เพาะเนื้อเยื่อ “ต้นไม้ทรงปลูก” ในรัชกาลที่ 9 ส่งต่อความรักจาก “พ่อ” ให้คนไทยปลูกต้นไม้ด้วยหัวใจ

สังคม
26 ต.ค. 60
07:24
2,817
Logo Thai PBS
เพาะเนื้อเยื่อ “ต้นไม้ทรงปลูก” ในรัชกาลที่ 9 ส่งต่อความรักจาก “พ่อ” ให้คนไทยปลูกต้นไม้ด้วยหัวใจ

ภาพแห่งการทรงงานตลอด 70 ปี อย่างหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ประจักษ์และจดจำอยู่ในใจของคนไทย คือ “ต้นไม้ทรงปลูก” ซึ่งเปรียบได้กับสัญลักษณ์ทางใจ นำทางให้เหล่าพสกนิกรหันมาให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ป่าไม้” ฐานรากสำคัญในการอยู่ดีมีสุข รวมไปถึงการพัฒนาประเทศชาติ

กว่า 350 ต้น บนรอยทางเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่เหนือจรดใต้ ตามรายงานข้อมูลต้นไม้ทรงปลูกของ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นับเป็นคุณอเนกอนันต์ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงทิ้งไว้ให้ราษฎรของพระองค์

มาวันนี้ ต้นไม้ทรงปลูกจากพระหัตถ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ผลิก้านแตกใบเติบใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงได้มอบหมายให้ กรมป่าไม้ ส่งต่อนโยบายไปยังศูนย์เพาะชำกล้าไม้ทั่วประเทศให้ดำเนินการผลิตกล้าจากเมล็ดพันธุ์ต้นไม้ทรงปลูก ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาค อาทิ เช่น ต้นสัก ต้นนนทรี ต้นปีป ฯลฯ ไว้แจกจ่ายให้ประชาชน เพื่อเป็นสิริมงคล

 

ต้นไม้ทรงปลูก

ต้นไม้ที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงปลูก “ต้นสัก” เป็นต้นไม้ที่ทรงปลูกในลำดับแรกๆ เมื่อครั้งเสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ประพาสถ้ำจอมพล จ.ราชบุรี และทรงปลูกไว้เป็นที่ระลึกเมื่อ วันที่ 1 มิ.ย.2499

ขณะที่เมื่อครั้งพระองค์เสด็จไปภาคเหนือได้ทรงปลูก “ต้นปีบ” ที่สวนป่าทุ่งเกวียน จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2514 ภาคตะวันออก ทรงปลูก “ต้นศรีมหาโพธิ์” เมื่อครั้งเสด็จฯ เยี่ยมโครงการสวนป่าสมุนไพรป่าหินซ้อน ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน จ.ฉะเชิงเทรา

ภาคอีสาน ขณะเสด็จไปทรงเปิดศาลารวมใจเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมชินินาถ ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพกุดนาขาม ต.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร พระองค์ท่านก็ทรงปลูก “ต้นพิกุล” เมื่อวันที่ 15 ม.ค.2535

เช่นเดียวกับ ในพื้นที่ภาคใต้ พระองค์ทรงปลูก “ต้นพิกุล” เมื่อครั้งเสด็จไปเยี่ยมศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองตามพระราชดำริ ต.กะลุวอเหนือ จ.นราธิวาส

มากกว่าความเป็นสิริมงคลของผู้รับ คือความหวังการส่งต่อความรักจาก “พ่อ” ที่ต้องการ “ปลูกใจสีเขียว” ให้กับคนไทย ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ หน่วยงานพัฒนาต้นน้ำทุ่งจ๊อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ปี 2519 ความว่า

“...ควรจะปลูกต้นไม้ในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง...”

เป็นที่มาของการทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นไม้ทรงปลูก จากชิ้นส่วนของต้นแม่ที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงปลูกไว้ โดยศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ที่นำนโยบายจากกรมป่าไม้มาดำเนินการ

เปิดแลปเพาะเนื้อเยื่อ “ต้นไม้ทรงปลูก”

 

นางอภิระมน ฐิติชยาภรณ์ หัวหน้าศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เล่าถึงความภูมิใจของการเป็นส่วนหนึ่งในการทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นไม้ทรงปลูก ว่า ทางศูนย์ได้ทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต้นไม้ทรงปลูก 5 พันธุ์ไม้ ได้แก่ “ต้นปีป” ของสวนป่าทุ่งเกวียน อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง “ต้นพิกุล” ที่วัดป่าตึง จ.เชียงใหม่ “ต้นนนทรี” จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ “ต้นจำปา” และ “ต้นสัก” ณ เขื่อนภูมิพล จ.ตาก

โดยพันธุ์ไม้จากต้นไม้ทรงปลูกที่ทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ถือว่าประสบความสำเร็จ สามารถแจกจ่ายไปยังประชาชนได้ ในแต่ละปีเป็นจำนวนหลายพันต้น รวมทุกชนิดกันต้นไม้ชนิดอื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ต้น


นางอภิระมน กล่าวว่า การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ นับเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการเพิ่มจำนวนต้นกล้าให้ได้จำนวนมาก แต่ต้องใช้เทคนิคและความชำนาญในการเพาะเลี้ยง จำเป็นต้องทำในห้องที่ปลอดเชื้อ โดยทางศูนย์ได้จัดสร้างห้องปฎิบัตการปลอดเชื้อเพื่อทำการเพาะพันธุ์ และพัฒนาเทคนิคในการเพาะเลี้ยงเยื่อไม้ เพื่อรักษาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เดิมเอาไว้ให้มากที่สุด

ทั้งนี้ การขยายพันธุ์พืชทำได้หลายวิธี เช่น การเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง ปักชำกิ่ง แต่การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีคุณภาพ จำเป็นต้องใช้เทคนิค และความชำนาญ อาจเป็นเรื่องที่ชาวบ้านทั่วไปยากที่จะสามารถนำไปทำได้ ทางศูนย์จึงได้ดำเนินการสร้างองค์ความรู้ให้ผู้คนในชุมชน หวังสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

นางอภิระมน กล่าวต่ออีกว่า เป้าหมายหลักในการพัฒนานวัตกรรมเพาะกล้าไม้ของทางศูนย์ฯ ก็คือ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับป่า ดังที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เคยตรัสไว้ว่า “ฉันจะเป็นป่า” และอยากให้เราคนไทยช่วยกันปลูกป่า เพราะป่าคือแหล่งอาหารและยังเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต ทางศูนย์ฯ และกรมป่าไม้จึงเร่งผลิตกล้าจากต้นไม้ทรงปลูก ไว้ให้คนที่มีใจรักได้ร่วมกันปลูกป่าเพื่อ ในหลวง รัชกาล 9

“เราทำงานตรงนี้ พ่อหลวงของเรารักต้นไม้ เวลาท่านไปที่ไหน ท่านเห็นพื้นดินแห้งหรือว่าผืนดินที่มีปัญหา ท่านก็จะแก้ปัญหาด้วยการบอกว่าต้นไม้จะช่วยพวกเราได้ คือไม่ว่าท่านจะเสด็จที่ใด ท่านจะทรงโปรดให้ปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึก เราในฐานะเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ในการผลิตกล้าไม้ของพ่อ และชักชวนให้ชาวบ้านมาร่วมกันปลูกป่า ร่วมสร้างป่าให้พ่อตามวาระโอกาสต่างๆ เราเชื่อว่าถ้าเขาปลูกต้นไม้ของพ่อ เขาคงไม่กล้าตัด ต้นไม้ทรงปลูกนี้เองจะกลายเป็นจุดดึงให้คนไทยร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการรักษาผืนป่า ไม่ทำลายป่า ถือแนวทางที่ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้น” นางอภิระมน เผยความรู้สึก

 

แนวคิดในการทำงานทั้งหมดในการผลิตกล้าไม้ของทางศูนย์ฯ หัวหน้าศูนย์เพาะชำกล้าไม้เชียงใหม่ บอกว่า มาจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ให้ทำอะไรบนความพอดี พอเพียง ให้ชาวบ้านอยู่ได้เพราะชาวบ้านต้องกินต้องใช้ จะให้อนุรักษ์อย่างเดียวแต่ชีวิตความเป็นอยู่ไม่รอดก็คงไม่ได้ ดังนั้น ต้นไม้ที่ทางศูนย์ฯ สนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกต่อไปในอนาคต ส่วนหนึ่งจึงต้องอยู่ในชีวิตประจำวันและสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านด้วย

“พันธุ์ไม้ที่เราจะเพาะแจกก็จะมีหลายชนิดมากขึ้น ทั้งไม้สมุนไพรที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์จากต้นไม้ โดยที่เขาไม่ต้องตัดหรือฟัน ตามมาด้วยพันธุ์ไม้กินได้คือไม้ผลต่างๆ หรือพันธุ์ไม้ที่เขาสามารถนำมาทำอาหารได้ เช่น ขนุน ฝรั่ง ขี้เหล็ก เพกา ไม้เศรษฐกิจโตช้า เช่น ไม้สัก ที่ปลูกเพื่อเป็นเงินออมในอนาคต และไม้โตเร็วที่ให้พลังงาน โดยปลูกเพียง 3-4 ปี ก็สามารถใช้ประโยชน์หรือสร้างรายได้ได้ เช่น ยูคาลิปตัส และกระถิน เป็นแนวทางที่ทางศูนย์ฯ จะดำเนินการผลิตกล้าไม้ให้ตรงกับความต้องการของชาวบ้าน”  นางอภิระมน กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง