"พล.อ.ประยุทธ์" นั่งบัญชาการศูนย์เฉพาะกิจสู้วิกฤตน้ำ

ภัยพิบัติ
7 ม.ค. 63
13:40
1,461
Logo Thai PBS
"พล.อ.ประยุทธ์" นั่งบัญชาการศูนย์เฉพาะกิจสู้วิกฤตน้ำ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คาดภัยแล้งปีนี้รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา เตรียมนั่งเป็นผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการน้ำเฉพาะกิจ และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ หลัง ครม.พิจารณากรอบโครงสร้างวันนี้ (7 ม.ค.)

วันนี้ (7 ม.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาวะน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้จุดสูบน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปาในหลายพื้นที่มีรสชาติกร่อย ประกอบกับวิกฤตน้ำแล้งที่เริ่มรุนแรงขึ้น หลังจากน้ำในอ่างเก็บน้ำมีน้อยลงกว่าปีก่อน อีกทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา ยังคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีฝนตกน้อยและเสี่ยงเกิดภัยแล้ง ระหว่างเดือน ม.ค.-มิ.ย.2563

คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) จึงได้ประชุมและมีมติเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจและแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (War Room) ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2562 มาตรา 24 ซึ่งระบุว่า “ในกรณีเกิดปัญหาวิกฤตน้ำจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคน สัตว์ หรือพืช หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ อย่างรุนแรง ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจจัดตั้ง ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการ อำนวยการแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำเป็นการชั่วคราว จนกว่าปัญหาวิกฤติน้ำจะผ่านพ้นไป”


สำหรับศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจจะมี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้บัญชาการ และมี พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองผู้บัญชาการ และนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อควบคุม สั่งการ บัญชาการ และศูนย์อำนวยการแก้ไขวิกฤติน้ำเป็นการชั่วคราวจนกว่าปัญหาวิกฤติน้ำจะผ่านพ้นไป รวมทั้งออกคำสั่งเพื่อการป้องกันแก้ไข ควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลร้ายจากความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และบัญชาการร่วมกับกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ(บกปภ.ช.) ในกรณีที่เป็นสาธารณภัยด้านทรัพยากรน้ำหรือวิกฤตน้ำ 

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ยังให้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นหน่วยงานสนับสนุนในการวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ ตามกรอบอำนาจหน้าที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ

นายกฯ ขอประชาชนร่วมมือผ่านวิกฤตแล้งด้วยกัน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า รัฐบาลประเมินว่าภัยแล้งปีนี้จะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากปริมาณฝนที่ตกน้อยลง ซึ่งที่ผ่านมาได้เร่งแก้ไขทั้งการขุดบ่อน้ำบาดาล จัดหาแหล่งน้ำสำรอง ตั้งจุดแจกจ่ายน้ำประปา จ้างงานและหาอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกร เช่น การเสนอแนวทางจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็ก ให้ประชาชนในพื้นที่ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชพลังงาน เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้า ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้กับเกษตรกร พร้อมย้ำว่าการบริหารจัดการน้ำต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงจะสำเร็จ


ในช่วงระหว่างแก้น้ำประปารสกร่อย อาจใช้วิธีต้มไปก่อน ขอให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ หรือใช้น้ำให้น้อยลง ระหว่างการทำภารกิจก็ขอให้ปิดก๊อกน้ำ แค่ประหยัดคนละ 1 นาทีต่อวัน ก็ประหยัดได้ 9 ลิตร คนกรุงเทพฯ 10 ล้านคน ก็ประหยัดไปแล้ว 100 ล้านลิตร

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจกันประหยัดน้ำ ใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อผ่านพ้นวิกฤตภัยแล้งนี้ไปด้วยกัน พร้อมแนะถึงการพัฒนานวัตกรรมในด้านต่างๆ ทั้งในด้านรูปแบบ ด้านวัตถุดิบ ต้องคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของตลาด

โครงการศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจแก้วิกฤตน้ำ

  • นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บัญชาการ
  • รองนายกรัฐมนตรี เป็นรองผู้บัญชาการ
  • ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นกรรมการ
  • ผู้บัญชาการกองทัพบก เป็นกรรมการ
  • ผู้บัญชาการกองทัพเรือ เป็นกรรมการ
  • ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ เป็นกรรมการ
  • ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นกรรมการ
  • เลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นกรรมการ
  • เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการ
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการ
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการ
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการ
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นกรรมการ
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ
  • รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ
  • เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการ
  • เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นกรรมการ
  • ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. เป็นกรรมการ
  • ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ
  • เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นเลขานุการและกรรมการ
  • รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ช่วยเลขานุการและกรรมการ 

4 ระดับ ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตาม พ.ร.บ.น้ำ

ทั้งนี้ แนวทางและเงื่อนไข ในการแจ้งเตือน และการพิจารณายกระดับศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มีดังนี้

  • ระดับ 0 ศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตาม/เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำของประเทศ ทั้งภาวะน้ำท่วม/น้ำแล้ง อย่างใกล้ชิด 

  • ระดับ 1 ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ เมื่อคาดว่าวิกฤติน้ำในพื้นที่จะมีความรุนแรง/ผลกระทบ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • ระดับ 2 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เมื่อคาดว่าจะมี พายุก่อตัว/วิกฤติน้ำ และคาดว่าจะมีผลกระทบกับประเทศไทย และมีแนวโน้มความรุนแรงสูงขึ้น ในพื้นที่มากกกว่า 30% ของระดับภาค และ/หรืออาจจะก่อให้เกิดผลกระทบ/ความเสียหายในบริเวณกว้าง

  • ระดับ 3 ศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ เมื่อคาดว่าวิกฤติน้ำเกิดความรุนแรง ตามพรบ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 มาตรา 24 คาดว่าจะมีผลกระทบกับประเทศไทย และมีแนวโน้มความรุนแรง สูงขึ้น ในพื้นที่มากกกว่า 60% ของระดับภาค และ/หรืออาจจะก่อให้เกิด ผลกระทบ/ความเสียหายในบริเวณกว้าง

ขณะที่วันนี้ (7 ม.ค.) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาเห็นชอบกรอบโครงสร้างศูนย์บัญชาการน้ำเฉพาะกิจ และแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติน้ำ รวมทั้งเห็นชอบให้สำนักงบประมาณดำเนินการตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนการปฏิบัติงานดังกล่าวตามความจำเป็นต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง