อังคณาชี้พบ "กระดูก" ก้าวแรกสู่กระบวนยุติธรรมคดีบิลลี่

อาชญากรรม
3 ก.ย. 62
10:13
1,347
Logo Thai PBS
อังคณาชี้พบ "กระดูก" ก้าวแรกสู่กระบวนยุติธรรมคดีบิลลี่
อังคณา นีละไพจิตร อดีต กสม. โพสต์กรณีพบกระดูกที่คาดว่าเป็นของ "บิลลี่" แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ระบุแม้ความจริงจะขมขื่น แต่จะเป็นก้าวแรกสู่การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม พร้อมเรียกร้องกรรมการมรดกโลกกดดันแก้ปัญหาการอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ใน 1 ปี

วันนี้ (3 ก.ย.2562) นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โพสต์ข้อความในเพจ Angkhana Neelapaijit ระบุว่า ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ข่าวว่าบ่ายโมงวันนี้ (3 ก.ย.) จะแถลงข่าวกรณีนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และหากเป็นไปตามที่กล่าวในเวทีเสวนา "คนก็หาย กฎหมายก็ไม่มี" เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา ว่าจะมีข่าวดี (แม้ฟังแล้วจะขมขื่น) แต่ก็เป็นอีกขั้นตอนของกระบวนการสอบสวนและการเปิดเผยความจริง หากกระดูกที่พบ คือ กระดูกของบิลลี่ บิลลี่ก็จะไม่อยู่ในสถานะผู้ถูกบังคับสูญหายอีกต่อไป ครอบครัวจะสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้เขาได้ ในส่วนครอบครัวการทราบชะตากรรมจะเป็นการปลดปล่อยพันธนาการของความคลุมเครือ แต่ก็คงเป็นความเจ็บปวด ทุกข์ทรมานอย่างที่สุดในการรับรู้การกระทำที่ป่าเถื่อน โหดร้ายไร้มนุษยธรรมเช่นนี้

นางอังคณา เห็นว่า สิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องเร่งทำความจริงในคดีนี้ให้ปรากฎ คือการที่กรรมการมรดกโลกกดดันให้เวลาประเทศไทย 1 ปี ในการแก้ปัญหาการอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ในผืนป่าแก่งกระจาน โดยเฉพาะกรณีการหายตัวไปของบิลลี่

สำหรับกรณีผู้ถูกบังคับสูญหายรายอื่น ๆ ที่ DSI รับเป็นคดีพิเศษรวมถึงคดีนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ที่ดีเอสไอไม่มีความเต็มใจ (unwillingness) ทำคดีตั้งแต่ต้น ได้งดการสอบสวนไปนานแล้ว และไม่มีท่าทีต้องการรื้อฟื้นคดีกลับมาใหม่ คิดว่าอาจเป็นเพราะผู้กระทำผิดและบรรดาผู้เกี่ยวข้องล้วนยังมีอำนาจมากมายในปัจจุบันจนยากที่ใครจะกล้าแตะ ประสบการณ์ส่วนตัวจึงบอกว่าไม่ว่ารัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลพลเรือน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบังคับสูญหาย มักลอยนวลไม่ต้องรับผิด ซึ่งกรณีสมชายเกิดขึ้นในช่วงการใช้นโยบายสงครามยาเสพติด และการปราบปรามการก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยปรากฎว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่สูญหายในช่วงเดียวกัน ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานจนปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง