ไขข้อข้องใจ ไลฟ์โค้ชชิงช่วยปลดล็อก “โรคซึมเศร้า” ?

สังคม
28 ธ.ค. 60
17:34
2,541
Logo Thai PBS
ไขข้อข้องใจ ไลฟ์โค้ชชิงช่วยปลดล็อก “โรคซึมเศร้า” ?
ย้อนกรณีอดีตนักเขียนผันตัวเป็นไลฟ์โค้ช ด่าทอ-กักขังผู้เข้าร่วมการอบรม อ้างพิสูจน์ป่วยโรคซึมเศร้าจริงหรือไม่ จิตแพทย์แนะไลฟ์โค้ชชิงช่วยสร้างแรงบันดาลใจ-พัฒนาศักยภาพ แต่ไม่รักษาโรคซึมเศร้า

ก่อนหน้านี้มีกระทู้ในเว็บไซต์พันทิป บอกเล่าถึงหญิงคนหนึ่งที่ป่วยโรคซึมเศร้าเข้ารับการอบรมไลฟ์โค้ชชิงพร้อมกับมารดา กระทั่งเหตุการณ์นำมาสู่การด่าทอและกักขังหญิงสาว โค้ชออกมาชี้แจงว่าใช้คำพูดรุนแรงเพื่อกระตุ้นดูว่าเป็นโรคซึมเศร้าจริงหรือไม่และแจ้งแต่แรกว่าไม่ให้มาเรียนเพราะเป็นโรคซึมเศร้า “ถ้าเราสังเกตแล้วว่าเขาไม่ใช่เราจะบอกว่าไม่ใช่ โดยมีคำถามเช็กบุคคลเหล่านั้น เช่น คุณแสดงอยู่หรือเปล่า ซึ่งเราก็ทดสอบกับน้องเหมือนกัน” เหตุการณ์นี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามจากสังคมว่าไลฟ์โค้ชชิงมีบทบาทในการวินิจฉัยหรือการเยียวยารักษาอย่างไร

ไลฟ์โค้ชชิง (Life Coaching) เป็นกระบวนการสร้างกรอบความคิด ความเชื่อ หรือคุณค่าใหม่ให้กับชีวิตเพื่อเปลี่ยนทัศนคติและสร้างแรงบันดาลใจให้บรรลุเป้าหมาย โด่งดังจากต่างประเทศจนเกิดอาชีพไลฟ์โค้ชในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่นำมาปรับใช้ในแวดวงธุรกิจ การบริหารองค์กรหรือทรัพยากรมนุษย์

แม้กระบวนการไลฟ์โค้ชชิงอาจถูกหยิบมาใช้แก้ปัญหาการทำงานหรือปัญหาชีวิต แต่โรคซึมเศร้านั้นมีความซับซ้อนกว่ามาก เนื่องจากเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองและอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม รวมถึงปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น เช่น บุคลิกภาพ ความเครียด การสูญเสีย การเจ็บป่วยและยาบางชนิด

“ปลดล็อกชีวิต” ระวังตีความผิด

ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ไลฟ์โค้ชชิงมุ่งเน้นในการบรรลุเป้าหมายชีวิตหรือธุรกิจ ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อรักษาโรคซึมเศร้าทั้งในหลักการและวิธีการ จึงเหมาะกับบุคคลทั่วไปที่ต้องการที่ปรึกษามากกว่า แม้โค้ชหลายคนจะหยิบทฤษฎี Neuro-Linguistic Programming (NLP) หรือโปรแกรมภาษาประสาทสัมผัสมาใช้หรือกล่าวอ้างโฆษณา ซึ่งที่ผ่านมามีการปรับใช้ในการให้คำปรึกษาทั่วไป การเรียนรู้ การสื่อสาร หรือทางธุรกิจ แต่ก็ไม่ใช่หลักทางการแพทย์และพบว่าไม่ได้ผลกับผู้ป่วย

ในยุคที่ผู้คนขาดที่ปรึกษาและหันหน้าเข้าหาที่พึ่ง แม้ไม่ได้อ้างว่าสามารถรักษาโรคซึมเศร้าได้ แต่การใช้คำโฆษณาแนวปลดล็อกชีวิตอาจสร้างความเข้าใจผิดว่าเป็นการแก้ปมในอดีต ทำให้โค้ชเจอปัญหาของผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัวและเกินรับมือได้

ขณะที่เว็บไซต์ไลฟ์โค้ชชิงบางแห่งระบุชัดว่า “ไม่เหมาะกับผู้ป่วยทางจิต” เนื่องจากการบำบัดรักษาโรคทางจิตเน้นที่อดีตเพื่อหาสาเหตุปัญหาที่ต้องแก้ไขซึ่งเป็นงานของนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ ขณะที่ไลฟ์โค้ชชิงจะเน้นที่ปัจจุบันและอนาคต

ตัวจริงยิ่งไม่เจ็บ

ผศ.นพ.ณัทธร เน้นย้ำว่าหลักจริยธรรมอย่างหนึ่งที่แพทย์ยึดมั่นคือในการรักษาผู้ป่วย ไม่ใช่แค่ดูว่ามีประโยชน์เท่านั้นแต่ยังต้องพิจารณาว่าไม่ทำอันตรายแก่ผู้ป่วยด้วย ส่วนการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชต้องเป็นจิตแพทย์เท่านั้น เนื่องจากหลายโรคมีอาการคล้ายคลึงกันมาก

แน่นอนว่าการหยาบคาย-กังขัง-กดดัน ไม่ใช่วิธีวินิจฉัยโรค การกระทำโดยคนที่ไม่มีความรู้ความชำนาญเพียงพอ เป็นการข้ามเส้นที่ยิ่งเกิดความเสี่ยงต่อผู้ป่วย

หากจะเข้าคอร์สต้องดูที่เนื้อหากระบวนการว่ามีความปลอดภัยทั้งต่อร่างกายและจิตใจหรือไม่ แม้จะมีการอ้างอิงว่าโค้ชมีประกาศนียบัตรหลักสูตร NLP ของสถาบันในต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่มีมาตรฐานสากล งานวิจัยเกี่ยวกับ NLP ทั้งในไทยและต่างประเทศหลายชิ้นก็เป็นไปในทางเดียวกันว่ายังไม่ได้ผล ซึ่งผู้เข้าอบรมต้องระวังตัวเองเพราะไม่มีระบบตรวจสอบให้

ป่วยโรคซึมเศร้า เลี้ยวเข้าหาจิตบำบัด

เพราะโรคซึมเศร้าไม่อาจหายเองได้ โดยนอกจากการใช้ยาแล้ว “จิตบำบัด” เป็นอีกแนวทางหลักในการรักษาซึ่งต้องอยู่ภายใต้การดูแลของจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิก เป็นกระบวนการที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับผู้ป่วย เช่น

จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นการปรับความคิดความเข้าใจ ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจกระบวนการคิดของตนที่เป็นไปในแง่ลบหรือบิดเบือนไปจากความจริง นำมาสู่การปรับเปลี่ยนและค้นพบสาเหตุปัญหาที่แท้จริง

จิตบำบัดแบบพฤติกรรมบำบัด ช่วยค้นหาและปรับพฤติกรรมที่อาจเป็นสาเหตุให้อาการซึมเศร้าหายช้าหรือเป็นนาน

จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นความสัมพันธ์กับผู้อื่น มุ่งแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่เป็นสาเหตุของอาการซึมเศร้าคงอยู่นาน จะช่วยให้เกิดการปรับตัวขณะมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น การเป็นพ่อแม่ หย่าร้าง การสูญเสีย หรือปัญหากับเพื่อนร่วมงาน

การให้คำปรึกษา เป็นกระบวนการช่วยเหลือทางจิตใจที่ทำให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของตนเอง การให้การปรึกษานั้นไม่ได้ลดอาการซึมเศร้าโดยตรง แต่จะช่วยให้ลดปัญหาที่ก่อความทุกข์ใจซึ่งลดอาการซึมเศร้าทางอ้อม

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าสามารถทำแบบทดสอบด้านสุขภาพจิตในเบื้องต้น ได้ที่เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต https://www.dmh.go.th/test/ อย่างไรก็ตามต้องเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์เท่านั้นเพื่อกำหนดแนวทางรักษาต่อไป

ชนากานต์ อาทรประชาชิต ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนไทยป่วยโรคซึมเศร้า 1.5 ล้านคน

สธ.เตือนภัยเงียบ "โรคซึมเศร้า" แนะครอบครัวสังเกต 9 อาการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง