คมนาคมจ่อจำกัดเวลารถบรรทุกเข้า กทม. ถกเอกชนสร้างจุดจอด

สังคม
23 เม.ย. 63
08:20
1,183
Logo Thai PBS
คมนาคมจ่อจำกัดเวลารถบรรทุกเข้า กทม. ถกเอกชนสร้างจุดจอด
“คมนาคม” เร่งนโยบายจำกัดเวลารถบรรทุก ยึดโมเดลมหานคร “ปักกิ่ง-โตเกียว” แก้วิกฤตจราจร ด้าน รมว.คมนาคม สั่ง ทล. ลุยโปรเจ็กต์จุดจอดรถบรรทุก พร้อมถกร่วมเอกชนลงทุนเพิ่ม คาได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน

วันที่ 22 เม.ย.2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการแปรนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมไปสู่การปฏิบัติ ครั้งที่ 3/2563 พิจารณานโยบายเรื่องปรับเวลาการอนุญาตให้รถบรรทุก ขนาดตั้งแต่ 10 ล้อขึ้นไป เข้าเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล ได้ตั้งแต่เวลา 24.00-04.00 น. ว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรให้ประชาชนในเขต กทม. และปริมณฑล ทั้งนี้ การกำหนดเวลาให้รถขนาดใหญ่สามารถเข้ามาวิ่งในเขตเมืองได้นั้น ประสบความสำเร็จมาแล้วในมหานครต่าง ๆ ของโลก เช่น ปักกิ่ง โตเกียว

ตามที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 หรือการประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น และห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้าเขตเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว โดยจากการเก็บข้อมูลของกระทรวงคมนาคมว่า เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวในช่วงเวลาการประกาศเคอร์ฟิวแล้วนั้น มีผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งจากข้อมูลของผู้ประกอบการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ที่ต้องใช้รถบรรทุก แจ้งว่า การดำเนินการตามประกาศฯ นั้น ส่งผลให้มีต้นทุนในการดำเนินการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้น

สำหรับกำหนดแนวเขตที่จะนำมาใช้ห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้าเขต กทม.นั้น ตามที่การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2563 ที่ผ่านมานั้น จะใช้ถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก หมายเลข 9 ฝั่งตะวันออก-ตะวันตก มากำหนดแนวเขตการดำเนินการ แบ่งเป็น ถนนนอกเขตวงแหวนรอบนอก อนุญาตวิ่งได้ปกติ 24 ชม. ขณะที่บนถนนวงแหวนรอบนอก/ทางพิเศษ อนุญาต 14 ชม. (ตั้งแต่เวลา 00.00-6.00 น., 10.00-15.00 น., 21.00-24.00 น.) และถนนในเขตพื้นที่ชั้นในของวงแหวนรอบนอกฯ อนุญาต 4 ชม. (ตั้งแต่เวลา 00.00-04.00 น.)

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของผู้ที่ได้ผลกระทบ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. การบรรทุกสินค้าผัก ผลไม้ โดยแผนดำเนินการในระยะสั้น 1 ปีนั้น อนุญาตให้รถบรรทุกสามารถเข้ามาได้ถึงบริเวณตลาดไท 24 ชม. ด้านระยะกลาง 3 ปี จะต้องมีการปรับ Supply Chain (ส่วนใหญ่มาจากจีน) ให้สอดคล้องกับการขนส่งสินค้า 2.ตู้คอนเทนเนอร์ ระยะสั้น 1 ปี โดยในขั้นที่ 1 ผ่อนอนุญาตให้รถบรรทุกสินค้าที่เข้ามาส่งสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพ 24 ชั่วโมง ขั้นที่ 2 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ต้องบริหารจัดการกระบวนการในท่าเรือให้เร็วขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี IT NSW ขณะที่ ระยะยาว 5 ปีนั้น จะปิดบริการคอนเทนเนอร์ และเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ท่าเรือกรุงเทพเป็นเรื่องการท่องเที่ยว 3.วัสดุก่อสร้าง ระยะสั้น 1 ปี โดยในขั้นที่ 1 อนุญาตให้รถบรรทุกคอนกรีตผสมเสร็จ วิ่งได้ในช่วงเวลา 10.00-15.00 น. ขณะที่ รถบรรทุกวัสดุก่อสร้าง วิ่งได้ในช่วง 22.00-04.00 น. ขั้นที่ 2 ให้เจรจากับผู้ประกอบการคอนกรีตผสมเสร็จรายใหญ่ เพื่อย้ายมาอยู่ในไซด์งานก่อสร้าง สนับสนุนแนวทางการลดระยะทางในการขนส่ง ขณะที่ ระยะกลาง 3 ปี ให้เปลี่ยนรถขนส่งคอนกรีตขนาดใหญ่ มาใช้รถขนส่งขนาดเล็กและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสามารถวิ่งได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า จากการประชุมของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจและกำหนดแนวทางการรับฟังความเห็นของภาคเอกชนนั้น ได้กำหนดกรอบแนวทางในการรับฟังความคิดเห็นกับภาคเอกชน โดยมอบหมายให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ใช้เป็นแนวทางในการไปหารือ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกับภาคเอกชน ขณะเดียวกัน ในขณะนี้ กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างการพิจารณาใช้พื้นที่ของตนเอง ก่อสร้างจุดจอดรถบรรทุก จำนวน 7 แห่ง พร้อมทั้งไปหารือร่วมกับภาคเอกชน เพื่อบูรณาการร่วมลงทุน (PPP) ก่อสร้างจุดจอดรถบรรทุกเพิ่มเติมในบริเวณอื่นด้วย โดยให้พิจารณาการก่อสร้างจุดจอดฯ ให้สอดคล้องกับปริมาณรถบรรทุกที่จะเข้ามาใช้ คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการประมาณ 1 เดือนก่อนได้ข้อสรุป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับจำนวนรถบรรทุกทั้งหมด 362,398 คัน จากจำนวนรถบรรทุกที่จดทะเบียน 396,296 คัน ในส่วนความถี่ของการวิ่งของรถบรรทุกในพื้นที่ควบคุม โดยพบว่ารถทั้งหมดไม่ได้เข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ทุกวัน รถบรรทุกที่วิ่งในเวลา 04.00-24.00 น. ส่วนใหญ่มีการเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพียง 1-10 วัน ใน 1 เดือน และมีรถบรรทุกส่วนน้อยที่มีการขับขี่ในพื้นที่ควบคุมมากกว่า 20 คัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง