มองต่างมุม ปม "ชัยภูมิ" เสียชีวิต

สังคม
7 มิ.ย. 61
15:13
484
Logo Thai PBS
มองต่างมุม ปม "ชัยภูมิ" เสียชีวิต
การเสียชีวิตของ "นายชัยภูมิ ป่าแส" ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.60 สร้างความโศกเศร้าและสงสัยให้แก่บรรดาญาติมิตร และคนใกล้ชิดที่มองว่าเจ้าหน้าที่อาจทำเกินกว่าเหตุ ขณะที่ จนท.ระบุว่านายชัยภูมิกระทำผิดจริง

การเสียชีวิตของ "นายชัยภูมิ  ป่าแส" ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.60 สร้างความโศกเศร้าและสงสัยให้แก่บรรดาญาติมิตร และคนใกล้ชิดในหลากหลายมุมมองที่คาดว่าเจ้าหน้าที่รัฐอาจทำเกินกว่าเหตุ ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหาร รวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกลับมองต่างมุมโดยระบุว่า นายชัยภูมิ กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหาที่ระบุว่า พยายามใช้ระเบิดมือสังหารเจ้าหน้าที่ หลังตรวจพบยาบ้าจำนวนหนึ่งในรถยนต์

วันที่ 17 พ.ค.2560 ครบรอบ 60 วัน การเสียชีวิตของนายชัยภูมิ นายไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้อุปการะนายชัยภูมิ เล่าว่า ยังค้างคาใจถึงสาเหตุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทหารตัดสินใจเหนียวไกวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ส่วนหลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิดเจ้าหน้าที่อ้างว่าไม่สามารถนำมาเปิดเผยกับญาติได้  

ด้าน พล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ระบุว่า คดีวิสามัญฆาตกรรมนายชัยภูมิ ป่าแส แบ่งเป็น 4 สำนวน คือ

  • สาเหตุการเสียชีวิต
  • คดีที่นายชัยภูมิกับเพื่อนถูกกล่าวหาว่ามียาเสพติด และมีเครื่องกระสุนวัตถุระเบิด
  • ถูกกล่าวหาว่าต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
  • คดีที่เจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงชัยภูมิจนเสียชีวิต

สำหรับภาพวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ซึ่งทางกลุ่มญาติต้องการให้มีการเปิดเผยเพื่อความกระจ่างในคดีนี้ พ.ต.อ.มงคล สัมภาวะผล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทหารนำฮาร์ดดิสก์กล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ส่งให้พนักงานสอบสวนแล้ว และคาดว่าจะถูกส่งต่อไปยังกองพิสูจน์หลักฐานเพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป

ขณะที่เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยพร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาชน 33 เครือข่าย ได้ออกแถลงการณ์ ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่กระทำต่อเยาวชน ถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรม โดยเรียกร้องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับ นายชัยภูมิ และคืนความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)ได้หารือกรณีวิสามัญฆาตกรรม นายชัยภูมิแล้ว โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมาธิการด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ที่มีนายชาติชาย สุทธิกลม เป็นประธาน ติดตามกรณีที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งหยิบยกเรื่องอายุของนายชัยภูมิว่าเท่าไหร่แน่ เพราะในบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือบัตรเลข 0 แจ้งว่าอายุ 21 ปี ขณะที่คนในครอบครัวและคนใกล้ชิดระบุว่ามีอายุเพียง 17 ปี ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่าควรใช้กฎหมายฉบับใดมาอ้างอิงด้วยและต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด

วันที่ 17 พ.ค.2560 ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่ง ชาติ กล่าวว่า ได้สั่งตรวจสอบในขั้นต้นแล้วว่าสาเหตุมาจากอะไร โดยต้องให้ชัดเจนว่าด้วยพยานหลักฐาน และไม่อยากให้คิดว่าเป็นเพราะนายชัยภูมิ เป็นนักกิจกรรมชาติพันธุ์หรือเปล่า ถึงต้องถูกวิสามัญฆาตกรรม เพราะรัฐบาลไม่เคยคิดแบบนี้

ส่วน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม กล่าวว่า

เจ้าหน้าที่ดำเนินการไปตามขั้นตอน โดยผู้บัญชาการทหารบกรายงานแล้วว่า เจ้าหน้าที่ก็ต้องป้องกันตัว เนื่องจากผู้เสียชีวิตมีเจตนาจะขว้างระเบิด และระเบิดก็ตกอยู่ในพื้นที่

สำหรับความเห็นพี่เลี้ยงและเพื่อนร่วมงานของนายชัยภูมิ ระบุว่า ไม่เชื่อว่าชัยภูมิ จะมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด จนเป็นเหตุให้ทหารยิงเสียชีวิตได้ อีกทั้งที่ผ่านมาเขาพูดอยู่เสมอว่าต้องการเป็นแบบอย่างในทางที่ดีให้กับเยาวชนคนอื่นๆ

ในวันที่ 29 มี.ค.2560 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ตรวจพบยาเสพติดในรถที่นายชัยภูมิ นั่งมากับเพื่อนที่เป็นคนขับ และนายชัยภูมิ มีพฤติกรรมหลบหนีและต่อสู้ขัดขืนโดยมีอาวุธ 

ตำรวจมีข้อมูลว่า นายชัยภูมิ มีประวัติเกี่ยวข้องกับการลักลอบค้ายาเสพติดจริง แต่รายละเอียดไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะยังอยู่ในสำนวนการสอบสวน เช่นเดียวกันประเด็นการพบเส้นทางการเงินจากการค้ายาเสพติด โอนเข้าบัญชีของนายชัยภูมิ ก็ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นข้อมูลที่อยู่ระหว่างการขยายผลการสืบสวนสอบสวน

ส่วนภาพกล้องวงจรปิดขณะเกิดเหตุตำรวจยังไม่ได้รับหลักฐานชิ้นดังกล่าว จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่ามีหรือไม่ และคดีนี้ผลการชันสูตรสาเหตุการเสียชีวิต ของนายชัยภูมิ ทราบว่า โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ยังไม่แล้วเสร็จ

 

ครบ 1 ปี การเสียชีวิตของนายชัยภูมิ นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่นและทนายความนายชัยภูมิ กล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาพยานและหลักฐานหลายอย่างจะไม่มี แต่ทีมงานยังมั่นใจและมีความหวังว่าคดีนี้จะเกิดความยุติธรรมให้กับครอบครัวและสังคม

5 มิ.ย.2561 นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความผู้ดูแลคดีนายชัยภูมิ ป่าแส กล่าวว่า คดีนี้ญาติของผู้ตายมีความยากลำบากในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมมาก เนื่องจากญาติได้ร้องขอในชั้นอัยการให้สอบสวนพยานที่สำคัญเพิ่มเติม เนื่องจากในชั้นสอบสวนมีการสอบสวนพยานบุคคลชาวบ้านที่ให้ข้อมูลกับพนักงานสอบสวนว่าเห็นเหตุการณ์ว่าในวันเกิดเหตุนายชัยภูมิไม่ได้มีอาวุธหรือมีการทำร้ายเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด แต่ในคดีนี้พนักงานอัยการไม่ได้ส่งพยานดังกล่าวขึ้นในชั้นไต่สวนในศาล ซึ่งเป็นพยานสำคัญ

นอกจากนั้นอีกวัตถุพยานหนึ่งที่มีความสำคัญและมีความเป็นกลาง คือภาพจากกล้องวงจรปิด ที่ด่านรินหลวง ซึ่งภาพนี้จะบอกข้อเท็จจริงโดยไม่เข้าใครออกใคร ซึ่งในภาพจะสามารถบอกได้ว่าการตรวจค้นเป็นไปตามระบบหรือไม่ นายชัยภูมิ ป่าแสใช้อาวุธมีดหรือมีระเบิดหรือไม่ แต่พยานวัตถุส่วนนี้ทางอัยการไม่ได้สั่งการให้พนักงานสอบสวนนำเข้าสำนวนสอบสวน แต่อัยการได้ส่งรายงานการพิสูจน์ให้กับทางศาล 

ในรายงานการพิสูจน์นั้นมีการระบุว่าภาพจากกล้องวงจรปิดนั้นหายไป แต่พบว่ามีการทำสำเนาภาพในวันเกิดเหตุออกไป โดยเจ้าหน้าที่ทหาร และมีการให้ปากคำโดยเจ้าหน้าที่ทหารว่าได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดและได้ทำสำเนาตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา

ทางทนายความได้ขอให้ศาลเรียกวัตถุพยานนี้พร้อมกับเจ้าหน้าที่ทหารนายนั้น เข้าเบิกความ แต่ศาลให้ดุลย์พินิจเห็นว่าพยานหลักฐานนั้นเพียงพอแล้ว ในการที่จะทำคำสั่งจึงยกคำร้องไม่เรียก 

นายรัษฎา บอกว่า ถ้าทางอัยการเพิ่มเติมในสิ่งที่เราอยากจะให้มีก็คือภาพจากกล้องวงจรปิด คือก็จะนำข้อเท็จจริงสู่ศาลให้มากที่สุด ทุกฝ่ายมีหน้าที่นำข้อเท็จจริงสู่ศาลดูแล้วเนื่องจากว่าระบบนี้คือการไต่สวนหาความจริงให้กับญาติผู้ตายจึงเป็นเรื่องสำคัญที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ต้องช่วยกันทุกฝ่ายมิเช่นนั้นอาจจะทำให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นซ้ำซาก

นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า

การวิสามัญฆาตกรรมนั้นไม่ได้มีกฎหมายพิเศษที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่แต่ว่าเจ้าหน้าที่มักจะอ้างว่าการวิสามัญฆาตกรรมนั้นคือการปกป้องตนเองจากการทำร้ายของผู้ต้องหาหรือจำเลย และถ้าหากว่าเจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นกำลังพยายามทำร้าย เขาก็ป้องกันตัวเองเหมือนกับพลเมืองป้องกันตัวเอง ถ้าพิสูจน์ได้ว่าชอบด้วยกฎหมายเจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องรับผิด ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เราเองในฐานะพลเมืองก็มีสิทธิ์ป้องกันตัวเอง

ด้านผู้เชี่ยวชาญการไต่สวนการตาย นายคิงสลิย์ แอ๊บบอต คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ระบุว่า การไต่สวนการตายตามหลักสากลแล้วก็ต้องใช้ความเป็นกลางให้มากที่สุด รวดเร็วและโปร่งใส โดยหลักฐานที่เป็นกลางมากที่สุด อย่างในกรณีนี้คือภาพจาก กล้องวงจรปิด ที่ไม่ใช่แค่เครื่องมือในการปกป้องเจ้าหน้าที่แต่ภาพทั้งหมดจะบอกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างละเอียดโดยไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ที่สำคัญญาติกับผู้ตายจะต้องได้รับความคุ้มครองจากหน่วยงานของภาครัฐด้วย และในการไต่สวนการตายนั้น ครอบครัวของผู้ตายเป็นส่วนสำคัญที่สุดเนื่องจากจะรู้เรื่องราวของผู้ตายมากที่สุด และที่สำคัญรัฐต้องให้ข้อมูลกับญาติผู้ตายให้มากที่สุดถึงความคืบหน้าในการสอบสวนเป็นระยะ 

วานนี้ (6 มิ.ย.2561) ศาลเชียงใหม่นัดฟังไต่สวนการตายของนายชัยภูมิ โดยศาลชี้ว่า นายชัยภูมิ ถูกยิงเสียชีวิตด้วยปืนเอ็ม 16 โดยเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานประจำจุดตรวจในวันเกิดเหตุ ขณะที่ประเด็นอื่นซึ่งญาติตั้งข้อสังเกต ศาลไม่วินิจฉัย รวมถึงภาพจากกล้องวงจรปิดที่หายไปยังคงเป็นปริศนา 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง