กสม.เสนอใช้มติ ครม. สอบสวน "บิ๊กสื่อ" มีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ

สังคม
30 ม.ค. 61
15:47
296
Logo Thai PBS
กสม.เสนอใช้มติ ครม. สอบสวน "บิ๊กสื่อ" มีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ
อังคณา นีละไพจิตร กสม. เสนอสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำมติ ครม. เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน มาปรับใช้ในการสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ

จากกรณีคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยผลการพิจารณารายงานการแสวงหาข้อเท็จจริง เรื่องผู้บริหารองค์กรสื่อมีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ หลังมีกระแสข่าวตามสื่อสังคมออนไลน์ พาดพิงถึงผู้บริหารองค์กรสื่อแห่งหนึ่งว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายคุกคามทางเพศ และมีกลุ่มนักข่าวกลุ่มหนึ่งส่งจดหมายเปิดผนึกเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เพื่อเรียกร้องให้สมาคมนักข่าวฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อมาคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว และปรากฏมีรายงานการแสวงหาข้อเท็จจริง โดยระบุว่าได้มีการประชุมและพบผู้ให้ข้อมูลตั้งแต่ผู้เกี่ยวข้องกับการสื่อสารทางสาธารณะต่อกระแสข่าว ผู้ใกล้ชิดกับผู้ถูกกล่าวอ้างถึงทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ผู้โพสต์ข้อความพาดพิงถึงผู้ถูกกล่าวอ้างถึงทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ไปจนถึงผู้ถูกกล่าวอ้างถึงฝ่ายชายและผู้ถูกกล่าวอ้างถึงฝ่ายหญิง รวมผู้ให้ข้อมูลทั้งหมด 11 คน โดยการประชุมและการพบกับผู้ให้ข้อมูลทุกครั้งเป็นไปในทางลับ ตามที่ปรากฏในข่าวเมื่อวันที่ 29 ม.ค.2561 นั้น

วันนี้ (30 ม.ค.2561) นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบด้านสิทธิและความเสมอภาคทางเพศสภาพ เปิดเผยว่า ตัวเองขอชื่นชมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการคุกคามทางเพศในการทำงานในฐานะสื่อมวลชน และขอยืนยันการเคารพในเสรีภาพของสื่อ

อย่างไรก็ดี ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นว่าสาระสำคัญของรายงานการตรวจสอบที่ระบุว่า “บุคคลหนึ่งได้รับการปลูกฝังมาในเรื่องการให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ และวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับผู้บังคับบัญชา จึงมีการดูแลบุคคลอีกคนหนึ่งในลักษณะที่ใกล้ชิดสนิทสนม การให้ความไว้วางใจ ซึ่งมีบางเรื่องที่ความไว้วางใจเป็นเหตุทำให้เกิดความเข้าใจในลักษณะที่เป็นการตีความเข้าข้างตนเองของอีกฝ่ายหนึ่ง จนอาจนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงต่อการคุกคามทางเพศ เพราะต่างตีความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน” นั้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงการนำวัฒนธรรมองค์กร การปฏิบัติระหว่างผู้บังคับบัญชาต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ความคิดความเชื่อ รวมถึงทัศนคติทางเพศมาเป็นข้อสรุปว่าการคุกคามทางเพศ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้

นางอังคณา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา กสม. ได้พิจารณาเรื่องการคุกคามทางเพศหลายกรณีที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้เสียหาย จนเกิดภาวะเครียดที่ผิดปกติจากประสบการณ์ที่ถูกกระทำ (Post Traumatic Stress Disorder) ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการเคารพความแตกต่างทางเพศ ขอเสนอให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นำมติคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานมาปฏิบัติ เพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนสื่อมวลชนหญิงทุกคน เยียวยาฟื้นฟูจิตใจผู้เสียหาย และลงโทษผู้กระทำผิด ไปใช้ประกอบการพิจารณา รวมถึงการทำหน้าที่ตรวจสอบที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางเพศ ควรคำนึงถึงความต่างในบริบทที่แตกต่างกัน และจำเป็นที่จะต้องมีความละเอียดอ่อน รอบด้าน อีกทั้งต้องกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมด้วย

นอกจากนี้ ยังเสนอให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ปรับปรุงประมวลจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนให้มีการระบุถึงการตระหนักและคำนึงถึงความละเอียดอ่อนในมิติความแตกต่างระหว่างเพศ (Gender Sensitivity) และการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศไว้เป็นการเฉพาะ โดยควรคำนึงถึงความมีคุณธรรมและจริยธรรมทางเพศอย่างเคร่งครัด และควรกำหนดแนวนโยบายประเด็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศให้ชัดเจน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง