ชี้การทดสอบ "ไอคิว" ไม่ใช่มาตรวัดความอัจฉริยะของเด็ก

Logo Thai PBS
ชี้การทดสอบ "ไอคิว" ไม่ใช่มาตรวัดความอัจฉริยะของเด็ก
นักการศึกษาญี่ปุ่น-อเมริกา ชี้การทดสอบไอคิว ไม่ใช่มาตรวัดความอัจฉริยะของเด็ก ระบุครู มีบทบาทสำคัญในการสร้างและกระตุ้นการเรียนรู้

จากการปาฐกถาพิเศษเรื่องบ่มเพาะเด็กอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ IQ สูงสู่การเป็นนักวิจัยที่มีศักยภาพสูงของศาสตราจารย์จิน อะคิยาม่า รองประธานมหาวิทยาลัยโตเกียวและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว จัดโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 

ศาสตราจารย์อะคิยาม่า ระบุว่าความสามารถพิเศษ หรือพรสวรรค์ของปัจเจกบุคคลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษา ฝึกฝน จุดประกายความกระตือรือร้นและนำพวกเขาไปสู่การเป็นนักวิจัยในที่สุด ทั้งนี้ในส่วนตัวไม่คิดว่าเด็กที่มีความสามารถพิเศษ หมายถึงเด็กที่มีระดับไอคิวสูง หรือมีความรู้มากๆ และไม่เชื่อว่าจะสามารถค้นพบเด็กอัจฉริยะได้จากการทดสอบระดับสติปัญญา (IQ Test) หากแต่เด็กที่มีความสามารถพิเศษนั้นจะต้องมีความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างมาก ต้องมีความสงสัยใคร่รู้อย่างเต็มที่และเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่เด็กจะเติบโตกลายมาเป็นนักวิจัยที่ยิ่งใหญ่

คะแนนสอบที่ดีไม่สำคัญสำหรับการเป็นนักวิจัย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการที่พวกเขามีความสนใจในบางสิ่งและสามารถที่จะครุ่นคิดถึงสิ่งนั้นได้อย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานแรมเดือนแรมปี ดังนั้นเราจะไม่สามารถหาเด็กที่มีความสามารถพิเศษได้จากการทดสอบระดับไอคิว

 

ทั้งนี้การเป็นนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญนั้น ต้องมีความพยายามที่จะพิสูจน์และคิดอย่างมีตรรกะ ซึ่งความสามารถในส่วนนี้เป็นความสามารถในเชิงคณิตศาสตร์ที่ต้องไดัรับการฝึกให้ชำนาญ

สำหรับการสอนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากที่จะทำให้เด็กที่มีความสามารถพิเศษกลายเป็นนักวิจัยที่ยิ่งใหญ่ได้ ดังนั้นครูมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ครูควรจะสอนแต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานหลัก และสนับสนุนให้เด็กได้ใช้ความคิดอย่างลึกซึ้ง ซึ่งการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการเป็นที่ปรึกษาให้เด็กเป็นสิ่งจำเป็นที่ครูจะต้องทำเป็นสิ่งแรก เพื่อจุดประกายความกระตือรือร้นของเด็กออกมา

ศาสตราจารย์อะกิยาม่า กล่าวเพิ่มว่า ตัวอย่างการสอนที่ศูนย์วิจัยการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียวนั้น จะมีการฝึกอบรมครูโดยการให้ความรู้และการสอนเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ครูที่มีความสามารถเหล่านี้มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยจุดประกายความสงสัยใคร่รู้ที่มีอยู่ในตัวของเด็ก รูปแบบการสอนสามารถทำให้สนุกสนานได้ด้วยการเล่นเกม การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมไปถึงการกระตุ้นและสนับสนุนให้เด็กมีการค้นคว้าและทดลองทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง

 

ชี้การสอนต้องเน้นให้เด็กเรียนรู้อย่างเข้าใจ 

ด้าน ศาสตราจารย์จูน เมเคอร์ นักการศึกษาแห่งแอริโซนา สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงทฤษฎีผลึกแท่งเแก้ว (The Prism Theory) เป็นทฤษฎีใหม่ที่ใช้แสดงถึงความสามารถพิเศษของเด็ก ว่า คนเราไม่สามารถที่จะเรียนรู้โดยปราศจากการจดจำข้อเท็จจริง ความสามารถทั่วไปทั้ง 5 ของมนุษย์ ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ ความจำ การหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณ การใช้เหตุผล และความสามารถในเชิงตรรกะ ซึ่งภายใต้ทฤษฎี Prism นี้ ความสามารถทั่วไปทั้ง 5 จะสะท้อนออกมาในความสามารถเฉพาะทาง 10 สาขา ได้แก่ สังคม อารมณ์ คณิตศาสตร์ กายและอริยบถ การมองเห็นและอวกาศ การได้ยิน ภาษาศาสตร์ เทคนิคและเครื่องกล รวมถึงวิทยาศาสตร์และจิตใจ

โดยมีความสามารถพื้นฐานที่เหมือนกัน เมื่ออยู่ในสาขาที่แตกต่างกันย่อมแตกต่างกัน เช่นความสามารถในความคิดสร้างสรรค์ในสาขาสังคม กับความสามารถในความคิดสร้างสรรค์ในสาขาเทคนิคและเครื่อง กลย่อมไม่เหมือนกัน ดังนั้นวิธีการสอน จำเป็นต้องสอนให้เด็กเรียนรู้ข้อมูลสำคัญที่ทำให้เข้าใจ  

หลายคนดูเหมือนจะเชื่อว่า ผลของการทดสอบไอคิวนั้น จะเป็นมาตรวัดความอัจฉริยะของเด็กได้ แต่ความคิดส่วนตัวแล้วไม่คิดเช่นนั้น การทดสอบไอคิว เป็นเพียงมาตรวัดความรู้และประสบการณ์ของเด็กเท่านั้น
 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง