เกษตรกรเข้ากรุงฯ จี้รัฐบาลแก้โรคระบาด หลังวัวตายแล้วกว่า 70 ตัว

สังคม
13 ม.ค. 63
10:55
3,016
Logo Thai PBS
เกษตรกรเข้ากรุงฯ จี้รัฐบาลแก้โรคระบาด หลังวัวตายแล้วกว่า 70 ตัว
เกษตรกร จ.สระบุรี เข้ากรุงฯ ขอรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาโรคระบาดในโคนม หลัง วัวตายแล้วกว่า 70 ตัว ปศุสัตว์แนะเกษตรกรสังเกตอาการสัตว์ซึมน้ำลายไหล คาดภัยแล้ง อากาศเปลี่ยน ต้นเหตุ วัวปากเท้าเปื่อย อ่อนแอ ตายผิดปกติ

หลังจาก "ไทยพีบีเอส" นำเสนอข่าวชาวโคนม จ.สระบุรี ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดในวัวนมที่เลี้ยงไว้ตาย และ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา โดยเบื้องต้นปศุสัตว์จังหวัดสระบุรี พบว่า มีวัวนม อ.มวกเหล็ก ตายกว่า 70 ตัว ป่วยกว่า 1,700 ตัว ในจำนวน 108 ฟาร์ม และโดยสันนิษฐานว่า เป็นปากเท้าเปื่อย และ ได้เก็บชิ้นส่วนวัวไปสุ่มตรวจห้องแลป แต่ผลยังไม่ออก ขณะที่เช้าวันนี้ (13 ม.ค.) กลุ่มผู้เลี้ยงวัว จะเดินทางเข้ากทม. เพื่อร้องเรียนนายกรัฐมนตรี และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ช่วยแก้ปัญหา

อ่านข่าว : ร้องวัวตายผิดปกติกว่า 70 ตัว ป่วย 1,700 ตัว จ.สระบุรี

เกษตรกรเข้ากรุงฯ ร้องรัฐช่วยโรคระบาด

เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้รับผลกระทบเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ขอให้ฝ่ายเกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา โดยเวลา 09.30 น. เดินทางไปทำเนียบรัฐบาล ยื่นเรื่องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากนั้นเวลา 10.30 น. จะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเวลา 13.00 น.เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

ภัยแล้ง อาหารไม่สมบูรณ์ วัวอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย

นสพ.ชัยวัฒน์ โยธคล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กำชับปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัด ในการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด และลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรในทุกกรณี ซึ่งเหตุการณ์วัวตาย ที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด และปศุสัตว์อำเภอ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำกับเกษตรกรแล้ว

ส่วนสาเหตุที่เกิดโรคปากเท้าเปื่อยในวัวนมช่วงนี้มาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลต่ออาหารของวัว คือหญ้าขาดแคลนและอาจจะไม่สมบูรณ์ ทำให้สภาพวัวอ่อนแอ และติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะการกินฝุ่นข้าวโพดที่มากจนเกินไปส่งผลต่อการย่อยของวัว

 

สำหรับพื้นที่ อ.มวกเหล็ก มีขนาดพื้นที่กว้างและมีการเลี้ยงวัวนมอย่างหนาแน่น มีเกษตรกร 2,390 ราย มีวัวนม 99,897 ตัว ทำให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์ ซากสัตว์ เช่น มูลสัตว์ น้ำนม อาหารสัตว์ ตลอดเวลา ทำให้การควบคุมไม่ให้โรคปากและเท้าเปื่อยแพร่กระจายเป็นไปด้วยความยากลำบาก

นอกจากนี้เกษตรกรไม่ได้แจ้งโรคหรือแจ้งโรคช้า ทำให้การเข้าควบคุมโรคล่าช้า โรคแพร่กระจายไปเป็นวงกว้าง รวมถึงฟาร์มส่วนใหญ่ไม่มีระบบป้องกันโรคเข้าฟาร์มตามมาตรฐาน และฟาร์มส่วนใหญ่ ไม่ผ่านการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค

สั่งฆ่าเชื้อ คุมโรค สกัดวัวไม่มีประวัติ

เบื้องต้นแนะนำให้เกษตรกรควบคุมการเข้าออกฟาร์มอย่างละเอียดมีการฆ่าเชื้อทุกครั้งผ่านอ่างเก็บน้ำยาฆ่าเชื้อ หมั่นสังเกตอาการของวัว งดการนำสัตว์เข้ามาเลี้ยงใหม่จากวัวที่ไม่ทราบแหล่งที่มา หรือจากพื้นที่ที่มีโรคระบาด หลีกเลี่ยงให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าฟาร์ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอกเลี้ยงวัวและโรงรีดนม เลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีโรคปากและเท้าเปื่อยระบาด ที่สำคัญทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่โรงเรือน ถังนมและอุปกรณ์ต่างๆ

หมั่นสังเกตอาการวัว เร่งนำไปฉัดวัคซีน

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุด้วยว่าหากวัวมีอาการน้ำลายยืดให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อเข้าดูแลอาการ รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย วัวทั่วไปปีละ 2 ครั้ง ส่วนวัวนมปีละ 3 ครั้ง โดยทางปศุสัตว์มีการฉีดวัคซีนให้ฟรี หากเกษตรกรคนใด ยังไม่ได้นำวัวไปฉีดวัคซีน ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ เพื่อทำการฉีดให้ฟรี

ข้อมูลตั้งแต่เดือน พ.ย.2562 จนถึงปัจจุบัน มีการฉีดวัคซีนให้วัวไปแล้ว 91,842 ตัว สำหรับอาการโรคปากเท้าเปื่อย สัตว์จะมีอาการซึม ไข้สูง น้ำลายไหล มีเม็ดตุ่มใส พุพอง เกิดขึ้นภายในปาก ลิ้น เหงือก เพดานปาก ข้างแก้ม ซอกกีบต่อมาเม็ดตุ่มจะแตกเป็นแผล สัตว์แสดงอาการขาเจ็บ เดินกะเผลก น้ำลายไหลมากขึ้น มีแผลในปาก ลิ้น เท้า และหัวนม

ประกาศพื้นที่คุมโรคระบาด จ.สระบุรี ถึง 9 ก.พ.63

ขณะที่ สถานการณ์โรคปากและเท้าเปื่อย ในพื้นที่ จ.สระบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ได้ประกาศกำหนดเขตเฝ้าระวังโรคระบาดชนิดโรคปากและเท้าเปื่อยในสัตว์กีบคู่จำพวกโค กระบือ แพะ แกะ สุกร หมูป่า และกวางตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.2562 ปศุสัตว์อำเภอมวกเหล็ก ได้ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว ชนิดโรคปากและเท้าเปื่อยในพื้นที่หมู่ 2 บ้านคลองม่วงใต้ ต.ลำพญากลาง อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.2563 จนถึง 9 ก.พ.2663 เบื้องต้น มีเกษตรกรแจ้งมาแล้ว 108 ราย มีวัวนมร่วมฝูง 5,654 ตัว ที่ป่วย และรักษาให้หาย ส่วนอีก 897 ตัว ที่อยู่ระหว่างการรักษาอาการ

โรคปากและเท้าเปื่อยเกิดจากเชื้อไวรัส เป็นโรคที่สำคัญในโค กระบือ แพะ แกะ สุกร โรคนี้สามารถแพร่กระจายอย่างรวดเร็วโดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วย หรือเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการซึม เบื่ออาหาร มีเมล็ดตุ่มพองหรือแผลบริเวณลิ้น ช่องปาก ริมฝีปาก เต้านม และกีบ ส่งผลให้สัตว์มีน้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ และเดินกะเผลก

โดยทั่วไปโรคปากและเท้าเปื่อยมักไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สัตว์ที่โตเต็มวัยตาย แต่สัตว์อาจตายได้จากภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดเชื้อแบคทีเรียหรือจากปัจจัยอื่นๆ เนื่องจากสัตว์เบื่ออาหารและอ่อนแอ และอาจสร้างความรุนแรงและเป็นสาเหตุการตายในลูกสัตว์ได้เนื่องจากเชื่อไวรัสทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง