ชาวบ้านสิงห์บุรีตั้งคำถาม กรมชลฯไม่ระบายน้ำลงทุ่ง

ภัยพิบัติ
25 ต.ค. 60
20:16
2,524
Logo Thai PBS
ชาวบ้านสิงห์บุรีตั้งคำถาม กรมชลฯไม่ระบายน้ำลงทุ่ง
กรมชลประทานให้ข้อมูลกรณีที่พื้นที่ฝั่งหนึ่งใน จ.สิงห์บุรี ถูกน้ำท่วม แต่อีกฝั่งหนึ่งยังแห้ง โดยระบุว่าฝั่งที่แห้งเป็นพื้นที่ดอน น้ำยังหลากไปไม่ถึง ส่วนคลองบางจุดที่ไม่สามารถบรรเทาน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ เพราะเป็นข้อตกลงร่วมกับชาวบ้านว่าจะปิดปรับปรุงคลอง

เมื่อประตูระบายน้ำบางโฉมศรียังปิด จึงเป็นข้อสงสัยจนเกิดการตั้งคำถามของผู้ประสบภัยน้ำท่วมท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.สิงห์บุรี ถึงกรมชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำใน อ.อินทร์บุรี ที่ถูกน้ำท่วมสูงแตะระดับถึงเกือบ 2 เมตร ว่าทำไมสร้างประตูระบายน้ำขึ้นมาใหม่แล้ว จึงไม่สามารถที่จะรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่ทุ่งได้

จากการสำรวจตามข้อสังสัยของชาวบ้าน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นประตูระบายน้ำบางโฉมศรี ซึ่งประตูระบายน้ำนี้เคยแตกเมื่อปี 2554 วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ผ่านมา 6 ปีประตูนี้สร้างเสร็จแล้ว แต่พบว่าบานประตูปิดสนิททุกบาน ทั้งที่น่าจะรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าทุ่งรับน้ำทองเอน ทุ่งเชียงราก ต่อเนื่องทุ่งโพธิ์ชัย ทุ่งสร้อยทอง ซึ่งบางจุดยังไม่มีน้ำและถึงมีก็ท่วมทุ่งไม่มาก

และเมื่อไปสำรวจในคลองชลประทาน บางจุดมีโครงการปรับปรุงดาดคอนกรีตของคลองช่วง ต.ทองเอน อ.อินทร์บุรี ที่เริ่มก่อสร้างในเดือนกันยายน หรือช่วงที่น้ำมามาก จึงสร้างความแปลกใจให้กับชาวบ้าน เพราะในคลองไม่มีน้ำ ทำให้ชาวบ้านต้องสูบน้ำเข้าสวนทำนา เดือดร้อนขาดแคลนน้ำ ซึ่งแตกต่างจากอีกฝั่งที่ถูกน้ำท่วมสูง

ชาวบ้านยืนยันว่า แม้คลองนี้จะไม่ใช่คลองระบายน้ำที่รับน้ำจากเจ้าพระยาโดยตรง แต่ทุกปีหากน้ำท่วม คลองนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่อยู่พื้นที่นอกคันกั้นน้ำได้

ทีมข่าวไทยพีบีเอส ยังได้สอบถามข้อมูลไปถึงอธิบดีกรมชลประทาน, ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 10 และชลประทานในพื้นที่ โดยทั้งหมดให้เหตุผลว่า ศักยภาพของประตูระบายน้ำบางโฉมศรีจะทำหน้าที่เพียงระบายน้ำจากทุ่งลงสู่เจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้ง เพื่อให้เกษตรกรทำนาเท่านั้น ไม่ได้ทำหน้าที่ในการรับน้ำเข้าทุ่ง แต่หากจะเปิดรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าทุ่งต่างๆ ที่สำรวจในวันนี้ (25 ต.ค.2560) ทำไม่ได้ เนื่องจากหากเปิดบานประตูน้ำขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังสูงอยู่มาก หากเปิดทันทีสภาพพื้นที่ด้านท้าย หมายถึงชุมชนด้านท้าย และ จ. ลพบุรี ก็จะถูกน้ำท่วมไม่ต่างจากปี 2554

ขณะเดียวกันกรมชลประทานย้ำว่า ที่ยังเห็นว่าในทุ่งรับน้ำบางจุดไม่มีน้ำ เพราะเป็นพื้นที่ดอน ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำมีน้ำท่วม 1-2 เมตร และรวมๆพื้นที่ดอนประมาณ 10,000 ไร่ ที่น้ำอาจจยังไปไม่ถึงและยืนยันว่าในทุ่งรับน้ำช่วยรับน้ำฝนในพื้นที่และใกล้เคียงเกือบเต็มทุ่ง 100 เปอร์เซ็นแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง