ยะไข่ในบริบทของเสรีนิยมใหม่

ต่างประเทศ
21 ก.ย. 60
08:57
1,141
Logo Thai PBS
ยะไข่ในบริบทของเสรีนิยมใหม่
นักสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม เผย ถึงความสำคัญของรัฐยะไข่ ซึ่งมีความสำคัญด้านทรัพยากรทั้งก๊าซและน้ำมัน โดยมีชาติมหาอำนาจทั้งจีนและอินเดียที่ให้ความสนใจ

ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ( สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก  "Chainarong Sretthachau" กรณีรัฐยะไข่ ดังนี้

แม้ยะไข่จะเป็นรัฐที่ยากจนที่สุดในพม่า แต่กลับรุ่มรวยด้วยทรัพยากรก๊าซและน้ำมัน อีกทั้งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ ทำให้ยะไข่เป็นความหวังในการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจของพม่า รัฐบาลพม่าได้วางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในรัฐยะไข่อย่างน้อย 3 แห่ง ในยุคที่ทหารพม่าชนะการเลือกตั้งในปี 2011

ภายใต้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในยะไข่ของรัฐบาลพม่า กลุ่มทุนต่างๆ ก็ได้เข้ามีส่วนในการแบ่งปันกันผลประโยชน์อย่างถ้วนหน้า

จีน เป็นกลุ่มที่ได้ผลประโยชน์มากที่สุด จีนเข้ามาลงทุนในยะไข่ด้วยมูลค่ามหาศาล เช่น การวางท่อส่งก๊าซจากอ่าวเบงกอลไปยังจีนภายใต้การดำเนินการของ China National Petroleum Corporation ที่ร่วมทุนกับเกาหลีและบริษัทของพม่า โครงการที่เป็นหัวใจของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับพม่านี้ได้เคลียร์กลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวท่อก๊าซออกไปถึง 50,000 คน และทหารพม่าได้ส่งกองกำลังถึง 33 กองพันเพื่อคุ้มครองแนวท่อส่งก๊าซ มีการก่อสร้างฐานทัพเรือเพื่อปกป้องแท่นขุดเจาะและมีการสร้างศูนย์ขีปนาวุธถัดจากท่าเทียบเรือน้ำลึก

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผยิวว์ (Kyaukphyu) หรือที่พม่าเรียกจาร์พวิว (ออกเสียง จา พ ยวิว) เขตเศรษฐพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในยะไข่ มีกลุ่มบริษัท China International Trust and Investment Corporation (CITIC Group) ภายใต้การดำเนินการของรัฐบาลจีนที่ได้รับการอนุญาตจากรัฐบาลพม่าให้เป็นผู้พัฒนาหลัก นอกจากนั้น ยังมีบริษัทจากจีนอีก 4 บริษัท และมีเครือเจริญโภคภัณฑ์ของไทยที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลพม่าด้วย โครงการนี้ได้สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในยะไข่ และมีการประท้วงอยู่เนืองๆ

อินเดีย อินเดียต้องการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ซิตตะเวย์ ที่เรียกว่า Kaladan multi-modal project ตั้งห่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผยิวว์ ประมาณ 80 กิโลเมตร ที่นี่ได้มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกเสร็จเรียบร้อยแล้วหลังจากมีการเคลียร์ชาวโรฮิงญาเมื่อปี 2012 แผนการพัฒนานี้จะมีการสร้างเส้นทางเชื่อมต่อกับรัฐมิโซรัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อินเดียหวังว่าเขตเศรษฐกิจแห่งนี้จะเป็นฮับทางเศรษฐกิจและเป็นรอยเท้าที่จะก้าวเข้ามามีอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่ามกลางการที่จีนขยายอิทธิพลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายใต้แผน One belt one road

ทุนท้องถิ่นและทุนชาติ กลุ่มนี้รวมตัวกันเป็นสมาคมโดยนักลงทุนจาก 7 บริษัทในยะไข่และจากร่างกุ้ง มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่หม่องดอว์ ที่ประกอบด้วยการค้าชายแดน การผลิตและการบริการ พื้นที่ของเขตเศรษฐกิจนี้ก็คือพื้นที่ใจกลางของการกวาดล้างชาวโรฮิงญาระลอกใหญ่ในปัจจุบัน โดยเขตเศรษฐกิจนี้มีข่าวว่าจะมีการลงนามใน MOU ในวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา และนักลงทุนหวังว่าจะเดินหน้าโครงการนี้ทันทีเมื่อสถานการณ์ในหม่องดอว์เย็นลง

สิ่งที่พวกนักลงทุนในพม่าต้องการมีสิ่งเดียวก็คือ การรับประกันความมั่นคงจากรัฐบาลพม่า และพวกเขาไม่ได้แยแสต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กรณีของเหมืองทองแดงเล็ตปะด่อง ในเขตสะกาย ทางตอนกลางของพม่า ที่จีนเข้าไปลงทุนได้มีการขับไล่ผู้คนและมีการโจมตีอย่างรุนแรงต่อผู้ประท้วงจนถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต หรือแม้แต่ทุนท้องถิ่นและทุนชาติที่ต้องการลงนาม MOU ท่ามกลางการเข่นฆ่าชาวโรฮิงญาที่หม่องดอว์ เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าการสะสมทุนในพม่าเกิดขึ้นท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ความจริงแล้ว การกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อทำโครงการขนาดใหญ่เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลพม่าไม่ได้เกิดขึ้นในยะไข่เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย ดังกรณีของการโจมตีและเข่นฆ่าชาวไทยใหญ่ในรัฐฉานเพื่อเปิดทางให้กับทุนจีนสร้างเขื่อนผลิตกระไฟฟ้าฮัตจีกั้นแม่น้ำสาละวิน โดยมีการโจมตีของกองทัพ การเข่นฆ่าชาวไทยใหญ่ การข่มขืนผู้หญิง การเผาบ้านเรือน และทำให้เกิดผู้พลัดถิ่นภายใน (IDPs) จำนวนมากในรัฐฉาน

อาจกล่าวได้ว่า การสะสมทุนของทุนข้ามชาติและทุนชาติในพม่าเกิดขึ้นบนฐานของการปล้นสะดมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า อองซาน ซูจี กลับมีท่าทีที่อบอุ่นในการต้อนรับนักลงทุนต่างชาติมากกว่าการปกป้องสิทธิมนุษยชน

ผลประโยชน์มหาศาลของทุนที่เข้าไปลงทุนในยะไข่ เยังส่งผลให้รัฐบาลบางประเทศมีท่าทีที่เย็นชาต่อการเข่นฆ่าชาวโรฮิงญา หรือแม้แต่มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลพม่า ซึ่งสวนทางกับชาวโลก ดังกรณีของรัฐบาลจีนที่มีท่าทีสนับสนุนพม่าในกรณีการกวาดล้างโรฮิงญาที่หม่องดอว์ ขณะที่อินเดียมองหาหนทางการเพิ่มความร่วมมือกับพม่าในการรักษาความมั่นคงและต่อต้านการก่อการร้ายที่ถูกอ้างว่ามีโรฮิงญาเข้าไปเกี่ยวข้อง

ดังนั้น มุมมองกรณีของโรฮิงญา นอกจากจะพิจารณาในประเด็นประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และศาสนา แล้ว ประเด็นที่ยะไข่ถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจของพม่า และการใช้วิธีการสะสมทุนแบบปล้นสะดมกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า หรือแม้แต่ปล้นสะดมจากคนพม่าเอง ก็ไม่อาจจะละเลยได้

ภาพ 1 ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในยะไข่รอบนี้มีศูนย์กลางที่หม่องดอว์ ที่ซึ่งทุนท้องถิ่นและทุนชาติต้องการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจ

 

 


ภาพ 2 เส้นทางท่อส่งก๊าซจากยะไข่ไปยังจีน มีการเคลียร์กลุ่มชาติพันธุ์ 50,000 คนออกจากแนวท่อก๊าซ และการส่งทหาร 33 กองพันเพื่อคุ้มครอง ภาพจาก Shwe Gas Movement

 


ภาพ 3 ท่าเทียบเรือน้ำลึกในพม่าที่มีการดำเนินการเพื่อเร่งพัฒนาเศรษฐกิจ แผนที่นี้ไม่ได้รวมท่าเทียบเรือน้ำลึกที่ซิตตะเวย์ที่อินเดียเข้ามีบทบาทสำคัญ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง