หลายฝ่ายห่วง "กัมพูชา" ขึ้นทะเบียนท่ารำกระทบนาฏศิลป์ไทย

Logo Thai PBS
หลายฝ่ายห่วง "กัมพูชา" ขึ้นทะเบียนท่ารำกระทบนาฏศิลป์ไทย

การที่กัมพูชาขึ้นทะเบียนท่ารำ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีผลกับนาฏศิลป์ไทย เพราะว่าทั้ง 2 ประเทศมีศิลปะการแสดงที่คล้ายคลึงกันมาก ไม่เพียงเกิดจากการถ่ายเท ปรับประยุกต์ แต่เพราะมีต้นกำเนิดมาจากท่ารำ และพิธีกรรมทางศาสนาแหล่งเดียวกัน

แม้การร่ายรำแบบนาฏศิลป์ราชสำนักของกัมพูชา หรือ The Royal Ballet of Cambodia จะมีความคล้ายคลึงของท่วงท่าแทบไม่ต่างจากนาฏศิลป์ไทย ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านนาฏศิลป์ของทั้ง 2 ชาติ ดังเอกสารของฝ่ายไทย ที่บันทึกถึงหม่อมเจ้าหญิงฉวีวาด ปราโมช ผู้นำละครในไปเผยแพร่ในราชสำนักเขมร แต่ในความเหมือนยังมีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่แตกต่างกัน

ชวลิต สุนทรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการละครและดนตรี สำนักการสังคีต กรมศิลปากร กล่าวว่า ลักษณะของนาฏศิลป์แต่ละประเทศ แต่ละชาติมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่มองภาพรวมเราคงมองว่าเหมือนกัน คล้ายคลึงกัน แต่ถ้ามองลึกๆ แล้วไม่เหมือน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องต่างกาย ลีลาท่ารำ ผู้แสดง ดนตรีประกอบ ผู้รู้จะดูแล้วรู้เลยว่าต่างกัน

มีข้อสันนิษฐานว่ากระบวนท่ารำต่างๆ มีต้นเค้ามาจากศาสนา เช่น "การจีบ" ที่แทนลักษณะการจีบนิ้วของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า "วิตรรกะ มุทรา" อาจกล่าวได้ว่าท่าร่ายรำเป็นวัฒนธรรมร่วมของชนทุกชาติ ที่พุทธศาสนาเผยแพร่ไปถึง แล้วเกิดการสั่งสม แลกเปลี่ยนกับการแสดงของชนชาติใกล้เคียงทั้งมอญ ลาว พม่า มลายู และเขมร ซึ่งภายหลังแต่ละชาติก็ได้พัฒนาจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง

ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยาอาวุโส กล่าวว่า ท่าจีบเป็นรูปแบบที่ปรากฎในรูปแบบโบราณ รูปสลักหิน เป็นสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา แสดงสัญลักษณ์เทศนา ต่อมามีการปรุงแต่งเป็นท่าร่ายรำของราชสำนัก เป็นเรื่องของพิธีกรรมความเชื่อ ทุกแห่งที่มีศาสนานี้ได้รับการถ่ายทอดเหมือนกัน

ท่ารำแบบนาฏศิลป์ราชสำนักของกัมพูชาได้รับการขึ้นทะเบียนจาก UNESCO ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ขณะที่นาฏศิลป์ของไทย เช่น โขน ละครใน รำโนราห์และลิเก ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมตั้งแต่ปี 2552 แม้เป็นวัฒนธรรมร่วมที่ดูคล้ายคลึงกัน แต่อัตลักษณ์เฉพาะของนาฎศิลป์แต่ละชาติ ก็ถือเป็นเครื่องแสดงความหลากหลายของมรดกทางวัฒนธรรม อันเป็นสเน่ห์ของศิลปะแห่งเอเชียอาคเนย์
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง