กลเกมร่างงบประมาณฯ ก่อนอภิรายไม่ไว้วางใจ

Logo Thai PBS
กลเกมร่างงบประมาณฯ ก่อนอภิรายไม่ไว้วางใจ
“สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น” น่าจะสะท้อนหลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น ระหว่างและหลังการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ หากตรวจสอบต่ออย่างเข้มข้น ด้วยความตื่นตัวทางการเมืองจากกิจกรรมเมื่อสุดสัปดาห์ คงไม่เป็นแค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว

ไม่ว่าใครจะได้อะไรในทางตรงหรือทางอ้อม แต่กิจกรรม “ไล่ลุง-เชียร์ลุง” เมื่อวันที่ 12 มกราคม อาจสร้างบรรยากาศความตื่นตัวทางการเมืองได้ และเมื่อกิจกรรมจบสิ้นลง แสงไฟก็พึงสาดส่องกลับมาหาการเมืองในระบบรัฐสภา ที่มีผู้แทนราษฎรทำหน้าที่

พรรคเสรีรวมไทย เป็นพรรคการเมืองเดียวที่แทบไม่ร่วมสังฆกรรมกับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2563 เมื่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรค เปิดหัวอภิปรายย้ำจุดยืนเดิมจะฟ้องร้องเอาผิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึง ครม.ด้วยความเชื่อว่ากระทำผิดขัดต่อรัฐธรรมนูญ จากปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน และไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อได้

พร้อมตั้งคำถามถึงกลุ่ม ส.ส.ผู้สงวนคำแปรญัตติ ก่อนจะลงมติรับรายงานแก้ไขของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ

..ส.ส.ต่างๆ ที่เสนอขอตัดงบกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ว่าใช้เงินไม่ถูกต้อง หมื่นกว่าล้าน สองหมื่นกว่าล้าน ตัด 10% ตัด 15% แต่พอถึงเวลายกมือเห็นด้วยหมด ผมก็ถามว่าคุณเป็น ส.ส.เป็นคนอภิปราย เห็นว่าไม่ถูกต้องเกินเลยความเป็นจริง ทำไมไปยกมือให้เขา เขาก็บอกว่าเป็นมติพรรค..

อีกด้านก็ยังมีกรณี ส.ส.รังสิมา รอดรัศมี แห่งประชาธิปัตย์ คัดค้านอย่างหนักกับการตัดงบประมาณกรมวิชาการเกษตร ที่หายไปมากถึงร้อยละ 40 ซึ่ง กมธ.ชี้แจงว่าพบพิรุธการเช่าเครื่องคอมพิวเตอร์และซื้อเครื่องวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี (Gas Chromatograph, GC) ราคาแต่ละพื้นที่แตกต่างกันหลักล้านบาท หากพิจารณาจากภาพในห้องประชุม เหตุผลที่ชี้แจงไม่อาจทำให้เธอยอมรับได้ แต่สุดท้าย ส.ส.หญิงก็กลับลงมติเห็นด้วยกับมาตรานี้

และเหตุผลที่ลงมติเห็นชอบนั้น อาจเป็นเหตุผลเดียวกับที่ “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุเป็น “ภาวะจำยอม” เพื่อให้กฎหมายงบประมาณเดินหน้า ขับเคลื่อนอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ไม่ให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก หลังเครื่องจักรตัวอื่นทั้งการลงทุนเอกชน ท่องเที่ยว หรือการบริโภคภายในประเทศ ประสบปัญหา

ที่เราทำได้เพื่อคุ้มครองความคิดของเรา และรับผิดชอบประเทศ ก็คงต้องงดออกเสียง ส่วนว่าจะชนะหรือผ่านได้หรือไม่ อยู่ที่รัฐบาลท่านจะจัดการกันเอง

อาจเกินความคาดหมายของวิปฝ่ายค้าน เมื่อยังไม่ทันขาดคำ “อยู่ที่รัฐบาลท่านจะจัดการกันเอง” เพราะหลังลงคะแนนเสร็จสิ้น กลับเกิดปรากฏการณ์ “งูเห่า” อีกครั้ง

พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี พรรคเพื่อไทย (เห็นชอบ)
พลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย (ไม่ลงคะแนน)
อนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ (เห็นชอบ)
ภาสกร เงินเจริญกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ (เห็นชอบ)
มนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ (เห็นชอบ)
มารศรี ขจรเรืองโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ (เห็นชอบ)
สุภดิช อากาศฤกษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ (เห็นชอบ)
นิยม วิวรรธนดิฐกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ (เห็นชอบ)

7 คนแรก หาใช่คนหน้าใหม่ เพราะเคยโหวตสวนมติวิป ในญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบต่อประกาศคำสั่งของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 มาแล้ว

ผลพวงที่ตามมา คือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกลงโทษตัดสิทธิ์ไม่ให้ลงรับสมัครรับเลือกตั้งในครั้งหน้าแล้ว ส่วนจะถึงขั้นถูกขับออกจากพรรคหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารฯ

ยังมีประเด็นของ “วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล” กรรมาธิการสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ที่เชื่อว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขัดกับ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 ว่าด้วยการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้กับหน่วยรับงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ และทุนหมุนเวียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่กลับพบจัดสรรให้กับทุนหมุนเวียนที่ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ให้กับ 20 กองทุน รวมเป็นเงิน 1.97 แสนล้านบาท

นายวรวัจน์ ย้ำหลายรอบว่าร่างกฎหมายนี้มีปัญหา และอาจเป็นช่องให้ ป.ป.ช.ย้อนกลับมาตรวจสอบดำเนินคดีต่อ ส.ส.ที่ลงมติเห็นชอบ ซึ่งอาจต้องรอติดตามว่าจะเป็นไปตามที่เจ้าตัวกล่าวเตือนหรือไม่

นี่เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นข้อกฎหมายและเกมการเมืองที่ปรากฏในช่วงอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ขั้วการเมืองอาจได้ใช้โอกาสนี้ตรวจแถวตรวจเสียงกันอีกครั้ง ก่อนสู้ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่เปิดเผยชื่อรัฐมนตรีเป้าหมาย อย่างน้อย 5 คน “พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร-สมคิด-วิษณุ-ดอน” ที่ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ยุค คสช. ย่อมหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบย้อนหลังไปถึงปี 2557 ได้ยาก

ขณะที่ประชาชนผู้สังเกตการณ์การเมืองอยู่นอกสภา จะได้ร่วมตรวจสอบและตั้งคำถามถึงการบริหารราชการแผ่นดินด้วยเงินภาษีและทรัพยากรของประเทศ โดยเฉพาะหากกระแสตื่นตัวจากกิจกรรมเมื่อ 12 ม.ค.นั้น ยังไม่มอดดับไป

เรื่อง : จตุรงค์ แสงโชติกุล  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง