หยุดผีซิ่ง ดื่มแล้วขับ วันฮาโลวีน เน้นงานเลี้ยงปลอดเหล้า

สังคม
31 ต.ค. 62
16:10
1,017
Logo Thai PBS
หยุดผีซิ่ง ดื่มแล้วขับ วันฮาโลวีน เน้นงานเลี้ยงปลอดเหล้า
สสส.จับมือ ภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเตือนสติวันฮาโลวีน หยุดผีซิ่ง ดื่ม-แล้วขับ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับขี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลังไทยครองแชมป์อันดับ 1 ของอาเซียน เสียชีวิต 50-70 คนต่อวัน

วันนี้ (31 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมรณรงค์รับวันฮาโลวีน ภายใต้แนวคิด Halloween 2019 NO AL Party #หยุดผีซิ่ง ซึ่งจัดไปเมื่อบ่ายวานนี้ มีกลุ่มเยาวชนแต่งกายเป็นผี เข้าร่วมกิจกรรมหยุดผีซิ่ง เพื่อแสดงทางเลือกการจัดกิจกรรมหรืองานเลี้ยงสังสรรค์ปลอดเหล้า อย่างเช่นงานคอนเสิร์ตของกลุ่มโคตรอินดี้ จ.สระบุรี มีคนเข้าร่วมนับหมื่น แต่ไม่เกิดปัญหาทะเลาะวิวาทหรือพฤติกรรมไม่เหมาะสม เป็นงานที่ยืนยันได้ว่าสามารถสนุกได้โดยไร้แอลกอฮอล์จริงๆ

 

 

 

เนื่องจากวันฮาโลวีน จะมีการดื่มเฉลิมฉลองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และนำไปสู่พฤติกรรมการดื่มแล้วขับ ขับเร็วขับซิ่ง เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมเคยศึกษาถึงมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน คนเสียชีวิตคนนึง มีมูลค่าความสูญเสียอาจจะอยู่ที่ 7-8 ล้านบาท ส่วนคนพิการขยับไปอยู่ที่ 9-10 ล้านบาท

นอกจากนี้ บรรดาธุรกิจร้านเหล้าผับบาร์ใช้โอกาสนี้เรียกลูกค้า สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปี 2551 ทั้งขายให้ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ขายให้คนเมาครองสติไม่ได้ ส่งเสริมการขายลดแลก แจกแถม ขายนอกเวลาที่กฎหมายกำหนด ความน่าเป็นห่วงของคืนฮาโลวีนจึงหนีไม่พ้นปัญหาเหล่านี้ เป็นเงามืดที่ติดตามมากับความสนุกสนานของเทศกาล

 

 

 

น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 24,000 คน สำหรับปัจจัยร่วมหลักยังคงเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนปัญหาขับเร็วก็นำมาซึ่งความสูญเสียไม่แพ้กัน ด้วยความรุนแรงหรือแรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นสามารถเทียบเคียงได้จากการชนที่ระดับความเร็ว 80 กม/ชม. รุนแรงเท่ากับการตกตึก 8 ชั้น,120 กม./ชม. รุนแรงเท่ากับคนตกตึก 19 ชั้น

นายพรหมมินทร์ กันธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุอยู่ในขั้นวิกฤตรุนแรง อัตราเฉลี่ยเสียชีวิต 50-70 คนต่อวัน ประเทศไทยติดอยู่ในอันดับ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน สาเหตุดื่มแล้วขับอยู่ในอันดับต้นๆ หากวิเคราะห์การใช้รถใช้ถนนในเมืองไทย พบว่ามีองค์ประกอบไม่สมดุล รถ คน ถนน สิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะตัวคน คนอายุน้อยสามารถขับขี่ได้ ส่วนคนที่กระทำผิดซ้ำๆ ยังไม่มีวิธีการคัดออก รถถูกนำมาดัดแปลง ต่อเติม โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นมักใช้ยานพาหนะเกินความจำเป็น บวกกับพฤติกรรมดื่ม ขับเร็ว สิ่งที่อยากแนะนำผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนคือการประเมินวิเคราะห์ความเสี่ยงไปตลอดเส้นทางหรือมีสติเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง