77 ปี ภาพจำประวัติศาสตร์กลางกรุง

สังคม
11 ก.ย. 61
17:16
12,471
Logo Thai PBS
77 ปี ภาพจำประวัติศาสตร์กลางกรุง
ก่อนที่จะรู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพดูแล "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" ไทยพีบีเอสออนไลน์ ได้รวบรวมความเป็นมาของย่านสำคัญใจกลางกรุงแห่งนี้ รวมถึงได้รวบรวมบางเหตุการณ์ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถูกใช้เป็นสถานที่แสดงออกทางการเมืองของคนหลายกลุ่ม

จนถึงวันนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" ที่จะดำเนินการปรับปรุงและพัฒนา ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในมิติต่างๆ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

"อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" เทิดทูนวีรกรรมวีรชน

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตในสงครามข้อพิพาทแย่งดินแดนระหว่างไทยและฝรั่งเศส (สงครามอินโดจีน) ในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 59 คน ซึ่งมีชื่อจารึกอยู่บนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นอกจากนี้บริเวณใต้รูปปั้นนักรบ 5 เหล่าที่ประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ที่ยืนล้อมรอบดาบปลายปืน ยังมีแผ่นทองแดงที่จารึกชื่อของผู้เสียชีวิตและผู้สละชีพจากสงครามต่างๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2483-2497 รวมทั้งสิ้น 801 คน

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ออกแบบโดยหม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล และศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ควบคุมการหล่อรูป ปั้นนักรบทั้ง 5 เหล่า โดยมี พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้ทำพิธีเปิด เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 นับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ (พ.ศ.2561) อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมีอายุยาวนานถึง 76 ปี

 

ส่วนเหตุผลที่มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า ย้อนหลังไปเมื่อปี 2483 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประเทศไทยเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสเร่งรัดให้ทำสัตยาบันไม่รุกรานเป็นการตอบแทนตามที่ได้เคยทำสัญญาไว้ โดยสัญญาจะมีผลบังคับใช้เมื่อแลกสัตยาบันกันเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลไทยยินดีทำตามหากฝรั่งเศสยกดินแดนหลวงพระบาง ปากเซ ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง คืนให้กับไทยและทำการปักปันเส้นเขตแดนในลำน้ำโขงให้เรียบร้อย และต้องรับประกันว่าจะยกประเทศลาว ซึ่งเดิมเป็นอาณาจักรของไทยคืนให้ไทยด้วย หลังจากที่พ้นจากการปกครองของฝรั่งเศสแล้ว แต่ฝรั่งเศสตอบปฏิเสธข้อเสนอนี้

จึงเกิดเป็นกรณีพิพาทขึ้นและทวีความรุนแรง เมื่อฝรั่งเศสทิ้งระเบิดที จ.นครพนม และรัฐบาลไทยโต้ตอบโดยการทิ้งระเบิดเช่นเดียวกัน จึงเป็นเหตุให้เกิดการปะทะกันด้วยกำลังทหารและอาวุธ จนกระทั่งรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทให้ยุติลง โดยตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อประชุมทำสัตยาบันสันติภาพที่กรุงโตเกียว

ฝรั่งเศสตกลงยอมยกดินแดนหลวงพระบาง ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง นครจำปาศักดิ์กับที่ท่าสามเหลี่ยมฝั่งขวา และอาณาเขตมณฑลบูรพาเดิมให้กับไทย ซึ่งผลจากกรณีพิพาทในครั้งนั้นทำให้ประเทศไทยสูญเสียทหารไป 59 นาย

ศูนย์กลางคมนาคม

ข้อมูลจากกระทรวงวัฒนธรรม ยังระบุอีกว่า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นอนุสาวรีย์ในกรุงเทพมหานคร โดยรอบเป็นวงเวียน อยู่กึ่งกลางระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 0.0 ถนนพหลโยธิน 

อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร พื้นที่บริเวณนี้เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะอย่างรถเมล์ ซึ่งมีจุดให้บริการที่เกาะพหลโยธิน เกาะดินแดง เกาะพญาไท และเกาะราชวิถี ที่ตั้งอยู่ล้อมรอบวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมถึงรถไฟฟ้าบีทีเอส

แลนด์มาร์กใจกลางกรุง

ดาบปลายปืนสูงตระหง่าน นับเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์ก หรือสัญลักษณ์สำคัญของกรุงเทพมหานคร ที่นอกจากจะเป็นอนุสรณ์เตือนใจชนรุ่นหลังในการปกป้องชาติบ้านเมือง และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมแล้ว บริเวณโดยรอบยังมีโรงพยาบาลและสถาบันทางการแพทย์เฉพาะทาง ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าและร้านอาหารจำนวนมาก รวมถึงที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมอีกหลายโครงการ นับเป็นอีกหนึ่งย่านเศรษฐกิจสำคัญที่ดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว

สถานที่แสดงนัยการเมือง

บ่อยครั้งที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถูกใช้เป็นสถานที่เพื่อแสดงนัยะทางการเมืองในหลายเหตุการณ์ เช่น ย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองของไทยหลายพื้นที่ เพื่อขับไล่นายอภิสิทธ์ เวชชาชีวะ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงใช้รถแท็กซี่ปิดถนนตามแยกสำคัญต่างๆ ในกรุงเทพฯ หนึ่งในนั้นคือบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

ปี 2556 แกนนำกลุ่ม กปปส.ขึ้นเวทีปราศรัยกับประชาชนที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ลาออกจากตำแหน่ง โดยครั้งนั้นมีการจัดเวทีปราศรัยกระจายไปทั่วกรุงเทพฯ

ปี 2557 ประชาชนจำนวนมากรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อต้านรัฐประหารของ คสช. พร้อมเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

ปี 2559 กลุ่มพลเมืองโต้กลับ นัดรวมตัวกันบริเวณสกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อทำกิจกรรมยืนแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจของ คสช. กรณีจับกุมนายวัฒนา เมืองสุข

และปี 2561 ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD) 4 คน ใช้พื้นที่บริเวณสกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จัดกิจกรรมและใส่หน้ากาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความ Get Out

อนุสาวรีย์แห่งชาติ 14 แห่งยังไร้คนดูแล

หลัง กทม.มีแผนปรับปรุงภูมิทัศน์และพบว่า "อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ" ยังไม่มีเจ้าภาพหลักดูแลรับผิดชอบแล้ว ยังมีอนุสาวรีย์แห่งชาติในกรุงเทพฯ อีก 14 แห่งก็ยังไม่มีผู้รับผิดชอบหลักเช่นกัน ได้แก่

1. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
2. อุทกทานสหชาติและอุทกทานแม่พระธรณีบีบมวยผม
3. วงเวียน 22 กรกฎาคม
4. อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1
5. ปฐมบรมราชนุสรณ์
6. อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ
7. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
8. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
9. พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
10. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
11. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
12. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
13.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านนภาลัย
14. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง