"อดีตรมว.คลัง" ชี้เร่งเดินหน้าไฮสปีด 3 สนามบิน ส่อเอื้อเอกชน

เศรษฐกิจ
8 ต.ค. 62
19:28
332
Logo Thai PBS
"อดีตรมว.คลัง" ชี้เร่งเดินหน้าไฮสปีด 3 สนามบิน ส่อเอื้อเอกชน
อดีต รมว.คลัง ชี้รัฐบาลเร่งเดินหน้าโครงการไฮสปีด 3 สนามบิน ส่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน ขณะที่ฝ่ายค้านเตรียมจองกฐินอภิปรายไม่ไว้วางใจ

วันนี้ (8 ต.ค.2562) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในการเสวนาโต๊ะกลม บัญญัติกลโกง 10 ประการ ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการญาติพฤษภา 35 และสภาที่ 3 ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เป็นการโกหกประชาชนเพื่อนำเงินลงทุนจำนวนมหาศาลเอื้อให้แก่เอกชน การเสนอทางออกให้เร่งพัฒนารถไฟทางคู่เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่าถึง 3 เท่า

 

นอกจากนี้ ยังมองว่าเป็นการเปิดช่องให้เอกชนใช้ประโยชน์ที่ดินมักกะสัน เนื่องจากนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ชี้แจงว่าเป็นการให้เช่าพื้นที่ 50 ปี แต่ไม่ได้แจ้งว่าเอกชนสามารถบังคับขยายสัญญาเช่าออกไป 49 ปี รวมเป็น 99 ปี และการประเมินมูลค่าที่ดินถูกกว่าท้องตลาดเนื่องจากเหลือเพียงตารางวาละ 2 - 3 แสนบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าที่แท้จริง

แม้ว่าจะมีการอ้างว่า สามารถทยอยส่งมอบพื้นที่ได้โดยไม่ต้องส่งมอบพื้นที่ทั้งหมด แต่เชื่อว่ายังมีปัญหาในการส่งมอบพื้นที่ ทั้งนี้ หากกลุ่มซีพีไม่มาลงนามและเรียกกลุ่มบีทีเอสมาลงนามแทน ก็มองว่ามีความเกี่ยวข้องกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ถ้าไม่ลงนาม ไม่หาทางลง ก็จะเกิดปัญหาว่า รถไฟมีอำนาจริบเงิน 2,000 ล้านบาทหรือไม่ ถ้าไม่มีอำนาจทั้งที่ริบได้ก็จะเดือดร้อน ถ้ารัฐบาลยอมรับว่าปัญหาส่งมอบพื้นที่เป็นปัญหาหลัก เป็นข้อถกเถียงระหว่างรัฐกับเอกชน ให้การรถไฟฯประเมินว่า โอกาสที่จะทำได้จริง ทำได้หรือไม่ ถ้าไม่เกิดล้มประมูลคืน 2,000 ล้านบาท และระดมความคิด คิดว่าเป็นวิธีการบริหารที่ดีที่สุด

ด้านนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อาจจะมีเอกชนเพียงรายเดียวในการประมูล เพราะหากดูที่ถ้อยคำนายธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ให้ซีพีดูแลด้านตะวันออก และไทยเบฟจะลงทุนตะวันตกไปหัวหิน หากนำมาพูดก่อนการเปิดซองอาจจะเป็นการฮั้วประมูลหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ไม่เคยมีแผนศึกษาเส้นทางดังกล่าวมาก่อน จึงเกิดคำถามว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์กับประชาชนหรือใครกันแน่ เพราะเอกชนที่เข้ามาลงทุนไมได้มาเพื่อการกุศลต่างต้องการหวังผลประโยชน์และกำไรมหาศาล

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ใช้ความเร็ว 250 กม.ต่อชั่วโมง ซึ่งโครงสร้างต่างจากความเร็ว 180 - 200 กม.ต่อชั่วโมง ขณะที่สถานีเยอะมาก และสถานีตั้งแต่อู่ตะเภา - กรุงเทพฯ มีระยะทางเพียง 100 กม. และเมื่อเข้าเขตเมืองต้องชะลอความเร็ว คุ้มค่าหรือไม่

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้โครงการไฮสปีดเดินหน้าต่อไป เพราะไม่โปร่งใสตั้งแต่แรก อีกทั้งเรื่องรถไฟไฮสปีดยังเป็นเพียงเรื่องบังหน้าที่จะเปิดช่องให้เอกชนเข้ามาลงทุนพื้นที่เชิงพาณิชย์มักกะสัน โดยในวันที่ 10 ต.ค.นี้ จะประชุมกรรมาธิการคมนาคม โดยฝ่ายค้านจะเสนอญัตติให้นำเสนอโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินและการพัฒนาพื้นที่ eec ให้ที่ประชุมเพื่อตรวจสอบ หากตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแล้วจะเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจงเพื่อขอดูสัญญาและทีโออาร์

ซึ่งการดำเนินการ จะทันก่อนการลงนามวันที่ 25 ต.ค.หรือไม่ หากไม่ทันจะต้องหาแนวทางในการยื่นอภิปรายเป็นรายบุคคลหรืออภิปรายทั่วไปรัฐบาล หากโครงการนี้เกิดความไม่โปร่งใส พร้อมเตือนนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตั้งแต่แรกดังนั้นหากมีการลงนามแล้วเกิดอะไรขึ้นในอนาคตจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

หากรัฐบาลเซ็นตอนนี้ก็เร่งกว่าความเร็วรถไฟความเร็วสูง ทำไมไม่เปิดเผยทีโออาร์ ทำไมไม่ให้สภา ประชาชน รับทราบ อยากเตือน รมว.คมนาคม ไม่เกี่ยวตั้งแต่ต้น รองนายกฯ กับนายกเกี่ยวตั้งแต่ต้น คุณเข้ามาพร้อมผม ถ้าคุณเซ็น คุณเบอร์ 1 ที่ต้องรับผิดชอบ ถึงสภาได้เสียงมากกว่าก็ไม่แน่ ความผิดมันจะอยู่ตลอดชีวิต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง