"กรมประมง"ชี้ใบอนุญาตวิจัยปลากระเบนหมดอายุ -สอบธุรกิจเที่ยว

สิ่งแวดล้อม
29 มิ.ย. 60
16:54
1,603
Logo Thai PBS
"กรมประมง"ชี้ใบอนุญาตวิจัยปลากระเบนหมดอายุ -สอบธุรกิจเที่ยว
กรมประมง เตรียมตรวจสอบกรณีงานวิจัยปลากระเบนราหูน้ำจืด พร้อมลุยสอบธุรกิจพาชาวต่างชาติตกปลาใน จ.สมุทร สงคราม ด้านผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาฯ ชี้แจงไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาวต่างชาติที่ตกปลากระเบน ระบุเป็นการทรมานสัตว์

วันนี้ (29 มิ.ย.2560) นางอุมาพร พิมลบุตร รองอธิบดีกรมประมง กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออน ไลน์เผยแพร่ภาพชาวต่างชาติตกปลากระเบนราหูน้ำจืดในแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทร สงคราม และมีข้อมูลว่าอ้างมีใบอนุญาตจากกรมประมงเพื่อทำวิจัย ขณะที่ยังพบมีธุรกิจและการท่องเที่ยวนำชาวต่างชาติลักลอบเข้ามาตกกระเบนราหูในแม่น้ำแม่กลอง โดยยอมรับว่า กรมประมง เคยออกใบอนุญาตให้ทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ ตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 ให้กับศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.2558-30 พ.ย.2559 ดังนั้นใบอนุญาตจึงหมดอายุแล้ว 

รองอธิบดีกรมประมง บอกว่า ที่ผ่านมาเมื่อให้ใบอนุญาตไปแล้ว ไม่เคยมีการตรวจสอบหรือได้รับผลงานกลับมาว่าทำอะไรไปบ้าง ซึ่งจุดนี้ยอมรับว่าอาจเป็นจุดที่กรมประมง ต้องกลับมาแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติมเติมในพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2558 และต้องทบทวนการขออนุญาตเพื่อการวิจัยมากขึ้น

ส่วนประเด็นที่เกิดขึ้น ขณะนี้กรมประมง ยังไม่ได้รับการติดต่อ หรือติดต่อไปยังศูนยวิจัยโรคสัตว์น้ำโดยตรง เพื่อสอบข้อมูลภาพหรือข่าวที่เกิดขึ้นในตอนนี้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร  โดยระหว่างนี้ จะดำเนินการ 2 ส่วนคือตรวจสอบว่า ภาพบุคคลที่ปรากฎคือกลุ่มบุคคลที่อยู่ในการวิจัยหรือไม่ โดยเฉพาะถ้านำใบอนุญาตไปใช้ต่อทั้งที่หมดอายุแล้ว จะมีความผิด ส่วนอีกประเด็นคือการตรวจสอบธุรกิจท่องเที่ยวที่นำชาวต่างชาติมาตกปลากระเบนราหูน้ำจืด ซึ่งมีความผิดทางกฎหมายชัดเจน 

 

ผอ.ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำจุฬาฯโพสต์ 10 ข้อแจงไม่เกี่ยว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.สพ.ญ.ดร.นันทริกา นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กรณีชาวต่างชาติกับคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ตกและจับปลากระเบนราหู โดยมีรายละเอียดดังนี้

สำหรับกรณีที่มีผู้ถูกจับกุมข้อหาจับปลากระเบนในแม่น้ำแม่กลอง และกล่าวอ้างว่าเป็นงานวิจัยของศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำจุฬา และมีการนำเอกสารใบอนุญาตเก่าจากเจ้าหน้าที่กรมประมงมาออกตามสื่อเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ  

1.งานวิจัยปลากระเบนตามใบอนุญาตที่เอามาลงในสื่อได้จบลงเมื่อปี 2559 เป็นงานเก่า ที่สิ้นสุดแล้ว ทำจบแล้ว...แต่ที่แปลกใจคือเอามาได้อย่างไร...เพื่ออะไร...ใบเก่าๆในตู้กรม ปัจจุบันกำลังทำโครงการใหม่ดำเนินการประสานความร่วมมือกับหลายหน่วยงานยังอยู่ในขั้นตอนการขอความคิดเห็นจากผู้ร่วมโครงการ

2.การตกปลาในวันที่ถูกจับนั้น ทางศูนย์ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในการจัดการและไม่รู้จักฝรั่งหรือคนที่ไป

3.ทีมตกปลานั้นเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับที่เคยช่วยงานวิจัยของศูนย์และเป็นกลุ่มเดียวกับที่ช่วยงานอนุรักษ์ปลากระเบนของจังหวัดมานาน ทั้งในงานประมงแห่งชาติของกรมประมงเมื่อหลายปีก่อน งานปล่อยกระเบนของอุทยาน ร.2 งานวันตกกุ้งของจังหวัดเมื่อไม่นานมานี้ และช่วยเหลือกระเบนในช่วงวิกฤตการณ์น้ำเสียในแม่น้ำแม่กลองเมื่อปีที่้แล้ว เป็นทีมที่นำนักท่องเที่ยวมาตกปลาด้วย

4.ตามปกติทางศูนย์จะได้รับแจ้งจากกลุ่มนักตกปลา (ทุกแห่ง) ว่าได้ปลากระเบน แล้วนักวิจัยจะเดินทางไปขอวัดขนาด เก็บตัวอย่างและฝังไมโครชิพ โดยไม่ต้องจัดการตกปลาเอง หากไปไม่ได้จะขอให้เขาวัดขนาดและขอปลายครีบขนาดเท่าปลายหัวไม้ขีดไฟมาเก็บดีเอ็นเอไว้

5.ภาพที่หมอถ่ายกับชาวต่างประเทศ เป็นการถ่ายทำสารคดีที่ทาง film board ให้ไปช่วยทางวิชาการ ได้รับอนุญาตแล้ว และมีเจ้าหน้าที่ของจังหวัดไปร่วมควบคุม เพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ซึ่งการจัดการดำเนินการทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับทางศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ

 

 

6. จากภาพที่เห็น การจับปลาแบบรุนแรงและนำขึ้นมาจากน้ำในลักษณะนั้นเป็นการทรมานสัตว์ ไม่ควรทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับปลาที่มีตวามบอบบางที่ผิวด้านล่างอย่างปลากระเบน น่าสงสารมากค่ะ

7.ในการทำงานวิจัย เราจะมีกติกาว่าจะไม่ให้เหงือกปลาพ้นน้ำ นอกจากจำเป็นจริงๆ ให้ใช้เวลาสั้นที่สุด และห้ามมีการร้อยเชือกผ่านช่องหายใจคล้ายสนตะพายควายเพื่อผูกไว้แบบที่คนพื้นบ้านนิยมทำ ตาข่ายที่ใช้ช้อนปลาจะต้องไม่มีปม (Knotless) เราสั่งมาจากต่างประเทศ เพื่อไม่ให้ขูดผิวท้องปลา ขอเบ็ดต้องเป็นแบบสลายได้ในสองสัปดาห์เผื่อมีการหลุดติดไปจะไม่ทำอันตรายต่อปลาแบบขอเบ็ดโลหะทั่วไป การดึงและจับปลาต้องมีความนิ่มนวลเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดมากทำให้มีผลต่อค่าทางโลหิตวิทยา เราจะให้วิตามินและยาป้องกันการติดเชื้อระยะยาวกับสัตว์ ทำงานให้เร็วที่สุดแล้วรีบปล่อยคืนแม่น้ำไป ในช่วงกว่าสิบปี ทำมาประมาณ 250 ตัวในแม่น้ำหลายสายไม่เคยมีปัญหาการสูญเสีย และเราสามารถจับตัวเดิมได้หลายครั้ง ตรวจสอบจากไมโครชิพ พบว่ามีสุขภาพปกติ บางครั้งห่างกันถึง 8 ปี

8.งานอนุรักษ์และวิจัยกระเบนในประเทศไทย เริ่มต้นได้เพราะบริษัทฟิชสยามซึ่งทำธุรกิจการตกปลาเป็นกีฬามาติต่อขอให้หมอไปช่วย เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดสนใจ เขาเกรงว่าจะหมดไป นักตกปลาปล่อยปลาคืนไป เพราะต้องการให้ปลาอยู่ในแม่น้ำเพื่อเขาจะได้มีรายได้ทุกวัน แตกต่างจากคนล่าปลาเพื่ออาหารและการค้าปลาสวยงามที่ต้องเอาออกไปจากแม่น้ำ และอาจรอดหรือตายตามโชคชะตา

9.ทางศูนย์ได้พยายามผลักดันให้มีกฏหมายที่คุ้มครองปลากระเบนมาตลอด โดยได้รับความกรุณาจากท่านประภาศ บุญยินดี อดีตผู้ว่าราชการสมุทรสงคราม ที่ออกประกาศจังหวัดให้ในปี 2553 และ ท่าน ชลทิศ สุรัสวดี อดีตอธิบดี ทช. ที่ได้ช่วยนำเสนอและผลักดันจนสามารถผ่านการพิจารณาให้กลายเป็นสัตว์คุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ. ได้เมื่อปีที่แล้ว

10.ปัญหาการตายของปลากระเบนที่ร้ายแรงที่สุด คือมลพิษ ที่ยังไม่มีการแก้ไขเลย ตายไปเป็นร้อยตัวก็เงียบสนิท อยากให้หันมาจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจังเหมือนกับที่จับกุมคนตกปลาบ้างค่ะ ทุกวันนี้ทั้งปลาธรรมชาติและปลาในกระชังต้องลุ้นทุกวันว่าเมื่อไหร่ชะตาจะขาด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง