สธ.แนะ 5 วิธี ลดอุบัติเหตุทางขึ้นดอยภาคเหนือ-อีสาน

สังคม
10 พ.ย. 60
15:55
276
Logo Thai PBS
สธ.แนะ 5 วิธี ลดอุบัติเหตุทางขึ้นดอยภาคเหนือ-อีสาน
กรมควบคุมโรค แนะนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางขึ้นดอยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ระวังอุบัติเหตุทางถนนช่วงหน้าหนาวและหมอกลงจัด พบปี 2559 มีรายงานการประสบอุบัติเหตุทางท้องถนนกว่า 5,523 ครั้ง

วันนี้ (10 พ.ย.2560) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เริ่มมีอากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า ประกอบกับมีฝนเล็กน้อยหลายพื้นที่ บริเวณยอดดอยจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางไปตั้งเต็นท์รับอากาศหนาว แต่หากไม่เตรียมตัวและอุปกรณ์ให้พร้อม อาจเกิดอุบัติเหตุทางจราจรขณะเดินทางขึ้นดอยได้

ข้อมูลจากสำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ในช่วงฤดูหนาวปี 2559 (พ.ย.-ก.พ.) มีรายงานการประสบอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินทั้งสิ้น 5,523 ครั้ง เสียชีวิต 858 คน เป็นเพศชาย 610 คน และเพศหญิง 248 คน และมีอุบัติเหตุจากสภาพภูมิอากาศที่มีหมอก 118 ครั้ง เสียชีวิต 28 คน ซึ่งประเทศไทยมีอุบัติเหตุจากสภาพภูมิอากาศที่มีหมอกเฉลี่ย 100 ครั้งต่อปี

นพ.สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเดินทางในช่วงฤดูหนาวที่มีหมอกลงจัดนั้น ถ้าไม่จำเป็นให้หลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในช่วงเช้า หรือประชาชนอาจจะเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน เพื่อให้หมอกควันจางลงจนสามารถขับขี่ได้สะดวกและมองเห็นผิวถนนอย่างชัดเจนขึ้น สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปยังดอยหรือภูต่างๆ ควรติดต่อคนขับรถประจำทางที่มีความชำนาญทาง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แต่หากจะขับขี่รถไปเอง ขอให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยก่อนขึ้นดอยควรปฏิบัติดังนี้

1.เตรียมรถให้พร้อม รวมถึงตรวจเช็กสัญญาณไฟเตือนต่างๆ เช่น ไฟหน้ารถ ไฟเลี้ยว ไฟท้ายรถ
2.ศึกษาเส้นทางที่จะไปก่อนเดินทาง และต้องระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับการขับขี่ในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย เช่น ทางลาดชัน ทางโค้ง ทางแยก ทางแคบ
3.ขณะที่มีหมอกลงจัดปกคลุมถนน ให้เปิดไฟต่ำ หรือไฟตัดหมอก เพื่อให้สามารถมองเห็นสภาพเส้นทางได้ชัดเจน และลดความเร็วลงเท่าที่สายตาของเราจะสามารถมองฝ่าหมอกไปได้
4.ไม่ควรขับแซง หรือเปลี่ยนช่องทางการจราจรอย่างกะทันหัน
5.หากทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ดีและสภาพถนนจะลื่นกว่าปกติ ควรจอดรถในบริเวณที่ปลอดภัย เช่น สถานีบริการน้ำมัน ที่พักรถริมทาง รอจนกว่าทัศนวิสัยจะดีขึ้น จึงค่อยขับรถต่อไป

นอกจากนี้ กรณีที่รถเสียควรหาจุดจอดรถที่ปลอดภัย โดยจอดรถชิดริมขอบทางให้มากที่สุด เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน และนำป้ายเตือนหรือวัสดุอื่นๆ ที่สะท้อนแสงมาวางไว้ด้านหลังรถ ให้ห่างจากจุดที่จอดรถในระยะไม่น้อยกว่า 50 เมตร เพื่อให้ผู้ขับขี่รายอื่นมองเห็นได้อย่างชัดเจน หากประชาชนมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ข่าวที่เกี่ยวข้อง