ความรุนแรง ซ่อน-หา ‘โคราช’ ประเทศไทย ตอนที่ 2

Logo Thai PBS
ความรุนแรง ซ่อน-หา ‘โคราช’ ประเทศไทย ตอนที่ 2
หวังว่า "น้ำตาของ ผบ.ทบ." จะหมายถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น ผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย ผู้คนที่เป็นเหยื่อของอาวุธสงคราม ถ้าจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต มีวิธีเดียว "ต้องเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น” คุยกับ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิชาการด้านสันติวิธี

อะไรคือสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจปัญหานี้ และป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีก

คือผมกำลังจะบอกว่า ถ้าอคติเหล่านี้เป็นโรค ซึ่งก็ต้องพูดต่อไปว่า อคติหรือความรุนแรงขนาดนี้ โลกเขากำลังถือกันว่า มันเป็นปัญหาทางสาธารณสุข ความรุนแรงเป็นปัญหาทางสาธารณสุข ซึ่งเป็นมาหลายปีแล้ว WHO (World Health Organization) มีคำประกาศตั้งแต่ปี 2007 ในสหรัฐอเมริกาก็บอกว่า มันเป็นปัญหาสาธารณสุขมานานแล้ว
เพราะที่สหรัฐอเมริกามีคนที่ตายจากอัตวินิบาตกรรมหรือฆ่าตัวตาย และการฆาตรกรรมจำนวนมาก

ที่ผ่านมา ทางสาธารณสุขค้นพบว่า การจัดการกับโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ ไม่ใช่แค่ใช้ยา หรือการรักษาด้วยการฉายแสงหรือการผ่าตัด แต่ยังต้องปรับพฤติกรรมของคนด้วย ซึ่งต้องใช้ความรู้หลายอย่าง ทั้งใช้ความรู้ทางการแพทย์ ความรู้ทางจิตวิทยา ความรู้ทางเศรษฐกิจมาประกอบกัน

เมื่อเป็นความรู้ทางสาธารณสุข มันเกี่ยวกับคนเยอะ และสอง มันให้ความสำคัญกับเรื่องของการป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ทั้งสองเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญต่อการคิดถึงปัญหานี้ในเชิงปัญหาสาธารณสุข

เมืองหลวงของการฆาตรกรรมของโลก อาจจะบอกว่าคือเอลซาวาดอร์ เขามีคนที่ตายด้วยการฆาตรกรรม อยู่ที่ประมาณ 65 คนต่อประชากรแสนคน ที่ใกล้ตัวเราคืออย่างญี่ปุ่น 0.2 สิงคโปร์ 0.2 ก็จะมีตัวเลขแบบนี้ อินโดนีเซีย 0.4 ส่วนไทยในวันนี้ 3.2 ซึ่งเยอะเมื่อเทียบกันประเทศอื่น แต่เราเคยเยอะกว่านี้เมื่อปีค.ศ.1990 อยู่ที่ 10 แต่วันนี้ลงมาอยู่ที่ 3.2

อย่างที่พูดมาตั้งแต่ต้นว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมที่แปลกหน้ากับความรุนแรง มันมีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในที่ต่างๆ ดังนั้น ถ้ามองจากมุมของ Public Health หรือมองจากประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ก็มีเหตุให้ควรระวังว่า มันจะนำไปสู่อะไรอีกในอนาคต หมายความว่า เวลาเราพูดว่ามันเป็นปัญหาทางสาธารณสุข มันก็มีโรคของมันและต้องคิดเรื่องระบาดวิทยาด้วย

ดังนั้น คนในสังคมไทยที่ดูเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ โครงสร้างที่เกิดขึ้น คนจำนวนหนึ่งถูกกดทับ ถูกรังแก รู้สึกชีวิตไม่มีอะไรจะสูญเสียแล้ว ความรู้สึกพวกนี้มันก็มีอยู่ในตัวคนจำนวนมาก หมายความว่า เหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้นได้อีกเหมือนกัน 

ความรุนแรงในมิติของสาธารณสุข เป็นผลลัพท์ของความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่กดทับมาเป็นเวลานาน และไม่มีทางออก

ใช่ และยังมีเงื่อนไขอื่นประกอบอีก เช่น สมมติว่าคนนี้ไม่ได้เป็นทหาร ไม่ได้ถูกฝึกมา ไม่ได้มีปืนเอ็ม 60 หรือปืน HK ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็น่าจะน้อยกว่านี้ อันนี้ก็เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีอยู่

ความน่ากลัวเพิ่มขึ้น เมื่อมีอาวุธที่รุนแรงอยู่ใกล้ตัว

ใช่ ถ้าดูจากประสบการณ์ในต่างประเทศ พอเกิดเหตุแบบนี้ขึ้นสิ่งแรกที่เขาทำคือปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับอาวุธปืน

มองเหตุการณ์ที่ ผบ.ทบ.ออกมาแสดงความรับผิดชอบ หลั่งน้ำตา อย่างไร

ที่แม่ทัพออกมาก็น่าสนใจหลายเรื่อง ประเด็นที่เห็นร่วมกันก็คือ ปัญหาไม่ใช่แค่จะมองจากภายในกองทัพ แต่ต้องมองจากมุมของ Public ด้วย กองทัพในแง่หนึ่งก็เป็นองค์กร เป็นสถาบันสาธารณะซึ่งในที่สุดมีผลต่อผู้คนมากมาย ดังนั้นก็จะต้องมีการตรวจสอบพอสมควรในสิ่งเหล่านี้ ทั้งความไม่ชอบมาพากลในกองทัพ การไหลออกของอาวุธในกองทัพไปสู่ตลาดมืด ถ้ามี ก็เป็นเรื่องที่ทางกองทัพจะต้องเข้าไปดู

แต่ผมอยากจะพูดถึงปรากฏการณ์หนึ่ง วันที่ ผบ.ทบ.ออกมาพูด และน้ำตาท่านก็ไหลออกมา ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าสนใจ ผมไม่รู้จัก ผบ.ทบ. และก็ไม่เห็นด้วยกับอะไรหลายอย่างที่แกทำ แต่ผมมีความรู้สึกว่าวันที่แกแถลงแล้วน้ำตาไหล รู้สึกว่าอันนั้นของจริง

สำหรับมนุษย์เรา ผมมีความรู้สึกว่า ความสามารถที่จะเสียใจ เป็นเงื่อนไขสำคัญของความเป็นมนุษย์ ถ้าถึงจุดหนึ่ง เราหมดความสามารถที่จะเสียใจให้กับปรากฎการณ์ ให้กับโศนาฎกรรมที่มีอยู่ ผมว่ามันเป็นอันตรายมาก แต่ถ้าเรายังสามารถมีน้ำตาให้กับโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้นได้

ผมหวังว่า น้ำตาของท่านจะหมายถึง โศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ต่อสถาบันทหารในฐานะที่เป็นสถาบัน แต่หมายถึงผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย ผู้คนที่เป็นเหยื่อของอาวุธสงคราม ถ้ามันออกมาด้วยเหตุผลแบบนี้ หมายความว่าสังคมยังมีความหวัง

น้ำตาของแม่ทัพสำคัญกว่าของคนอื่นอย่างไร

น้ำตาของแม่ทัพไม่สำคัญกว่าน้ำตาของคนอื่น แต่ที่น่าสนใจคือ แม่ทัพหลั่งน้ำตาบนจอโทรทัศน์ แล้วน้ำตาของแม่ทัพก็ไปรวมกับน้ำตาของคนอื่นในประเทศนี้ มันหมายความว่า ในสังคมมีของที่แคร์ได้ เพราะสิ่งที่เล่ามาแต่ต้น มันเกิดขึ้นเพราะถึงจุดหนึ่งไม่มีอะไรอีกต่อไปที่ฉันจะแคร์ในสังคมนี้ ใครเป็นอะไรก็ช่างมัน ใครบาดเจ็บล้มตายก็ช่างมัน ใครสูญเสียอย่างไรก็ช่างมัน ไม่สนใจ

คำตอบที่ให้กับเรื่องเหล่านี้มีเยอะ มีคนอื่นมาตอบด้วย บอกว่าเราจะแก้ปัญหานี้ด้วยการเตรียมเงินชดเชยให้ คือเงินก็สำคัญ แต่เงินไปแทนที่ชีวิตที่หายไปไม่ได้ และมันแทนที่ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจของเราที่มีต่อคนร่วมชาติที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง อันนั้นมันทำไม่ได้

ดังนั้น เวลาคิดถึงสิ่งเหล่านี้ มันเลยกลายเป็นโอกาสที่เราจะคิดว่าในโศกนาฎกรรมที่อาจจะเกิดขึ้น ถ้าเรายังมีความสามารถที่จะเศร้าเสียใจได้ แปลว่าเราอาจจะมีอย่างอื่นด้วย เพราะสิ่งที่ตามมาคือความรู้สึกอาทรต่อคนที่ไม่เกี่ยวกับเรา ยุคสมัยนี้ การกดของโครงสร้างที่เกิดขึ้น การถืออำนาจบาดใหญ่ การรังแกกันโดยใช้อำนาจ การรวบอำนาจไว้แต่เพียงกลุ่มเดียวที่เดียว 

การบอกว่า ในยุคสมัยนี้ เรื่องอื่นไม่สำคัญแล้ว ที่สำคัญที่สุดต้องเป็นเรื่องระเบียบวินัย ทั้งหมดนี้กำลังพาสังคมไทยไปอีกที่หนึ่ง เหมือนกับกำลังจะบอกว่า สิ่งที่จำเป็นขณะนี้ที่ต้องมี คือความรู้สึกอาทรต่อคนที่อยู่ในสังคมดียวกัน ยุคสมัยนี้เป็นยุคของความไม่แน่นอนสูง ซึ่งความเสี่ยงก็สูงตามมา เมื่อความเสี่ยงสูง โอกาสที่คนนั้นจะโกรธ คนนี้จะแค้น คนนี้จะใช้ความรุนแรง ก็จะสูงตามไปด้วย ถ้าไม่มีอย่างอื่นมาคุ้มครอง ผมคิดว่าสังคมก็จะอยู่ลำบาก

ผมคิดว่า หยดน้ำตาไม่ใช่ของ ผบ.ทบ.คนเดียว แต่เป็นของผู้คนอีกจำนวนมากที่รู้สึกเสียใจจริงๆ ต่อเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วทำอะไรบางอย่างกับปัญหานี้บนฐานของความมีเมตตา

ผมคิดว่าอันนั้นคือเครื่องมือที่จะปกป้องคุ้มครองสังคมไทยในระยะยาว และจริงๆ ก็คุ้มครองโลกด้วย ความเมตตาเท่านั้นที่จะคุ้มครองโลก

นี่คือสิ่งที่บอกว่า เราจะอยู่กันอย่างไรต่อไป

ผมจะบอกว่าในยุคสมัยนี้ ถ้าเป็นยุคสมัยแห่งความโกรธ เป็นยุคสมัยของการเอาเปรียบจะผลิตความรุนแรงแบบนี้ให้มากขึ้น ถ้าเรายอมแพ้ต่อยุคสมัยพวกนี้ไปเรื่อย สิ่งที่จะตามมาก็คือ จะเกิดแบบนี้ไปเรื่อย และถ้าแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างวันนี้ ก็มีเงื่อนไขเยอะมาก เกี่ยวโยงหลายเรื่อง และแก้เฉพาะเรื่องหรือเฉพาะคนไม่ได้ คนที่โกรธแค้นก็จะมีอยู่เต็มไปหมด และในต่างประเทศก็ห้ามใช้ปืนก็เลยใช้มีดไล่แทงกัน มันก็เลยกลายเป็นปัญหาของยุคสมัยที่น่าสะพรึงกลัว

ผมคิดว่าทางออกของประเทศไทยหรือของโลกคือ ให้ความสำคัญกับคนอื่นว่าเขาเป็นมนุษย์เหมือนเรา มีความอาทรต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจเหตุปัจจัยที่ให้กำเนิดความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ เมื่อเป็นอย่างนั้น เราก็จะจริงใจกับสิ่งที่เราอยากจะทำ

น้ำตาของแม่ทัพจะเอาไปทำอะไรได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เขาเป็นอยู่

ผบ.ทบ.อยู่ภายใต้กติกากฎระเบียบก็จริง แต่ในภาวะที่ใกล้เกษียณ ก็มีหลายเรื่องที่เขาอาจจะทำได้ในฐานะปัจเจก เขาอาจจะต้องลุกขึ้นมาบอกว่า วันนี้สังคมไทยมีปัญหาอื่นที่สำคัญกว่ามาก งบประมาณที่จำเป็นคืออย่างอื่นนะ ไม่ใช่ของกองทัพอย่างเดียว อาวุธที่สำคัญอาจจะไม่ใช่อาวุธพวกนี้ แต่เป็นอาวุธแบบอื่นที่สังคมไทยต้องการ สิ่งที่สำคัญอาจจะไม่ใช่เรือดำน้ำ แต่คือเกราะที่ดีกว่านี้สำหรับคนที่ทำหน้าที่พิทักษ์คุ้มครองผู้คนในประเทศนี้

อารมณ์ของความเกลียด ความโกรธ จะยังส่งผลไปอีกนานแค่ไหน

เกรงว่ามันจะนาน เพราะอารมณ์นี้มันทับอยู่บนปัญหาทางโครงสร้าง ปัญหาทางวัฒนธรรม มันทับอยู่บนความคิดหลายอย่าง คือก็มีคนที่บอกว่าคนที่คิดไม่เหมือนกับเราเป็นผู้ร้าย ความเกลียดชังนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มันถูกผลิต ซึ่งยังมีอยู่ในสังคมไทยอีกมาก เลยยิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้โอกาสจากเรื่องนี้มาหาทางทำให้เห็นว่า ทุกคนมีสิทธิเป็นเหยื่อได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นมันต้องช่วยกันบ้าง ถ้าเป็นอย่างนั้น มันต้องอารีอารอบต่อกันบ้าง ต้องเอื้ออาทรต่อกัน เพราะในที่สุดแล้ว คำไทยคำหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราอยู่ด้วยกัน เราเป็นพลเมืองด้วยกัน

แต่อีกด้านหนึ่ง เราก็เป็นเพื่อนทุกข์ด้วยกัน แล้วการเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ถ้าสมมุติว่าเราเห็นและพอจะมีความอาทรอยู่บ้าง เราก็อาจจะลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่มันคงแก้ไม่ได้ เพราะหลายเรื่องมันเป็นโครงสร้าง ถ้ามีความอาทรอยู่บ้าง มันอาจจะฟื้นคืนบางส่วนในยุคสมัยของความเมตตาที่ค่อยๆ ลอยจากเราไป กลับมาได้

มีความเสี่ยงที่จะถูกมองว่า เข้าใจผู้ก่อเหตุ จะอธิบายเพื่อปกป้องตัวเองอย่างไร

ผมไม่ได้ปกป้องเขา แต่ปกป้องสังคม ซึ่งเพื่อจะเป็นอย่างนั้น ต้องเข้าใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น อย่างเราบอกว่าทั้งหมดเป็น Public Health หมายความว่า สิ่งแรกที่เขาต้องบอกให้ได้คือวินิจฉัยโรคนี้ว่ามาจากไหน ถ้าไม่มีความเข้าใจนั้น ก็จะปกป้องโรคนี้ไม่ได้ แล้วก็จะจัดการโรคนี้ไม่ได้

ไม่ได้บอกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นสิ่งที่ถูก ไม่ใช่เลย ไม่มีอะไรบอกว่าสิ่งที่เขาทำมันถูก มันผิดมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะคิดจากทางโลกหรือทางธรรม แต่ถ้าจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต มีวิธีเดียว ต้องเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นจึงผลิตปรากฎการณ์แบบนี้

คำถามต่อสังคมก็คือ สิ่งที่เราต้องการคืออะไร อยู่กับเหตุการณ์วันนี้แล้วแสร้งทำว่ามันจะไม่เกิดขึ้นอีก หรือตระหนักว่าเราอยู่ในยุคสมัยของความโกรธ เราอยู่ในยุคสมัยของความไม่แน่นอน และดังนั้น สิ่งที่จะต่อสู้กับภัยคุกคามต่อไปในอนาคต คือความเข้าใจว่าเหตุปัจจัยที่ก่อกำเนิดพวกนี้ มาจากไหน หน้าที่ของนักวิชาการคือทำเรื่องนี้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง