คาด 1 สัปดาห์ระบาย "มวลน้ำ 400 ล้านลบ.ม.พ้นเมืองสกลนคร

ภัยพิบัติ
31 ก.ค. 60
10:16
5,629
Logo Thai PBS
คาด 1 สัปดาห์ระบาย "มวลน้ำ 400 ล้านลบ.ม.พ้นเมืองสกลนคร
ปลัดมท. เผยกรมชลประทาน รายงานปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำหนองหาร จ.สกลนคร 400 ล้านลบ.ม. แต่ระบายได้เฉลี่ย 35 ล้านลบ.ม.คาดใช้เวลา 1 สัปดาห์ พร้อมเตือน 4 จังหวัด คือ ยโสธร ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี รับมือระบายจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์

วันนี้( 31 ก.ค. 2560) นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภาพรวมปัญหาน้ำทวมที่จังหวัดสกลนคร ในขณะนี้เกิดจากปริมาณฝนที่ตกมากบนเทือกเขาภูพานทำให้น้ำจากเทือกเขาภูพานไหลลงมาอยู่ที่อ่างเก็บน้ำหนองหาร ซึ่งอยู่ใกล้เขตอำเภอเมืองและเป็นพื้นที่ราบต่ำ ทำให้มีผลกระทบต่อเขตชุมชนของอำเภอเมืองสกลนคร โดยปกติอ่างเก็บน้ำหนองหารสามารถรับน้ำได้ที่ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ทางกรมชลประทานรายงานว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้าไปยังอ่างเก็บน้ำหนองหารประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะนี้ จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอยู่ 2 ทาง โดยทางแรกคือนำน้ำที่ค้างอยู่ในอ่างเก็บน้ำหนองหาร ที่มีผลกระทบต่อชุมชนเมืองออกไป ทางจ.นครพนม เพื่อลงแม่น้ำโขง แต่มีปัญหาอุป สรรคคือเส้นทางระบายน้ำคือลำน้ำก่ำ ขณะนี้น้ำไหลแรงมาก แม้กรมชลประทานได้เปิดประตูระบายน้ำหมดทั้ง 4 บานแล้ว แต่น้ำยังคงไหลได้แค่วันละ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ฝนลงมาวันละ 35 ล้านลูกบาศก์เมตรเพราะฉะนั้นน้ำฝนก็จะสะสมมากขึ้น

 

 

นอกจากนี้ช่วงบ่ายกรมชลประทาน กำลังระบายจากเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งจะกระทบกับพื้นที่ริมน้ำใน 4 จังหวัด คือ ยโสธร ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ซึ่งมีการแจ้งเตือนไปยังผู้ว่าราชการ ให้แจ้งเตือนชาวบ้านแล้ว 

สำหรับการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำนั้น ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมแล้วแต่ยังไม่สามารถติดตั้งได้เพราะน้ำแรงมาก และหากทำสำเร็จปริมาณน้ำก็จะลดลงแต่ในระหว่างที่น้ำยังไม่ลดนั้น หน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดสกลนคร ต้องดูแลประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมประมาณ 3 หมื่นรายที่อาศัยอยู่ใน 42 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสกลนครซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจต้องดูแลให้ประชาชนได้รับการดูแลพอสมควรใน ระหว่างที่รอการระบายน้ำ ทั้งนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครได้จัดระบบให้มีหน่วยแจกจ่ายอาหารและอพยพทั้งหมด 6 จุดด้วยกันโดยสามารถผลิตอาหารสำเร็จรูปได้วันละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นชุด นอกจากนี้ยังมีเรือมาบริการ 200 ลำ

ด้านนายสมชาย วิทย์ดำรง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม กล่าวว่า น้ำจากหนองหาร จ.สกล นคร ส่วนใหญ่ลงมาทางลุ่มน้ำก่ำ 35 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน ระบายได้ 25 ล้านลบ.ม. ต่อวัน มีน้ำตกค้างวันละ 10 ล้าน ลบ.ม. เอ่อล้นท่วมพื้นที่ 2 ฝั่งของ อ.วังยาง อ.นาแก และบางส่วนของ อ.เรณูนคร ขณะที่ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่แล้ว พร้อมประสานติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำได้ 50 ล้าน ลบ.ม. ต่อวัน คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายภายใน 1 สัปดาห์

ส่วนที่ อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม น้ำเข้าท่วมเต็มพื้นที่การเกษตร 50,000 ไร่ เร่งผลักดันลงแม่น้ำโขง โดยชาวบ้าน อ.นาแก ร้องขอนมผงสำหรับเด็ก ส่วนปศุสัตว์แจกจ่ายอาหารแห้งและฟางแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์

 

 

เปิดแผยระบายน้ำหนองหาร คาดใช้เวลา 1 สัปดาห์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มวลน้ำอีกกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่จะต้องเร่งระบายลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งตามแผนของกรมชลประทาน คาดการณ์ว่า จะสามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้ภายใน 7 วัน 7 วันแต้่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม และเส้นทางการระบายน้ำจากสกลนครไปยังแม่น้ำโขง ผ่านลำน้ำก่ำ ทำให้วันนี้ต้องจับตาไปที่สถานการณ์น้ำในจังหวัดนครพนม

เพื่อแก้ไขวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในจังหวัดสกลนคร ซึ่งขณะนี้ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมในอีก 7 อำเภอ กรมชลประทานติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดันน้ำเพิ่ม 26 ตัว เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ลำน้ำก่ำ และเพื่อป้องกันพื้นที่การเกษตรที่จะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมขัง


ซึ่งหากสามารถติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำได้ตามแผนที่วางไว้ และไม่มีปริมาณน้ำฝนไหลลงมาสมทบจะสามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ภายใน 7 วันเบื้องต้น กรมชลประทาน ระบุว่า 3 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดน้ำท่วมจังหวัดสกลนครครั้งนี้คือ ฝนตกสะสม น้ำป่าจากเทือกเขาภูพาน และน้ำจากหนองหาร

หากดูจากแผนที่จำลองของกรมชลประทาน จะเห็นว่า บริเวณที่เป็นสีแดง คือจุดที่เกิดน้ำท่วมหนัก ซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับหนองหาร ซึ่งปกติหนองหาร สามารถจุน้ำได้ 267 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีปริมาณน้ำไหลเข้าหนองหารตลอดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมากกว่า 400 ล้านลูกบากศ์เมตร ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมในหลายพื้นที่

 



น้ำที่เกินปริมาณกักเก็บกว่า130 ล้านลูกบาศก์เมตร จะไหลไป 2 ทางคือทางเหนือไหนผ่านนอ.ท่าอุเทน  และส่วนใต้ ไหลลงหนองก่ำ ผ่านจังหวัดนครพนม ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง 
แต่อุปสรรคในการระบายน้ำครั้งนี้ พบว่า จากลำน้ำก่ำ ไปยังแม่น้ำโขง มีประตูระบายน้ำหลัก รวม 5 ประตู ระยะทางรวม 123 กิโลเมตร ขณะนี้เปิดประตูระบายน้ำครบทุกบ้านแล้ว บางส่วนติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำได้แล้ว

นายวัชรพงศ์ ศรีสำราญ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานสกลนคร บอกว่าการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 26 เครื่อง จะทำให้ความเร็วการระบายน้ำเพิ่มขึ้นจากปกติวันละ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นวันละ 40-50 ล้านลูกบาศก์เมตร หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มอีก แนวโน้มระดับน้ำจะทรงตัวและลดลงตามลำดับ คาดว่าน้ำท่วมจะคลี่คลายไม่เกิน 10 วัน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง