองแผ่นดินบนฐานของหลักธรรม

สังคม
19 ต.ค. 59
15:28
1,213
Logo Thai PBS
ในหลวงทรงปกครองแผ่นดินบนฐานของหลักธรรม
ไทยพีบีเอสจัดเสวนา ลานธรรม บันดาลใจ หัวข้อ “คิดถึงกษัตริย์ผู้ทรงธรรม” เมื่อวันที่ 17 ต.ค.2559 โดยมีพระอุปปัฏฐากของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ และผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ร่วมเสวนาเพื่อให้เห็นถึงการปกครองแผ่นดินที่ตั้งอยู่บนหลักธรรม

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์และพระกันตสีโล จากวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอุปัฏฐากหรือพระผู้รับใช้สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ที่ผ่านมาจึงได้เข้าเฝ้าและเห็นการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาโดยตลอด ส่วน นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผู้อำนวยการหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เป็นนายแพทย์นักกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ที่หันมาจัดกิจกรรมฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้คนที่กำลังโศกเศร้าผ่านการสวดมนต์ภาวนา

“ทุกวันนี้หลายๆ คนอาจจะไม่อยากทำอะไร รู้สึกเศร้า รู้สึกว่าไม่มีแรงแม้กระทั่งการทำงาน ทำให้เราต้องมาคิดใหม่ว่า พลังภูมิพลหรือพลังของแผ่นดินนี้ จางหายไปจริงหรือไม่ แต่ถ้าเราดูพระราชกรณียกิจ ถ้าเรามาติดตามสิ่งที่เรียกว่า มรดกที่พระองค์ทิ้งไว้ให้แก่พวกเรานั้นมีมหาศาล ที่สำคัญก็คือ พลังนี้ เราจะเอามาเป็นพลังของการดำรงตัวของเราได้อย่างไร” พระศากยวงศ์วิสุทธิ์กล่าวเปิดวงเสวนา โดยพยายามให้ผู้คนนึกถึงพระราชกรณียกิจและผลที่เจริญงอกงามอันเกิดจากการปกครองแผ่นดินตลอด 70 ปีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อนำมาเป็นพลังยามเศร้าโศก ท้อแท้และไม่ทำให้พลังของแผ่นดินอ่อนแอลง

 

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานบนพื้นฐานของหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาตลอด เพราะโครงการตามพระราชดำริต่างๆ ล้วนเกิดจากการเริ่มพิจารณาทุกข์ของประชาชนจนนำมาสู่การใช้พระปรีชาสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหา ซึ่งสอดคล้องกับหลักอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

“อย่าไปมองโครงการพระราชดำริแค่ที่ความสำเร็จ แต่ให้มองว่าโครงการเกิดขึ้นเพราะอะไร และเมื่อพระองค์ได้แนะนำสั่งสอนแล้ว ซึ่งบางครั้งก็เป็นการลงพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ บางครั้งก็เป็นการลงแรงของพระองค์เอง และบางครั้งก็ใช้ทั้งพระเดชและพระคุณแ ดังนั้น ปัญหาเกิดจากมีทุกข์ แต่ปัญหาคือบางทีเราไม่รู้ว่าเราเป็นทุกข์ และพระองค์ก็ศึกษาจนมองเห็นสมุทัย ก็คือมองเห็นเหตุของทุกข์ และเมื่อทรงมองเห็นเหตุของทุกข์ ก็ทรงพยายามศึกษาหาวิธีแก้ทุกข์หรือนิโรธว่ามีไหม เมื่อหานิโรธได้ พระองค์ก็มาพัฒนาหาสรรพวิชาและออกมาเป็นวิธีแก้”

 

อีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการนำหลักธรรมมาปรับใช้ในการทรงงาน คือ คำสอนเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ที่สามารถอธิบายให้เห็นถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างหลักธรรมะและคำภาษาอังกฤษที่ว่า Sustainability หรือความยั่งยืน

“หลักสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงมี 3 ประการ คือ พอประมาณ คุ้มภัยและเหตุผล ซึ่งก็คือ ศีล สมาธิและปัญญา ศีลคือความปกติซึ่งก็คือความพอประมาณ การมีสมาธิก็คือที่เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจ และกระบวนการที่จะเดินไปได้นั้นก็ต้องอาศัยปัญญาหรือการรู้ทุกมิติ และเมื่อถอดรหัสแล้วก็จะพบว่าคำว่า ธรรมะ ในภาษาบาลีมีรากศัพท์ที่ตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า Sustainability”

นอกจากนั้นยังทรงให้ความสำคัญกับการเผยแผ่พุทธศาสนาอย่างมาก ครั้งหนึ่งทรงทอดพระเนตรเห็นหนังสือเรื่องสัมมาทิฏฐิ ซึ่งถูกเรียบเรียงมาจากคำสอนของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก มีการพิมพ์ผิดมาก จึงทรงมีพระราชดำริให้พิมพ์เป็นครั้งที่ 2 การพิมพ์ครั้งนี้ทรงตรวจต้นฉบับด้วยพระองค์เองทั้งหมด ทั้งยังส่งเจ้าหน้าที่มาบันทึกคำสอนของสมเด็จพระญาณสังวรฯและนำกลับไปศึกษาภายหลังอย่างมิขาด

 

พระกันตสิโล พระอุปัฏฐากของสมเด็จพระญาณสังวรฯ อีกรูปหนึ่ง กล่าวว่า การที่ทำให้คำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นจริงนั้น ในเวลานี้คนไทยควรเปลี่ยนความโศกเศร้าให้เป็นพลัง โดยการนั่งภาวนา สวดมนต์ ซึ่งทำให้เกิดศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเรียกรวมกันว่าบุญ น้อมถวายแด่พระเจ้าอยู่หัว นอกจากถือเป็นการแสดงความจงรักภักดียังช่วยฟื้นฟูพลังชีวิตที่กำลังอ่อนแอ

หลังจากนั้นผู้เสวนาทั้งหมดได้ร่วมกันสวดมนต์บทมรณัสสติ ซึ่งมีเนื้อหาให้ทุกคนพิจารณาความตายในแง่บวก นั่นคือพิจารณาว่าความตายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขณะมีชีวิตอยู่จึงต้องทำประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น หลังจากนั้นมีหยุดนิ่งรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นเวลา 9 นาทีและปิดท้ายด้วยการสวดคาถาอุทิศถวายส่วนกุศลฯ



พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ได้กล่าวปิดท้ายการเสวนาว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจากพวกเราไปแค่ร่างกาย แต่คำสอนมากมายของพระองค์ยังคงอยู่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องทำให้คำสอนนั้นเป็นจริง

“คำสอนสุดท้ายของพระพุทธเจ้าบอกว่า ภิกษุทั้งหลาย สังขารนั้นไม่เที่ยงและถึงเวลาแล้วที่ท่านจะต้องไป แต่ท่านทิ้งธรรมะและวินัยไว้เป็นที่พึ่งของเรา ขอให้ทุกคนพึ่งธรรมะและวินัยนั้นเพื่อที่จะสามารถดำเนินชีวิตของเราต่อไป ดังนั้น ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสามารถที่จะทิ้งคำสอนสุดท้ายไว้ให้แก่พสกนิกรชาวไทยก็คงไม่ต่างอะไรกัน อย่าให้คำสอนเหล่านั้นไปกับพระองค์ ขอให้คำสอนเหล่านั้นซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่านำความสุข ความเจริญและประโยชน์ของมหาชน ท่านมอบให้พวกเราเป็นคนที่จะต้องประคองทำให้สิ่งเหล่านั้นอยู่ในใจของเราตลอดไป”

ข่าวที่เกี่ยวข้อง