ย้อนดูนโยบาย "ใต้ร่มเย็น" วันสิ้นอดีตแม่ทัพ "พล.อ.หาญ ลีนานนท์"

สังคม
12 ก.พ. 61
11:15
2,960
Logo Thai PBS
ย้อนดูนโยบาย "ใต้ร่มเย็น" วันสิ้นอดีตแม่ทัพ "พล.อ.หาญ ลีนานนท์"
"พล.อ.หาญ ลีนานนท์" อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ เจ้าของนโยบาย "ใต้ร่มเย็น" ยุคที่มี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ในวัย 93 ปี ที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า เมื่อ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา

พล.อ.หาญ ลีนานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในวัย 93 ปี เมื่อวันที่ 11 ก.พ.ที่ผ่านมา

พล.อ.หาญ นับเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ โดยเป็นผู้ร่วมร่างคำสั่ง 66/2523 ร่วมกับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และ นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ในรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ 

และนอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มนโยบาย “ใต้ร่มเย็น” อีกด้วย สมัยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 (ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2524 - 30 ก.ย.2526) เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ ต่อมาสามารถสลายอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ดีขึ้น 

สำหรับนโยบาย “ใต้ร่มเย็น” มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. สร้างความปลอดภัยให้เกิดแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติและศาสนา ไม่ว่าพี่น้องไทยพุทธหรือมุสลิมจะต้องได้รับการคุ้มครองจากกำลังของรัฐบาลให้ปลอดภัยจากการคุกคามของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรก่อการร้าย โจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายาและกลุ่มโจรต่างๆ

2. ทำพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสถาปนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดตามแนวชายแดนให้ดีขึ้น และยกระดับความสัมพันธ์อันดีต่อกันระหว่างไทย-มาเลเซียให้สูงขึ้น

3. กำจัดอำนาจเผด็จการ อิทธิพล และอำนาจมืดที่ครอบงำบรรยากาศอยู่ทั่วไปหมดสิ้น โดยสันติวิธี เพื่อให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

4. สร้างความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ปกครองกับราษฎรผู้ถูกปกครอง และขจัดความแตกแยกระหว่างเจ้าหน้าที่กับราษฎรให้หมดสิ้นไป ขณะเดียวกัน การปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของนโยบายใต้ร่มเย็น กองทัพภาคที่ 4 และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาคใน ภาค 4 (กอ.รมน. ภาค 4) ได้ดำเนินการต่างๆ เป็นต้นว่า การสร้างสภาพความชอบธรรม การสร้างความกดดันทางสังคม การอบรมกล่อมเกลาทางการเมือง การระดมพลังประชาชน และการขยายพิสัยแห่งอำนาจ

สำหรับแผนปฎิบัติการทางทหาร ในการกดดันทำลายฐานที่มั่นและกองกำลังติดอาวุธของผู้ก่อการร้ายในพื้นที่ต่างๆ อาทิ

แผนยุทธการใต้ร่มเย็น 9 หรือที่เรียกกันว่า “ยุทธการช่องช้าง” หรือ “แผนยุทธการค่าย 508” เพื่อดำเนินงานปราบปรามและทำลายฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์สาขาภาคใต้ ในเขต 508 หรือ เขตงานช่องช้าง

แผนยุทธการใต้ร่มเย็น 11 การดำเนินการปราบปรามเพื่อทำลายฐานที่มั่นและกองกำลังของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยในเขตงานตรัง พัทลุง สตูล ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช กองกำลังโจรจีนคอมมิวนิสต์ มลายาและขบวนการโจรแบ่งแยกดินแดนซึ่งปฏิบัติการและเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย

แผนยุทธการใต้ร่มเย็น 13 ซึ่งเป็นยุทธการต่อเนื่องจากยุทธการใต้ร่มเย็น 9 เพื่อการดำเนินการปราบปรามและทำลายฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ที่หลบหนีการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ไปเขตรอยต่อของ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช

แผนยุทธการใต้ร่มเย็น 15 เป็นยุทธการเพื่อการดำเนินการปราบปรามและทำลายฐานที่มั่นของผู้ที่เป็นปฏิปักษ์กับอำนาจรัฐและเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศในเขตพื้นที่ภาคใต้ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ทั้งกลุ่มผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรก่อการร้ายและโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา ตลอดจนกลุ่มโจรต่างๆ

 

ข้อมูล วิกีพีเดีย,สถาบันพระปกเกล้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง