จนท.ยอมถอยล้อมรั้ว "รื้อถอน" ตลาดเฉลิมลาภประตูน้ำ

สังคม
18 ธ.ค. 60
17:46
1,527
Logo Thai PBS
จนท.ยอมถอยล้อมรั้ว "รื้อถอน" ตลาดเฉลิมลาภประตูน้ำ
วันแรกตามคำสั่งรื้อถอนตลาดเฉลิมลาภ แต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถเข้าล้อมรั้ว เพื่อเตรียมรื้อถอนได้ แม้ว่าสัญญาเช่ายุติไปตั้งแต่ปี 2557 แต่ยังมีบางคดีที่อยู่ในขั้นตอนของศาล ทำให้ยังมีผู้ค้าที่ไม่ยินยอมย้ายออก และขอให้ชะลอการรื้อถอน

วันนี้ (18 ธ.ค.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่าจะเป็นวันแรกตามคำสั่งรื้อถอนตลาดเฉลิมลาภ แต่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ยังไม่สามารถเข้าล้อมรั้ว เพื่อเตรียมรื้อถอนได้ ยังมีผู้ค้าบางส่วนออกมาคัดค้าน ทำให้คนงานต้องขนแผ่นเหล็ก และอุปกรณ์เครื่องจักรกลับขึ้นรถ ยกเลิกแผนการรื้อถอน แผงค้าและอาคารพาณิชย์ บริเวณตลาดเฉลิมลาภ ประตูน้ำ หลังผู้ค้าในตลาดรวมตัวกันปิดถนนราชปรารภ ประมาณ 10 นาที เพื่อแสดงสัญลักษณ์

 

 

โดยตัวแทนผู้ค้าตลาด เล่าว่า เมื่อเวลาประมาณ 03.00 น.มีรถบรรทุกแผ่นเหล็ก และอุปกรณ์เครื่อง จักรพร้อมคนงานเข้าพื้นที่ ทำให้ผู้ค้ารู้สึกไม่สบายใจ ทั้งที่ ยังอยู่ระหว่างต่อสู้คดี และยังถูกสำนักงานเขตฯ ปฏิเสธการขออนุญาตปรับปรุงอาคาร หากดำเนินการรื้อถอนอาคารที่ส่งมอบพื้นที่ อาจกระทบรายได้

จึงเรียกร้องให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ชะลอการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างจนกว่าทุกคดีจะถึงที่สุด แม้ปัจจุบันมีผู้เช่ายอมส่งมอบพื้นที่แล้ว 543 สัญญา จากทั้งหมด 697 สัญญาเช่า

 


จงกล พลังต่อสู้ ผู้ค้าตลาดเฉลิมลาภ ประตูน้ำ กล่าวว่า หลายวันก่อนเจ้าหน้าที่นำป้ายมาติดประกาศ จะขอทุบรื้อถอนพื้นที่ และทางเราก็ทำหนังสือขอระงับ อย่าล้อมสังกะสี หรือมาทุบรื้อบางส่วน สำหรับห้องเพราะห้องที่เขาจะทุบรื้อ มันยังอยู่ระหว่างคนที่เซ็นคืนไปแล้วกับที่ยังต่อสู้เป็น 100 คดี 

เนื่องจากมีการเจรจาร่วมกับหลายฝ่ายว่าขอให้เป็นคดีสุดท้ายก่อน แล้วค่อยมาบังคับคดี แต่เขาส่งคนมาตั้งเวลา 03.00 น.ตรึงกำลัง และระหว่างที่เจรจาเขาก็ให้คนไปทุบรื้อ ทุบแล้วไม่ยอมรับ ทุบปูน แต่สิ่งที่เราขอให้เจรจาว่าข้อตกลงเหมือนเดิม ตอนนี้ตึกแถวเป็นประตูเหล็ก ล็อกกุญแจอยู่แล้ว จะเอาสังกะสีสูงๆเป็นเมตรมาปิด เป็นการบีบคนให้ค้าขายไม่ได้  


ด้านนายไชยา ชวลิขิต ผู้ค้าตลาดเฉลิมลาภ ประตูน้ำ บอกว่า หากถูกปิดรั้วจะกระทบกับการค้าขาย เพราะเดิมขายข้างนอก ก็ถูกไล่เข้ามาขายข้างใน และขายได้วันละ 80-100 บาทก็อยู่ไม่ได้ และถ้ามาปิดสังกะสี กระทบไปหมด นักท่องเที่ยวก็งง และกลายเป็นตึกร้าง ขอความเห็ใจว่าถ้าต่อสู้คดีก็ขอให้ไปพร้อมกัน 

 



ขณะที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ออกเอกสารชี้แจงความจำเป็นในการดำเนินการดังกล่าวว่า ขณะนี้ได้รับพื้นที่เช่าคืนแล้วกว่า ร้อยละ 80 ของพื้นที่ทั้งหมด ส่งผลให้มีอาคารถูกทิ้งร้าง สุ่มเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกซ้ำซ้อน การโจรกรรม หรือเหตุเพลิงไหม้ กระทบภาพลักษณ์ของสำนักงานฯ

ประกอบกับผู้เช่าบางส่วนใช้สถานที่เพียงเพื่อเก็บสต็อกสินค้า แต่ออกไปค้าขายบนบาทวิถี เกิดความไม่เป็นระเบียบพื้นที่โดยรอบ จึงยุติการให้เช่า ตั้งแต่เดือนธ.ค.2555 และขอคืนพื้นที่เพื่อพัฒนาอาคารใหม่ แต่จะให้สิทธิ์ผู้เช่ารายเดิมกลับมาเช่าใหม่ หลังพัฒนาแล้วเสร็จ โดยมีแผนจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่เดือนธ.ค.2560 คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ย.2562

 



แต่จากเหตุการณ์ดังกล่าวสำนักงานทรัพย์สินฯ จึงเตรียมนัดเจรจากับผู้เช่าที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินคดี สำนักงานเขตและตำรวจ และผู้เกี่ยวข้องอีกครั้ง แต่ยังไม่กำหนดวันและเวลา

ก่อนหน้านี้ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้ส่งมอบพื้นที่ตลาดเฉลิมลาภ จำนวน 7 ไร่ ให้กับบริษัท เอส พี ซี พร็อพเพอร์ส์ แอนด์ ดีเวลปล็อปเม้นท์ จำกัด เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การค้าอินทรา

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง