แล็บนิติสัตว์ป่าไขคดีดัง "เสือดำ-หมีขอ"

Logo Thai PBS
แล็บนิติสัตว์ป่าไขคดีดัง "เสือดำ-หมีขอ"
"ไทยพีบีเอสออนไลน์" พาทำความรู้จักห้องปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ช่วยไขคดีดังสะเทือนสังคม โดยเฉพาะคดีเสือดำจนมาถึงคดีหมีขอ

หลักฐานคดีล่าหมีขอในอุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี ถูกส่งมาตรวจที่หน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช คดีนี้เป็นอีกหนึ่งคดีใหญ่ที่อยู่ในความดูแลของ ดร.กณิตา อุ่ยถาวร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า ที่เคยทำการตรวจสอบซากของกลางในคดีเสือดำมาแล้ว "ไทยพีบีเอสออนไลน์" ได้พูดคุยกับ ดร.กนิตา ถึงความเป็นมาและภารกิจของห้องแล็บแห่งนี้

ความเป็นมาแล็บนิติสัตว์ป่า

ดร.กณิตา  เล่าให้ฟังว่า หน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2553 หากนับจนถึงวันนี้ก็ประมาณ 8 ปีแล้ว ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีหน้าที่ให้บริการตรวจพิสูจน์ซากสัตว์ป่าและสัตว์ป่าของกลางที่อยู่ในคดี ตามที่มีการร้องขอจากกรมอุทยานฯ รวมถึงหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลหลักฐาน วัตถุพยานประกอบคดี รวมถึงเป็นหลักฐานในชั้นศาล

นอกจากนี้ยังมีหน้าที่จัดทำฐานข้อมูลอ้างอิงของสัตว์ป่า เพื่อนำมาใช้เปรียบเทียบกับสัตว์ป่าที่ต้องการพิสูจน์ในคดี รวมถึงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคนิคต่างๆ ในงานนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่า เพื่อใช้สนับสนุนงานตรวจพิสูจน์ทางคดีให้ก้าวหน้าและให้สามารถทำงานได้ง่ายขึ้น

8 ปีสางคดีใหญ่

หากดูสถิติคร่าวๆ ตั้งแต่ตั้งแล็บมาประมาณ 8 ปี มีคดีเข้ามาไม่ต่ำกว่า 200 คดี รวมจำนวนตัวอย่างไม่ต่ำกว่า 4,000 ตัวอย่าง นอกจากภารกิจงานที่ตรวจสัตว์ป่าและซากสัตว์ป่า เช่น หมูป่า เก้ง กวาง ที่ถูกลักลอบยิงในพื้นที่ป่าแล้ว ครึ่งหนึ่งของเคสคดีทั้งหมดเป็นคดีเกี่ยวกับงาช้าง รวมถึงคดีนอแรด ที่ต้องให้ความสำคัญเพราะมีปัญหาเกี่ยวกับการล่าเพื่อการค้าสูง

ส่วนคดีที่สังคมให้ความสนใจอย่างคดี "เสือดำ" ถือเป็นเคสที่มีความซับซ้อนและท้าทาย ซึ่งหน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าได้ทำหน้าที่ในการตอบคำถามทางคดีและมั่นใจว่าครบถ้วน ระหว่างนี้ทางแล็บต้องให้การในชั้นศาลต่อไป

ทำฐานข้อมูลช้างบ้าน-เสือโคร่งทั่วประเทศ

ปี 2560 หน่วยปฏิบัติการนิติวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าได้จัดทำฐานข้อมูลพันธุกรรมของช้างบ้านทั่วประเทศ ประมาณ 3,750 เชือก เพื่อทำฐานข้อมูลพันธุกรรมให้เป็นระบบเดียวกัน เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าเป็นช้างตัวเดียวกันหรือไม่ รวมถึงการหาความสัมพันธ์ของช้าง เป็นต้น

ส่วนปี 2561 ได้จัดทำโครงการเสือโคร่งในกรงเลี้ยงทั่วประเทศ ได้รับตัวอย่างประมาณ 2,400 ตัวอย่างจากทั้งหมด โดยต้องการจัดระบบทะเบียนของข้อมูลพันธุกรรมให้เป็นระบบเดียวเช่นกัน เพื่อให้ตรวจสอบเทียบเคียงกับกรณีที่เป็นคดีว่าเป็นเสือที่นำมาจากป่าหรือไม่ มีการล่าหรือค้า โดยนำช้างหรือเสือที่อยู่ในคดีมาเทียบว่าอยู่ในสารบบข้อมูลหรือไม่ หากไม่อยู่ก็สันนิฐานได้ว่าเป็นสัตว์ป่า หรือมีพฤติกรรมในการล่าหรือค้าเกิดขึ้น ขณะนี้ได้ทำการตรวจอัตลักษณ์ของเสือโคร่งในกรงเลี้ยงที่ระบุตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเตรียมพัฒนาตรวจหาชนิดพันธุ์ย่อย เพศและความสัมพันธ์ของเสือด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง